"MoreMeat" รับเทรนด์สุขภาพ เปิดตำรับ ‘เนื้อจากโปรตีนพืช’

"MoreMeat" รับเทรนด์สุขภาพ เปิดตำรับ ‘เนื้อจากโปรตีนพืช’

คะแนนการทำsensory test สูงถึง80%จากการชิมของอาสาสมัครที่“แยกไม่ออก”ระหว่างหมูสับจริงๆกับหมูสับจากพืช ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทย “More Meat" ไม่รีรอที่จะเดินหน้าเปิดเกมรุกส่งนวัตกรรมนี้แชร์ส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

“เราไม่หวังให้คนไทยเลิกกินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องการเข้ามาแทนที่เนื้อสัตว์ 100% เพียงแต่ต้องการเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้ผู้บริโภคลดรับประทานเนื้อสัตว์อย่างน้อยอาทิตย์ละมื้อเพื่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ” วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ CMO & Co-Founder มอร์มีท กล่าว

รับเทรนด์สุขภาพมาแรง

เทรนด์การรับประทาน “เนื้อสัตว์จากพืช” (Plant Based) ในไทยอาจจะเพิ่งเริ่มในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ได้รับการตอบรับค่อนข้างดีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและทารุณกรรมสัตว์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต” สู่ “อาหารจานพิเศษ” ประมาณปี 2561


160371409627


เมื่อวรกันต์นำเข้า “ผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบส” (Plant Based) หรือแหล่งโปรตีนจากพืช เข้ามาเปิดตลาดในไทย แต่กลับพบฟีดแบคในเรื่องโซเดียมค่อนข้างสูง เมื่อนำไปประกอบอาหารไทยทำให้รสชาติไม่กลมกล่อม ทั้งยังมีการแต่งกลิ่นเนื้อเทียมและกลิ่นเครื่องเทศที่ฉุนจนเกินไป จึงมีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง

“ทีมงานได้วิจัยคิดค้นสูตรมากกว่า 20 สูตร สุดท้ายจึงได้ตกตะกอนสูตรที่ลงตัว โดยใช้ส่วนประกอบหลักจากพืช เช่น โปรตีนถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันคาโนล่า แป้งสาลีเพียง 2% และพระเอกสำคัญคือ “เห็ดแครง” ของดีจาก จ.สงขลา จากนั้นจึงเริ่มสร้างฐานการผลิต พร้อมกับเข้าร่วมโครงการ Space-F กับทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ ซึ่งก็ได้ความรู้มาพัฒนาสูตรให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในไทยมากยิ่งขึ้น” วรกันต์ กล่าว

“เห็ดแครง”วัตถุดิบแห่งความลับ

แต่กว่าจะลงตัวที่ “เห็ดแครง” มีการทดลองใช้เห็ดและพืชหลายชนิด แต่พบว่าเนื้อสัมผัสยังไม่ให้ความเป็นเนื้อมากพอ มีกลิ่นของเห็ดมากจนเกินไป จนมาลงตัวที่เห็ดแครงซึ่งมีความพิเศษ คือ ให้ความชุ่มชื้นและมีความหนึบเหมือนกำลังเคี้ยวเนื้อสัตว์

160371417039


เคล็ดลับอีกอย่างที่ทำให้ More Meat โดดเด่นคือ การผสม “บรีทรูท” ซึ่งช่วยให้มีสีคล้ายชมพูอมแดงของเนื้อมากที่สุด รวมไปถึงการผสมโปรตีนจากถั่วเหลือง ทำให้เนื้อจากพืชแตกต่างจากโปรตีนเกษตร อีกทั้งไม่ปรุงรส ไม่แต่งกลิ่น มีโซเดียมต่ำเพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพเป็นหลัก

“มอร์มีทมีเนื้อสัมผัสคล้ายกับหมูสับ และด้วยความที่เนื้อหมูเป็นสิ่งที่คนเอเชียบริโภคมากที่สุด จึงสามารถนำมอร์มีทไปประกอบอาหารได้อย่างคุ้นมือ ทำให้มีผลตอบรับดีมากโดยลูกค้าส่วนใหญ่นำไปปั้นก้อนทำสุกี้ ชาบู ไส้ซาลาเปาและเมนูผัดต่างๆ”

