‘คุมสิ่งของด้วยจิต’ ด้วยชิป ‘Neuralink’ หลังคืบหน้าฝังชิปในสมองมนุษย์คนแรก

‘คุมสิ่งของด้วยจิต’ ด้วยชิป ‘Neuralink’ หลังคืบหน้าฝังชิปในสมองมนุษย์คนแรก

โลกแห่งโทรจิตใกล้เกิดขึ้น เมื่อชิป “Neuralink” กำลังจะเป็น “ตัวเชื่อมสัญญาณประสาท” จากสมองให้สามารถสั่งการเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องขยับร่างกาย จนกลายเป็นความหวังของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ และโรคระบบประสาทต่าง ๆ

Key Points

  • ผู้ป่วยมนุษย์ “รายแรกของโลก” ได้รับการปลูกถ่ายชิปสมองด้วยเทคโนโลยี Neuralink เมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค. 2567) ที่ผ่านมา และกำลังฟื้นตัวได้ดี
  • Neuralink เป็นความคาดหวังของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงผู้ป่วยที่สูญเสียการควบคุมร่างกาย ที่ช่วยแปลงความคิดจากสมองให้สั่งงานเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แทนการใช้มือและเท้าได้
  • ส่วนตัวแบตเตอรี่ของชิป Neuralink สามารถอยู่ได้นาน 2-3 ชั่วโมง และชาร์จพลังงานไร้สายในเวลา 2-3 ชั่วโมงผ่านที่ชาร์จรูปทรงหมวกแก๊ปเบสบอล


โลกทุกวันนี้วิ่งเร็วกว่าที่คิดมาก ลองนึกภาพการพิมพ์งาน ที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวมือ เพียงใช้ “ความคิด” ก็สามารถสั่งคอมพิวเตอร์ให้ขึ้นอักษรตามใจเราได้ ไม่เว้นแม้แต่การสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเล่นเกม ก็สามารถใช้ความคิดสั่งการ โดยไม่ต้องจับจอยสติ๊กแต่อย่างใด

นี่คือความสามารถอันน่าทึ่งของ “Neuralink” บริษัทสตาร์ทอัพสหรัฐที่ผลิตอุปกรณ์ฝังชิปในสมองซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา โดยทุกครั้งที่มนุษย์นึกคิด จะเกิดสัญญาณประสาทจากสมองชิปNeuralink ก็จะเชื่อมสัญญาณดังกล่าว และแปลงต่อเพื่อสั่งงานเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรืออาจเรียกได้ว่า ตัวชิปได้เชื่อมสัญญาณประสาทจาก “สมอง” กับ “เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์” เข้าด้วยกัน จนทำให้ “การควบคุมสิ่งของด้วยจิต” เข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

‘คุมสิ่งของด้วยจิต’ ด้วยชิป ‘Neuralink’ หลังคืบหน้าฝังชิปในสมองมนุษย์คนแรก - ชิป Neuralink ขนาดเท่าเหรียญที่จะฝังในสมอง (เครดิต: Neuralink) -

ด้วยความล้ำเช่นนี้ Neuralink จึงถือเป็นความคาดหวังของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงผู้ป่วยที่สูญเสียการควบคุมร่างกาย แม้พวกเรามีความรู้สึกนึกคิดได้ แต่แขนหรือขากลับไม่สามารถใช้งาน ตัว Neuralink จึงเป็นดั่ง “สะพานเชื่อม” ที่แปลงความคิดจากสมองให้สามารถสั่งงานเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แทนการใช้มือและเท้าได้

‘คุมสิ่งของด้วยจิต’ ด้วยชิป ‘Neuralink’ หลังคืบหน้าฝังชิปในสมองมนุษย์คนแรก - ใช้ความคิดสั่งการอุปกรณ์ด้วย Neuralink (เครดิต: Neuralink) -

ในปี 2564 บริษัทได้แสดงลิงที่ถูกฝังชิป Neuralink สามารถเล่นวิดีโอเกมโดยใช้เพียงความคิดเท่านั้นแทนจอยสติ๊ก และล่าสุด อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีแถวหน้าของโลกและเจ้าของบริษัท Neuralink เปิดเผยผ่านบัญชี X ของตนว่า ผู้ป่วยมนุษย์ “รายแรกของโลก” ได้รับการปลูกถ่ายชิปสมองด้วยเทคโนโลยี Neuralink เมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค. 2567) ที่ผ่านมา และกำลังฟื้นตัวได้ดี

  • Neuralink ตัวอัปเกรดสมองในการสู้กับ AI

มัสก์ เคยถูกถามจากเหล่านักข่าวว่า มนุษย์จะรับมือความสามารถของ AI อย่างไร ในเมื่อการฝึกฝนของมนุษย์ถูกจำกัดด้วยระบบชีววิทยา ที่จำเป็นต้องพักผ่อนและมีอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่หุ่นยนต์ AI สามารถทำงานโดยไม่ต้องหยุดพัก

มหาเศรษฐีผู้นี้จึงตอบนักข่าวว่า มนุษย์ก็เพียงรวมร่างกับ AI โดยให้ AI เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายแทน เพื่ออัปเกรดศักยภาพมนุษย์ไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งในแผนของ Neuralink กำลังอยู่ในการพัฒนาชิปเพื่อทำงานร่วมกับสมองในการประมวลผลข้อมูล และตัวเลขที่ซับซ้อน รวมถึงอาจสามารถทำให้สมองเข้าไปสู่โลกเสมือน ที่ไม่ใช่ผ่านดวงตาด้วยการใส่แว่น VR แต่เป็นเข้าผ่านสมองโดยตรง ซึ่งเป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

  • วิธีฝัง Neuralink เข้าไปในสมอง

เริ่มแรก หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะทำการเปิดกะโหลกสมองมนุษย์ จากนั้นก็ฝังสายขั้วสัญญาณไฟฟ้าที่เรียกว่า “Electrode” ของชิปขนาดเท่าเหรียญ เข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของสมอง ซึ่งแต่ละเส้น Electrode บาง 5 ไมครอนหรือราว 1 ใน 14  ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ จากนั้นก็จบด้วยการปิดกะโหลก โดยกระบวนการฝังทั้งหมดใช้เวลาราว 25 นาที

ส่วนตัวแบตเตอรี่ของชิป Neuralink สามารถอยู่ได้นาน 2-3 ชั่วโมง และชาร์จพลังงานไร้สาย (Wireless) ในเวลา 2-3 ชั่วโมง ผ่านที่ชาร์จรูปทรงหมวกแก๊ปเบสบอล

เรื่องราวของ Neuralink เหล่านี้ หากทำได้สำเร็จ จะถือเป็นอีกขั้นของวิวัฒนาการมนุษย์ที่แต่เดิม สิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ภายนอกร่างกาย แต่ Neuralink ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้เทคโนโลยีกับร่างกายมนุษย์ประสานรวมเป็นหนึ่ง พร้อมจุดไฟแห่งความหวังแก่ผู้ป่วยระบบประสาทให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านได้ดียิ่งขึ้น

อ้างอิง: wellhealthbusinesscnnbloombergbloomberg(2)neuralink