"กู๊ด ดอกเตอร์ฯ"  ผนึก "แกร็บฯ" ให้บริการแก่ผู้ป่วยโควิด ในโครงการ สปสช.

"กู๊ด ดอกเตอร์ฯ"  ผนึก "แกร็บฯ" ให้บริการแก่ผู้ป่วยโควิด ในโครงการ สปสช.

สปสช. อนุมัติคลินิกแพทย์ภายใต้การบริหารของ กู๊ด ดอกเตอร์ ดำเนินการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ  และไม่รุนแรง เพิ่มการเข้าถึงการปรึกษาแพทย์และยาให้แก่ผู้ป่วยที่กักตัวในระบบของ สปสช. อย่างทั่วถึง ผ่านการแพทย์ทางไกลและจัดส่งยาผ่านแกร็บประเทศไทย

บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (GDTT) บริษัทภายใต้เครือองค์กรเทคโนโลยีด้านสุขภาพชั้นนำระดับภูมิภาค ซึ่งยึดมั่นในวิสัยทัศน์การให้บริการที่ว่า “หนึ่งแพทย์ต่อหนึ่งครอบครัวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SEA” และแกร็บ ประเทศไทย ผสานพลัง 

ร่วมกันตอกย้ำความมุ่งมั่นในการให้บริการทางการแพทย์ และจัดส่งอาหารให้กับผู้ป่วยโควิด-19ที่ดูแลตนเองอยู่ที่บ้าน(Home Isolation)  บริษัท GDTT และ แกร็บ ประเทศไทย ตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากสมรรถนะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่มีอยู่ รวมถึงการบริการในแอปพลิเคชัน 

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางการแพทย์และอาหารสำหรับผู้ป่วยโควิด-19ที่ไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงกักตัว ด้วยความร่วมมือระหว่าง GDTT และแกร็บ ประเทศไทย ผู้ป่วยโควิด-19ที่ดูแลรักษาตัวอยู่ที่บ้านจะสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นจากระยะไกลได้ตลอดช่วงที่ทำการกักตัว 14 วัน ผู้ป่วยโควิด-19แต่ละรายจะสามารถขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ตลอดเวลาผ่านแอปงพพลิเคชัน Good Doctor

 และแลกรับรหัสบัตรกำนัล GrabFood มูลค่า 300 บาท เพื่อทำการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน Grab ได้ทุกวัน ทั้งนี้ สปสช. คือผู้สนับสนุนการบริการของ GDTT และแกร็บอย่างเป็นทางการ 

เมื่อไม่นานมานี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้การรับรอง GDTT ในฐานะผู้ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการและผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงระหว่างการกักตัวอยู่ที่บ้าน GDTT มีเป้าหมายที่จะขยายการบริการให้ครอบคลุม ทั้งในแง่ของการรักษาพยาบาลและการจัดส่งยาให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ 

ผ่านการบริการในการดูแลรักษาจากระยะไกลที่พร้อมสอดรับต่อความต้องการของผู้ป่วยในทุกสถานการณ์ด้วยแอปพลิเคชันด้านสุขภาพแบบดิจิทัลบนมือถือ การดำเนินการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดย สปสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองอย่างทั่วถึงทั่วประเทศภายใต้การบริหารของกระทรวงสาธารณสุข และรับมือกับปัญหาการขาดแคลนเตียงในโรงพยาบาลและปัญหาของผู้ป่วยจำนวนมากที่เดินทางมาขอรับบริการตามสถานบริการสุขภาพ 

ทั้งนี้แพทย์ทางไกลจะช่วยลดภาระด้านทรัพยากรการดูแลสุขภาพที่เกินกำลังในช่วงโควิด-19 ในขณะที่ราชอาณาจักรไทยยังคงต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 GDTT ตระหนักถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการผลักดันโครงการระดับชาติ ด้วยการให้บริการดูแลผู้ป่วยโดยใช้ประโยชน์จากสมรรถนะของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพที่พัฒนาต่อยอดจากเครื่องมือทางดิจิทัลที่มีอยู่ เพื่อเอื้อให้ผู้ป่วยที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามต้องการ

GDTT วางเป้าหมายที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นใจว่า ทุกครอบครัวในประเทศไทยจะสามารถเข้าถึงแพทย์ประจำครอบครัวและสนับสนุนการนำบริการสุขภาพทางไกลมาใช้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ แอปพลิเคชัน Good Doctor ได้พัฒนาขึ้นเพื่อเสริมความเข้าใจให้ผู้ใช้ด้วยข้อมูลด้านสุขภาพที่มีความน่าเชื่อถือและสอดคล้องกับบริบทของของผู้ใช้ชาวไทย แอปพลิเคชัน Good Doctor ให้บริการการแพทย์ทางไกล อีกทั้งยังมอบส่วนลดพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม รวมถึงมีคลังความรู้ รวบรวมบทความด้านสุขภาพซึ่งเป็นข้อมูลและข้อคิดเห็นจากทีมแพทย์ประจำของทางบริษัทโดยตรง แอปพลิเคชัน Good Doctor ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีล้ำสมัย

 

ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้สำเร็จ เช่น อินโดนีเซีย และจีน ด้วยการให้การบริการทางคลีนิคแบบอัตโนมัติ  ผู้ป่วยจะสามารถเชื่อมต่อเพื่อพูดคุยกับแพทย์แบบเรียลไทม์ได้ภายใน 60 วินาทีโดยไม่ต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า รวมถึงจะได้รับการวินิจฉัยและได้รับแผนการรักษาภายใน 15 นาที 

