ต้องเตรียมแผนรับมืออย่างไร ถ้า ‘AI’ จะทำให้ ‘มนุษย์สูญพันธุ์’

ต้องเตรียมแผนรับมืออย่างไร ถ้า ‘AI’ จะทำให้ ‘มนุษย์สูญพันธุ์’

แม้ว่าปัจจุบัน AI จะได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี จนมีความสามารถในการช่วยงานมนุษย์ได้ในหลายสาขาอาชีพ แต่การให้ตวามสำคัญกับ AI ในการทำงานมากเกินไปก็อาจเกิดผลเสียตามมาได้ โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานจากบางอาชีพที่มี AI เข้าไปทำหน้าที่แทน

ต้นปี 2566 มีการพูดถึง “ภัยคุกคามจาก AI” กันมากขึ้น เริ่มจากมีการเรียกร้องให้หยุดการพัฒนาเทคโนโลยี AI รุ่นต่อไป เนื่องจากมีความกังวลว่า AI ที่ฉลาดกว่าและทันสมัยกว่าจะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ เห็นได้จากเว็บไซต์ศูนย์ความปลอดภัยปัญญาประดิษฐ์ (Centre for AI Safety) ออกแถลงการณ์ให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาการคุกคามของ AI ซึ่งอาจทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้ แต่ก็มีนักวิจัยบางส่วนมองว่า เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นยึดครองโลกได้ ผู้คนควรกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการใช้งาน AI มากกว่า เนื่องจากสามารถนำไปใช้เป็น “เครื่องมือ” ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติด้านต่างๆ ได้

โดยฟากที่กังวลกับความเสี่ยงภัยจาก AI ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เห็นว่า ความก้าวหน้าของ AI จะทำให้เกิดการตัดสินใจโดยอัตโนมัติที่ลำเอียง เลือกปฏิบัติ กีดกัน หรือไม่ยุติธรรม หรือมีข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงจาก AI ถูกแพร่กระจายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และขาดความไว้ใจจากสาธารณชน ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะกับโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน และอาจจะมีการยกประเด็นนี้เข้าหารือในการประชุมสุดยอด G7 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำโดยเร็ว

ขณะที่ข้อมูลจาก JobsDB ระบุว่าเทคโนโลยี อาจส่งผลให้ตลาดแรงงานในบางอาชีพอาจต้องหายไปเพราะมี AI เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ ซึ่งมีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกว่า จะมีอาชีพในปัจจุบันกว่า 73 ล้านอาชีพกำลังจะหายไปภายในปี ค.ศ. 2030 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า 7 กลุ่มเสี่ยงอาชีพที่ AI จะมาทดแทนได้แก่ ธุรกิจ การขนส่ง การผลิต บรรจุภัณฑ์และการส่งของ งานบริการลูกค้า การเงิน สายงานสุขภาพ และ เกษตรกรรม และมีอาชีพที่ควรจะปรับตัวเตรียมพร้อม ก่อนที่ AI จะมาทดแทน ก็คือ ร้านค้าปลีก แรงงานในภาคอุตสาหกรรม และสายการผลิต พนักงานเก็บเงิน แคชเชียร์ สื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เอเยนซี นายหน้าทัวร์

อย่างไรก็ตาม หากนำ AI มาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำงาน ก็จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพ ขจัดความผิดพลาดของมนุษย์ได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart technology) ที่สามารถเป็นผู้ช่วยมนุษย์ในการทำงานได้เช่นกัน เพราะการตัดสินใจของ AI จะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งยังมีทักษะที่ AI ไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์ โดยเฉพาะทักษะ Critical Thinking รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity ทักษะเรื่องคน (People Skill) ทักษะด้านการโน้มน้าวใจ (Negotiation Skill)  เป็น Soft Skills เป็นทักษะจำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบัน

ในอนาคตมีแนวโน้มว่าบริษัทส่วนใหญ่จะจ้างงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานโดยคนกับการใช้เทคโนโลยี AI เพราะมี ความเร็ว ความแม่นยําในการคํานวณ ฯลฯ เมื่อรวมจุดแข็งของมนุษย์ที่มีทักษะที่แก้ปัญหาที่ซับซ้อนแล้วนำมาเสริมกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมดีกับผู้ประกอบการและคนทำงาน ซึ่ง “มนุษย์” จะต้องปรับตัวรองรับ เตรียมพร้อมทั้งองค์กร และคนทำงานให้พร้อมต่อการนำ AI มาใช้ ต้องเรียนรู้ ปรับตัวและใช้ประโยชน์จาก AI และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลให้มากที่สุด