อย่าชะล่าใจ! ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘AI’ อาจทำ ‘มนุษย์สูญพันธุ์’

อย่าชะล่าใจ! ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘AI’ อาจทำ ‘มนุษย์สูญพันธุ์’

“AI” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ อ่านเบื้องลึกแถลงการณ์โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ แม้กระทั่งหัวหน้าทีมพัฒนา OpenAI และ Google Deepmind ยังออกโรงเตือน!

Key Points:

  • เว็บไซต์ศูนย์ความปลอดภัยปัญญาประดิษฐ์ (Centre for AI Safety) ออกแถลงการณ์ให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาการคุกคามของ AI ซึ่งอาจทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้
  • มีเหล่านักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแที่คร่ำหวอดในวงการ AI จำนวนมากร่วมลงชื่อเห็นด้วยกับแถลงการณ์นี้ รวมถึงหัวหน้าทีมพัฒนา OpenAI และ Google Deepmind 
  • ขณะที่นักวิจัยบางส่วนระบุ เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นยึดครองโลกได้ ควรกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการใช้งาน AI มากกว่า

 

ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” (เอไอ) ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนวิทยาการเริ่มล้ำหน้า ทำได้หลากหลายด้าน แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้หลายคนเป็นกังวลว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแย่งตำแหน่งงานของตน ขณะที่วงการศิลปะต่างเจอปัญหาด้านลิขสิทธิ์และกฎหมายที่ยังตามไม่ทันเทคโนโลยี 

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเห็นของเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลายสิบคน รวมถึงหัวหน้าทีมขององค์กรใหญ่ ๆ อย่าง แซม อัลต์แมน หัวหน้าผู้บริหารของ OpenAI ผู้ผลิตโปรแกรม ChatGPT, เดมิส แฮสซาบิส หัวหน้าผู้บริหารของ Google DeepMind บริการด้านปัญญาประดิษฐ์ และ ดาริโอ อาโมได จาก Anthropic ต่างลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ที่เผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์ศูนย์ความปลอดภัยปัญญาประดิษฐ์ (Centre for AI Safety)

อย่าชะล่าใจ! ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘AI’ อาจทำ ‘มนุษย์สูญพันธุ์’

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า “การลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จาก AI ควรถูกยกให้มีความสำคัญระดับโลกควบคู่ไปกับความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น โรคระบาดและสงครามนิวเคลียร์” 

ในเว็บไซต์ยังระบุอีกว่า AI สามารถถูกนำไปใช้เป็น “เครื่องมือ” ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติด้านต่าง ๆ ได้ อาทิ 

  • AI สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่น เครื่องมือในการค้นพบยาสามารถใช้สร้างอาวุธเคมีได้
  • ข้อมูลที่ผิดที่สร้างขึ้นโดย AI อาจทำให้สังคมสั่นคลอนและ "ทำลายการตัดสินใจร่วมกันของกลุ่มบุคคล"
  • พลังของ AI อาจกระจุกตัวอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม รวมถึงใช้ "สอดแนมและเซนเซอร์ข้อมูลทางไซเบอร์ของประชาชนโดยรัฐ"
  • ทำให้มนุษย์อ่อนแอลง จนต้องพึ่งพา AI คล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์แอนิเมชัน “Wall-E"

นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ด้วย ไม่ว่าเป็น ดร.เจฟฟรีย์ ฮินตัน ผู้เคยออกคำเตือนก่อนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเอไออัจฉริยะขั้นสูง เช่นเดียวกับ โยชัว เบนจิโอ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยมอนทรีออล

ขณะที่ เจ้าของสมญานาม "เจ้าพ่อแห่ง AI" อย่าง ศาสตราจารย์ ยานน์ เลชุน จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งปัจจุบันทำงานกับ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า โลกจะแตกเพราะ AI นั้นออกจะเกินจริงไปเสียหน่อย และจนถึงขณะนี้  (31 พ.ค. 2566) เขาก็ยังไม่ได้ลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าว