นพ. สุทธิชัย โชคกิจชัย หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ บริษัท กู๊ด ดอกเตอร์ เทคโนโลยี ประเทศไทย อธิบายว่า “ด้วยการแพทย์และการดูแลแบบทางไกลนี้ เราจะสามารถให้การดูแลแก่ผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้านได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที โดยเราจะเน้นให้ผู้ป่วยสามารถจัดการอาการและสุขภาพของตนให้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาเช่นนี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือกับอาการที่พบได้อย่างเหมาะสม สุดท้ายแล้ว เราหวังเป็นอย่างมากว่า เราจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง และป้องกันไม่ให้พวกเขามีอาการที่อยู่ในระดับวิกฤตให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้การเพิ่มบริการการแพทย์ทางไกลในประไทยจะเปิดโอกาสให้เรายกระดับการจัดการบริการในระดับปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว” 

ด้วยโครงการที่ทางสถานพยาบาลเอกชนสามารถขอเบิกค่าใช้จ่ายจากกระทรวงสาธารณสุขได้ GDTT จะช่วยดูแลผู้ป่วยโดยแบ่งออกเป็นสองลักษณะ ดังนี้ 

●   การทดสอบผ่าน ATK (ชุดทดสอบแอนติเจน) เพื่อเพิ่มและรองรับวิธีการตรวจหาเชื้อแทนการตรวจแบบ RT-PCR และจัดการความเสี่ยงด้วยการทดสอบหาเชื้อที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และ 

●   การดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน เพื่อรองรับความต้องการในการดูแลรักษาเบื้องต้นของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 และรักษาผู้ป่วยตามอาการ 

ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ โดยแพทย์อาจสั่งชุดทดสอบแอนติเจนให้หากจำเป็น ในกรณีที่ได้ผลลัพธ์เป็นลบ แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนในการตรวจสอบสัญญาณชีพของตนตามสมควร ส่วนในกรณีที่ผลลัพธ์เป็นบวก ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการดูแลเบื้องต้นของ GDTT ผู้ป่วยที่ต้องการการกักตัวอยู่บ้านจะต้องลงทะเบียนตนเองกับ สปสช. ก่อนเริ่มกักตัว จากนั้นผู้ป่วยจะสามารถขอรับบริการด้านสุขภาพเพิ่มเติม การจัดส่งยา และการขอรับคำปรึกษา รวมถึงการติดตามผลทางไกลเป็นประจำกับทีมแพทย์ของ GDTT 

นอกเหนือจากการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์แบบทางไกลแล้ว GDTT ยังให้บริการดูแลผู้ป่วยตามอาการ ด้วยการนำส่งยาตลอดระยะเวลา 14 วัน ที่ดูแลรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งรวมถึงการปรึกษาแพทย์อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การจัดส่งยาตามแพทย์สั่ง รวมถึงยารักษาการติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุดทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

 

ด้าน เมลวิน หวู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระดับภูมิภาคของ กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี กล่าวเสริมว่า การให้บริการอย่างครอบคลุมตามความต้องการของผู้ป่วยคือปัจจัยสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง เพื่อประเมินประสิทธิผลของบริการการแพทย์ทางไกลของเราในการช่วยดูแลผู้ป่วยที่ทำการรักษาตัวอยู่ที่บ้านตามมาตรการของ สปสช. ด้วยรูปแบบการให้บริการจากระยะไกลที่ไม่เหมือนใครของเรา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเชื่อมต่อกับแพทย์ได้ทันที เราพร้อมรองรับและให้บริการผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และพวกเขาจะสามารถติดต่อกับแพทย์ในพื้นที่ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสตลอดช่วงระยะเวลาของการกักตัวที่บ้าน 14 วัน นอกจากนั้น เรายังมีเครือข่ายร้านเภสัชภัณฑ์และบริการขนส่งที่แข็งแกร่งและครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ เราจึงสามารถรองรับเคสผู้ป่วยได้มากขึ้น และให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างง่ายดาย ต้องขอบคุณโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริการสุขภาพในรูปแบบดิจิทัลของเรา” 

 

ทั้งนี้ นาย อเลฮานโดร โอโซริโอ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “แกร็บยังคงเดินหน้าสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านบริการต่าง ๆ ของแกร็บอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือกับ Good Doctor Technology ประเทศไทย และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในครั้งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทำการรักษาตัวอยู่ที่บ้านให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างสะดวกและทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น โดยแกร็บได้จัดให้มีบริการ GrabExpress ในการส่งมอบยารักษาโรค อุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วย รวมถึงบริการส่งอาหารให้แก่ผู้ป่วยผ่านบริการ GrabFood โดยคำนึงถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยอย่างเข้มงวด มีการส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์คนขับปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยต่าง ๆ ตามแนวทางหรือข้อกำหนดของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด อาทิ การใช้มาตรการจัดส่งอาหารและยารักษาโรคแบบไร้สัมผัส สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ แกร็บ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการกระจายความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 และขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนให้สามารถฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน”

 

บริการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 สำหรับผู้ป่วยที่ได้ลงทะเบียนกับทาง สปสช. เพื่อขอรับการดูแลผ่านบริการของ GDTT แล้ว พวกเขาจะได้รับการติดต่อจากฝ่ายแพทย์ ผ่านทางบัญชีทางการของ GDTT บนแอปพลิเคชัน LINE (@gdtt) หรือทางโทรศัพท์เพื่อเริ่มรับบริการทางการแพทย์แบบดิจิทัล โดยผู้ป่วยภายใต้โครงการ สปสช. ยังสามารถใช้โค้ดจากบัตรกำนัลในการสั่งอาหารผ่านบริการ GrabFood บนแอปพลิเคชัน Grab ตลอดช่วงของการกักตัว 14 วัน