ลดช่องว่าง 'ทักษะดิจิทัล' ภารกิจ 'ฝ่าวิกฤติ' ฉบับเร่งด่วน

ลดช่องว่าง 'ทักษะดิจิทัล' ภารกิจ 'ฝ่าวิกฤติ' ฉบับเร่งด่วน

การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาช่องว่างที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและเท่าเทียม

อย่างไรก็ดี แม้วิธีการที่ใช้ช่วยเหลือประชาชนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ จำเป็นต้องทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนามี “ทักษะทางด้านดิจิทัล เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ บทบาทหน้าที่ ความรู้ความสามารถ และการทำงานของพนักงานมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ประเทศต่างๆ ฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก

ขณะเดียวกัน สามารถมองหาหนทางใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจำเป็นต้องจัดการฝึกอบรมด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างทักษะให้แก่ผู้เรียนแล้ว ยังจะช่วยขยายโอกาสให้กับทุกคนในยุคดิจิทัล

รายงานเกี่ยวกับ “อนาคตของการทำงาน”(Future of Jobs)” ในปี 2563 โดยสภาเศรษฐกิจโลกพบว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดคือ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมซึ่งนับเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่

รายงานประเมินด้วยว่า ภายในปี 2568 อาจมีการยกเลิกตำแหน่งงานราว 85 ล้านตำแหน่ง และอาจมีตำแหน่งงานใหม่สำหรับบทบาทหน้าที่ใหม่เกิดขึ้นราว 97 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ เครื่องจักร และอัลกอริธึม

เตรียมพร้อมสู่ ‘โลกเทคโนโลยี’

ดังนั้น แรงงานไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการทำงานในอนาคต สอดคล้องกับรายการเรื่องทักษะดิจิทัลจากเวิล์ดอีโคโนมิคฟอรัมในปี 2563 ชี้ว่ามีเพียง 54.9% ของแรงงานไทยที่มีองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัล และจุดอ่อนคือ “ความไม่พร้อมในการปรับตัวสู่โลกเทคโนโลยีในอนาคต การเทรนนิ่ง การศึกษา และทัศนคติต่อการทำงานในอนาคตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องส่งเสริมอย่างมาก

โรซี่ คาห์นนา ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมประจำภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และแปซิฟิกของ ไอเอฟซี  กล่าวว่า การแพร่ระบาดนับเป็นความท้าทายระดับโลกที่ต้องอาศัยการสร้างสรรค์นวัตกรรม และความมุ่งมั่นทุ่มเทของทุกภาคส่วนเพื่อที่จะเอาชนะวิกฤติในครั้งนี้

“ขณะที่เราต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ เราจำเป็นต้องมองหาหนทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่เหมาะกับท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อขจัดปัญหาความยากจน และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน”

ด้วยปัจจัยเหล่านี้การแก้ไข ปัญหาช่องว่างด้านทักษะดิจิทัล ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาโดยการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำด้านเทคโนโลยีในอนาคต จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างโลกแห่งอนาคตที่สดใส ยั่งยืน และมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่ทุกคน