  • AI อาจสร้างความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ เลชุน ไม่ใช่นักวิจัยเพียงคนเดียวที่เห็นค้านเรื่อง AI จะทำลายล้างโลก สำหรับอาร์วินด์ นารายานัน นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยมหาพรินซ์ตัน ก็ได้บอกกับสำนักข่าว BBC ว่าภัยพิบัติจากเครื่องจักรกลแบบในภาพยนตร์ไซไฟนั้นออกจะเกินจริง เพราะในปัจจุบัน AI ยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ควรระวังอันตรายจากการใช้ AI ในปัจจุบันมากกว่า

สอดคล้องกับความเห็นของ เอลิซาเบธ เรเนียริส นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันจริยธรรมใน AI แห่ง มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่าเธอกังวลกับความเสี่ยงภัยจาก AI ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้มากกว่า “ความก้าวหน้าของ AI จะทำให้เกิดการตัดสินใจโดยอัตโนมัติที่ลำเอียง เลือกปฏิบัติ กีดกัน หรือไม่ยุติธรรม แต่อาจเข้าใจได้และไม่สามารถโต้แย้งได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจเช่นนั้น” 

อีกทั้งเครื่องมือ AI จำนวนมากเปิดให้ใช้บริการฟรี ยิ่งทำให้ AI ถูกป้อนข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ข้อความ และดนตรี จนสามารถเลียนแบบออกมาได้อย่างแนบเนียน ทำให้บริษัทผู้สร้าง AI ได้รับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีประสิทธิภาพจากสาธารณชนไปใช้แบบฟรี ๆ 

“หลายครั้งที่มีข้อมูลผิด ๆ จาก AI ถูกแพร่กระจายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และขาดความไว้ใจจากสาธารณชน ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะกับโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน (digital divide)" เรเนียริสกล่าวสรุป

อย่างไรก็ตาม แดน เฮนดริกส์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยปัญญาประดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าว BBC ว่า ไม่ควรมองความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในแง่ลบมากเกินไป เพราะการตระหนักบางประเด็นในวันนี้ อาจเป็นประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต

 

  • “AI” ภัยคุกคามที่ควรตระหนัก

“ภัยคุกคามจาก AI” เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566 ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Tesla ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องให้หยุดการพัฒนาเทคโนโลยี AI รุ่นต่อไป โดยส่วนหนึ่งของจดหมายระบุว่า

"หากเรายังคงพัฒนาความคิดจิตใจของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งในอนาคตสิ่งเหล่านี้อาจมีจำนวนมากกว่า ฉลาดกว่า มีทันสมัยกว่า สุดท้ายแล้วพวกมันจะแทนที่พวกเราในที่สุด

 

ขณะที่ แซม อัลต์แมน และ ซันดาร์ พิชัย ผู้บริหารระดับสูงของ Google ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ได้หารือเกี่ยวกับกฎระเบียบของ AI กับ ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเมื่อเร็ว ๆ นี้ 

“คุณคงเห็นแล้วว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ AI ช่วยให้คนเป็นอัมพาตเดินได้ ค้นพบยาปฏิชีวนะใหม่ ๆ แต่เราต้องทำให้แน่ใจว่า AI ไม่เป็นอันตราย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมพบกับซีอีโอบริษัท AI รายใหญ่ หารือเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน กฎระเบียบที่ควรนำมาบังคับใช้เพื่อให้พวกเราปลอดภัย และคลายกังวลว่า AI เป็นภัยคุกคามระดับโรคระบาดหรือสงครามนิวเคลียร์” ซูแน็กให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเกี่ยวกับความเสี่ยงของ AI โดยเน้นย้ำถึงผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ นายกรัฐมตรีแห่งสหราชอาณาจักรเตรียมยกประเด็นนี้เข้าหารือในการประชุมสุดยอด G7 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ พร้อมทั้งหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นอีกครั้งในสหรัฐโดยเร็ว

ที่มา: BBC