วรกันต์ มองแนวโน้มการเติบโตของตลาดเนื้อจากพืช ว่า เทรนด์การบริโภค Plant-Based ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไทยเองเริ่มมานานแล้ว จะเห็นได้จาก “เทศกาลกินเจ” ที่ดันยอดขายของมอร์มีทเพิ่มขึ้น 30% จากกำลังการผลิตปกติ 200 กิโลกรัมต่อวัน อีกทั้งกระแสดังจากแบรนด์ Beyond Burger เริ่มเข้าตลาด ทำให้เนื้อจากพืชเป็นที่รู้จักมากขึ้น

160371419350


เทศกาลกินเจดันยอดโต
 

สถานการณ์ตลาดอาหาร Plant-Based ทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็วกว่า 18% ก่อนหน้านี้มีเพียง 3 แบรนด์หลัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจประกอบธุรกิจนี้มากขึ้นและมีแบรนด์เพิ่มขึ้นทุกไตรมาส ส่วนประเทศไทยและในแถบเอเชียยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีการเติบโตประมาณ 6% แต่ช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมาได้กระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น และคาดว่าปีหน้าจะมีผู้เล่นเข้าสู่ตลาดนี้มากขึ้น รวมถึงธุรกิจฟู้ดรายใหญ่ใหญ่ในตลาดที่ต้องการขยายไลน์การผลิต ก็หันมาให้ความสนใจในเรื่องของแพลนต์เบส

“ราคาทั่วไปของเนื้อจากพืช 220-260 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าเนื้อจริงเกือบเท่าตัว แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะกลุ่มเป้าหมายยอมจ่ายและมีกำลังซื้อ ส่วนของมอร์มีทขนาด 200 กรัม ราคาจะอยู่ที่ 89 บาท ซึ่งเป็นในส่วนของตลาดรีเทล ส่วนของร้านอาหาร หรือ B2B ราคาจะแตกต่างกันออกไป”

ด้วยราคาสูงกว่าเนื้อจริงเกือบเท่าตัว ดังนั้น กลยุทธ์ทางการตลาดจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดย 70% ของมอร์มีทคือการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างการรับรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างมายด์เซ็ตใหม่ให้กับผู้บริโภคทั้งที่เป็นผู้กินมังสวิรัติและผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ

พันธกิจแห่งความยั่งยืน

วรกันต์วางพันธกิจของมอร์มีทให้อยู่บนพื้นฐานความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 3P คือ People-Planet-Profit หรือการให้ความสำคัญกับการมองคุณค่าและประเมินความสำเร็จองค์กรอย่างสมดุลทั้ง 3 ด้าน กล่าวคือ ด้านเศรษฐกิจ (การทำให้ธุรกิจเติบโต) ด้านสังคม (การเกื้อกูลต่อสังคมรอบข้าง) และด้านสิ่งแวดล้อม (การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม) รวมถึงดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

ยกตัวอย่างเช่น มอร์มีทมีส่วนร่วมสนับสนุนองค์กร SOS ที่รับบริจาคอาหารเพื่อส่งต่อให้ชุมชนที่ขาดโอกาสหรือไม่สามารถเข้าถึงอาหาร ไม่ทำให้อาหารกลายเป็นขยะไปอย่างสูญเปล่า โดยส่งมอบโปรตีนจากพืชกว่า 30-40 กิโลกรัมในทุกเดือน

ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร จ.สงขลา เพาะเลี้ยงเห็ดแครงในโรงเรือนมาตรฐานแล้วรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัยในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการขยายสเกลการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม

160371421825


“เราจะเป็นทางเลือกให้ลูกค้าเห็นภาพโปรตีนจากพืชมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนมายด์เซ็ตไปเรื่อยๆ ว่าปัจจุบันโปรตีนไม่ได้มีแค่ เนื้อ นม ไข่ แต่ยังมีพืชที่เป็นโปรตีนได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการสื่อสาร เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจยิ่งขึ้นว่า Plant-Based ช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้มากกว่าการทำปศุสัตว์ ไม่ว่าในแง่ของการปลูก การใช้พื้นที่ หรือแม้กระทั่งการขนส่ง” วรกันต์ กล่าว

ส่วนอนาคตของมอร์มีทจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น มีโภชนาการมากขึ้น เช่น มีสารอาหารหรือมีความเป็นฟังก์ชั่นนอลฟู้ดมากขึ้น เพื่อให้แบรนด์ตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพอย่างแท้จริง