เปิด '10 ข่าวปลอม' ที่ถูกแชร์ซ้ำ บ่อยสุด ปี 64 พุ่งเป้า 'เศรษฐกิจ'

เปิด '10 ข่าวปลอม' ที่ถูกแชร์ซ้ำ บ่อยสุด ปี 64 พุ่งเป้า 'เศรษฐกิจ'

“ทศพล เพ็งส้ม” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดสถิติ 10 อันดับข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน ที่มีการแชร์วนซ้ำบ่อยสุดปี 64 พุ่งเป้าเศรษฐกิจ ใช้ปัญหาปากท้องลวงให้ประชาชนหลงเชื่อ

นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (9 ก.ค. 64) ได้รับมอบหมายจากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานเปิดงานกิจกรรม "สร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม" จังหวัดขอนแก่น จัดโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากคณะผู้บริหารส่วนราชการต่างๆ เครือข่ายภาคประชาชนและภาคเอกชน ตัวแทนจากบุคลากรทางการแพทย์และการศึกษา ตลอดจนสื่อมวลชน

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างผลกระทบกับสาธารณชนในวงกว้าง และตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้ให้ทุกกระทรวงเตรียมดำเนินการเรื่องศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาจทำในรูปแบบของกระบวนการทำงานที่สนับสนุนการดำเนินการต่อต้านข่าวปลอม และให้โฆษกกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงให้ข้อเท็จจริงกับสังคมและประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และจังหวัดทุกจังหวัดอาจต้องเตรียมพร้อมในการจัดให้มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจังหวัด เพื่อตรวจสอบข่าวปลอม บิดเบือนที่เกี่ยวข้องและจะต้องมีการชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ


นายทศพล กล่าวว่า สำหรับช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่าข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนที่มีการแชร์วนซ้ำบ่อยที่สุดในรวม 10 ลำดับในรอบปี 2564 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้เผยแพร่เรียบร้อยแล้วในช่องทางเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ และ Line Official จะพบว่า ส่วนมากเป็นข่าวเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง การเงิน รายได้การกู้หนี้ อาจจะเป็นตัวบ่งช้สำคัญในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทย ตัวอย่างข่าวปลอม 1. เรื่อง คลินิกแก้หนี้ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน กรุงไทย และ ธ.ก.ส 2. เรื่อง ธ. ออมสิน เพิ่มช่องทางซื้อสลากออมสิน ที่เพจขายหวยออนไลน์ 3. เรื่อง ธนาคารออมสินให้กู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท ผ่านมือถือและผ่อน 400 บาทต่อเดือน 4. เรื่อง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่วัดสังฆทาน จำนวน 300 ราย

5. เรื่อง ธนาคารออมสินเปิดลงทะเบียนปล่อยสินเชื่อเสริมพลังฐานรากรอบใหม่ ไม่ต้องมีคนค้ำ 6. เรื่อง ธนาคารออมสิน เตรียมเปิดให้กู้สินเชื่อเสริมพลังฐานราก รอบ 2 วงเงินทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท และเป็นลักษณะข่าวบิดเบือน 7. เรื่อง ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อเงินด่วน 50,000-100,000 ผ่อนชำระ 9 ปี ไม่ต้องมีคนค้ำ 8. เรื่อง ธ. ออมสิน เปิดให้ลงทะเบียน เข้าร่วมสินเชื่อธนาคารประชาชน 9. เรื่อง ภาพที่กล่าวถึงแอปฯ หมอชนะขอเข้าถึงประวัติการใช้งาน ไมค์ และข้อมูลต่อไวไฟ และ 10. เรื่อง เปิดให้ขอสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ผ่านแอปฯ MyMo

“ทุกวันนี้จะเห็นว่าข่าวปลอมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอกนั้น รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการข่าวปลอม เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน และประชาชนจะต้องได้รับรู้ถึงข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม ในการแชร์ต่อข่าวปลอมทางโซเชียล อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ได้ และการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเป็นอีกหนึ่งมิติที่กระทรวงฯ บูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” นายทศพลกล่าว


นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงฯ ได้ดำเนินการจัดการข่าวปลอมในภาพรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 25 ม.ค.63 -30 มิ.ย. 64 มีจำนวนข้อความที่ถูกคัดกรองทั้งหมดกว่า 83 ล้านข้อความ พบว่าเข้าหลักเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 7,307 ข้อความ เป็นข่าวประสานให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบจำนวน 3,583 เรื่อง

โดยมีผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนในหมวดสุขภาพ ยังครองอันดับ 1 จำนวน 2,373 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 66 ตามมาด้วย หมวดนโยบายรัฐ 1,086 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 30 และหมวดเศรษฐกิจ 124 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 4 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีการจัดทำคู่มือการแจ้งข่าวปลอมสำหรับประชาชน และมีเนื้อหารู้เท่าทันข่าวปลอมเพื่อแจกจ่ายเผยแพร่ให้กับประชาชน และทุกภาคส่วนที่สนใจ เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดการรู้เท่าทันข่าวลวงบนโลกออนไลน์ โดยแนะนำมีวิธีตรวจสอบข่าวปลอม ได้แก่ ให้อ่านข่าวทั้งหมดโดยยังไม่เชื่อพาดหัวข่าวเพียงอย่างเดียว ควรตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์ที่นำมาเผยแพร่และตรวจสอบแหล่งที่มา ตัวตนของผู้เขียน ดูความผิดปกติของตัวสะกด ภาษาที่ใช้ หรือการเรียบเรียง พิจารณาภาพประกอบข่าว วันที่เผยแพร่ข่าว แหล่งของข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาใช้ หรือหาข้อมูลเปรียบเทียบกับเว็บไซต์อื่น เป็นต้น