เขย่าเทรนด์ ‘ฟินเทค’ โจทย์ใหม่โลกการเงิน

เขย่าเทรนด์ ‘ฟินเทค’ โจทย์ใหม่โลกการเงิน

อุตสาหกรรมบริการทางการเงินรวมทั้งฟินเทคต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะพัฒนา “ทุกอย่างที่จะช่วยนำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาด”

ยิ่งนานวันการมาของ “ฟินเทค” จุดชนวนให้ธุรกิจการเงินต้องเร่งปรับโฉม รับมือการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันค่อยๆ ซึมลึกลงไปในหลายๆ บริการ เปิดทางให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีโอกาสแจ้งเกิดด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ๆ

ในงาน “Fintech Dynamics in Asia ” ซึ่งจัดโดยบริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) สมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย และบริษัทวิจัยไอดีซี เมื่อไม่นานมานี้ ได้กล่าวถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ รายงาน “ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์”ฉบับล่าสุด โดยคาดการณ์ว่า การวิเคราะห์พฤติกรรมด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การทุจริต การป้องกัน การตรวจจับทางไซเบอร์ จะถูกใช้โดย 15% ของธนาคารทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับและบทลงโทษ 

สำหรับกลยุทธ์ปี 2560 เริ่มได้เห็นความพยายามที่จะสนับสนุนการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าโดยการแชท (live chat) ประมาณ 20% ของธนาคารเริ่มจัดทำโครงการทดสอบความเป็นไปได้ (Proof-of-Concept) ที่จะรวมทุกการสนทนาและการเชื่อมต่อต่างๆ ในรูปแบบการเข้าถึงลูกค้าจากทุกช่องทาง (omni-channel) ขณะเดียวกันเทคโนโลยีแบบค็อกนิทิฟกำลังถูกนำมาใช้ราว 15% ของธนาคาร โดยจะนำเสนอ “Voice banking” บนอุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ลูกค้า

ขณะที่ปี 2561 การจ่ายเงินด้วยมือถือโดยเทคโนโลยีเอ็นเอฟซีจะเพิ่มขึ้นถึง 15% ทั่วโลก อีกด้านทุกๆ การบริหารความมั่งคั่งและบริษัทตลาดทุนจะสร้างหรือให้สิทธิใช้แพลตฟอร์มหุ่นยนต์ที่ปรึกษา (Robo-Advisor Platform) หรือใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ในการจัดการเงินทุน 

ปี 2562 การพัฒนาคลาวด์จะช่วยลดการใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานถึง 25% ของธนาคารชั้นนำ ประกันภัยที่ขึ้นอยู่กับการใช้จริง (UBI) จะถูกสร้างขึ้น โดยไอโอทีถูกนำมาใช้อย่างน้อย 15% ในตลาดประกันรถยนต์ทั่วโลก และ 10% ในตลาดประกันที่อยู่อาศัยทั่วโลก

นอกจากนี้ ปี 2563 เทคโนโลยีที่สร้างตลาดใหม่และสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีแบบค็อกนิทิฟ ระบบอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์ และบล็อกเชนจะถูกนำมาใช้ถึง 50% ของธนาคารทั่วโลก การลงทุนในแพลตฟอร์มที่ 3 (Third Platform) การค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ จะเติบโตขึ้นถึงสองเท่าของอัตราการใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันที่ให้บริการทางการเงิน (FSIs) 

ปีเดียวกันดังกล่าว การใช้จ่ายเพื่อเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลกจะมีมูลสูงกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ และอีกเทรนด์ที่น่าสนใจเทคโนโลยีบล็อกเชนและที่เกี่ยวข้องจะถูกพัฒนาถึง 20% ของการทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้าทั่วโลก

ดึงไอทีเพิ่มความสำเร็จ

ปัจจุบันอุตสาหกรรมบริการทางการเงินรวมทั้งฟินเทคต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะพัฒนา “ทุกอย่างที่จะช่วยนำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาด” จากโครงสร้างพื้นฐาน ไปสู่การประมวลผล การพัฒนาแอพพลิเคชั่น กระบวนการทำงานที่เข้าถึงง่ายและสะดวก ตลอดจนความสามารถในการทำงานของแอพพลิเคชั่น ต้องประเมินว่าเทคโนโลยีอะไรที่จะนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีในอนาคต

ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าฟินเทคนั้นสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดีกว่ารูปแบบดังเดิม ส่วนเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ประกอบด้วย ปัญญาประดิษฐ์, การเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร, วิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์ขั้นสูง, และบริการคลาวด์

ด้านความท้าทายที่เป็นตัวชี้วัดว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวประกอบด้วย 3 ยู คือ 1.ความมีประโยชน์(Utility) 2.ความง่ายในการใช้ (Usability) และ 3.ความสะดวกในการเข้าถึงบริการ(Ubiquity)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธุรกิจมองหาคือ ความสามารถในการขยายและต่อเติมโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กลยุทธ์เพื่อความปลอดภัยแบบเชิงรุก การทำโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัยโดยการใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง มาตรฐานที่สูงขึ้นสำหรับด้านความเสถียรและความน่าเชื่อถือของศูนย์ข้อมูล รวมไปถึง วิธีการใหม่ๆ ในการกำกับดูแลรักษาความปลอดภัยข้อมูล