คุ้ม-ไม่คุ้ม! เทียบฟีเจอร์ โซเชียลมีเดียดัง "เสียเงิน" แล้วได้อะไร?

คุ้ม-ไม่คุ้ม! เทียบฟีเจอร์ โซเชียลมีเดียดัง "เสียเงิน" แล้วได้อะไร?

เปรียบเทียบโซเชียลมีเดียแบบ  “เสียค่าบริการ” ของทั้ง “Facebook” “Twitter” และ “YouTube” มีความแตกต่างและสิทธิประโยชน์แตกต่างกันอย่างไรกับแบบใช้ฟรี

กลายเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลทันที หลังจากบริษัท Meta เจ้าของ Facebook และ Instagram โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลกเปิดตัวแพ็กเกจให้บริการรายเดือน “Meta Verified” ในราคาเริ่มต้น 11.99 ดอลลาร์ หรือราว 419 บาท ซึ่งช่วยผู้ใช้งานบน Facebook สามารถขอ “Verified Page” ได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยเริ่มนำร่องเก็บเงินแล้วในออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ วันนี้ (24 ก.พ.) เป็นวันแรก

บริการออนท็อปดังกล่าวของ Facebook จะเรียกว่า ตามรอย “Twitter Blue” ซึ่งเป็นแพ็กเกจรายเดือนของทวิตเตอร์ที่เปิดตัวมาก่อนหน้านี้ก็ว่าได้ โดยนอกจากทวิตเตอร์แล้ว ก่อนหน้าก็ยังมี “Youtube” เป็นผู้จุดกระแสโดยออกแพ็กเกจพรีเมียมมาก่อนเป็นเจ้าแรก

เมื่อมาถึงรายล่าสุดอย่าง “เฟซบุ๊ก” ที่เริ่มเก็บเงินกับเขาบ้าง ก็เลยกลายเป็นข้อถกเถียงอย่างหนักว่า จ่ายเงินแล้วได้อะไร แล้วจะคุ้มหรือไม่คุ้ม “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมสิทธิประโยชน์เหนือระดับของแพ็กเกจบริการรายเดือนของเหล่าโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ทั้ง “Facebook” “Twitter” และ “YouTube” ว่ามีอะไรบ้าง ราคาเท่าไร และคุ้มค่ากับการเสียเงินหรือไม่

  • Meta Verified - Facebook

เริ่มต้นกันที่ Facebook โซเชียลมีเดียรายล่าสุดที่พึ่งเปิดตัวแพ็กเกจรายเดือนในชื่อว่า “Meta Verified” สนนราคาที่ 11.99 ดอลลาร์ หรือราว 419 บาท สำหรับการสมัครใช้ผ่านเว็บไซต์ และ 14.99 ดอลลาร์ หรือประมาณ 515 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ใช้ไอโฟน 

แพ็กเกจ Meta Verified นี้ มีจุดเด่นที่ผู้ใช้จะได้รับเครื่องหมาย “Verified Page” หรือ เครื่องหมายยืนยันตัวตน ที่เป็นรูป เครื่องหมายถูกสีฟ้า ขึ้นตามหลังชื่อเพจ พร้อมเชื่อมไปยัง Instagram ของเพจด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น แล้วยังแสดงให้เห็นว่าเพจของเรานั้นเป็นของจริง ไม่ใช่เพจปลอม และป้องกันความสับสนของผู้ใช้งาน โดยเดิมทีนั้น Facebook จะมอบเครื่องหมายนี้ให้แก่เหล่าผู้ที่มีชื่อเสียงและองค์กรขนาดใหญ่

นอกจากนี้ยังมีระบบสนับสนุน ทำหน้าที่ช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา หรือมีข้อสงสัยในการใช้งาน รวมถึงได้รับสติ๊กเกอร์รูปแบบพิเศษ (Exclusive Sticker) ที่มีเฉพาะผู้ใช้บริการรายเดือน สำหรับตกแต่งคลิปใน Reels และยังได้รับดาว 100 ดวง ต่อเดือน สำหรับมอบให้แก่ผู้ใช้งานอื่น ๆ 

และที่สำคัญที่สุด คือ แพ็กเกจดังกล่าวจะช่วยให้คอนเทนต์สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้มากขึ้น ทั้งยอด Reach และ Engagement จากระบบการเสิร์ชค้นหา, การมองเห็นในช่องคอมเมนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน แพ็กเกจ Meta Verified เปิดให้ใช้งานแล้วในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เท่านั้น ก่อนจะค่อย ๆ ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในเร็ววันนี้ โดยในช่วงแรกนี้จะเปิดให้ใช้งานสำหรับกลุ่มครีเอเตอร์ประเภทบุคคลก่อน ไม่ว่าจะเป็น คนดัง อินฟลูเอนเซอร์ นักแสดง ศิลปิน เน็ตไอดอล และจะต้องใช้เอกสารทางราชการที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือ หนังสือเดินทาง รวมถึงจะมีการตรวจสอบประวัติการโพสต์ย้อนหลัง เพื่อป้องกันการปลอมแปลงตัวตน ส่วนบัญชีที่ทำผิดกฏของ Meta บ่อยครั้ง อาจไม่สามารถสมัครแพ็กเกจนี้ได้

บริษัท Meta กล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า แพ็กเกจจะไม่ส่งผลต่อบัญชีที่ได้รับการยืนยันแล้วก่อนหน้านี้ พร้อมเสริมว่า เครื่องหมายยืนยันตัวตน จะช่วยเพิ่มการมองเห็นสำหรับผู้ใช้ที่มีฐานผู้ติดตามยังไม่สูงมากนัก 

 

  • Twitter Blue - Twitter

Twitter Blue เป็นบริการรายเดือนสำหรับ Twitter ที่เปิดให้ใช้บริการมาตั้งแต่ปี 2564 ในราคา โดยมี ฟีเจอร์หลัก คือ Bookmark Folders จัดระเบียบทวีตที่ชื่นชอบได้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น Undo Tweet สามารถดูตัวอย่างและตรวจสอบทวีตก่อนที่จะเผยแพร่ได้ สูงสุดถึง 30 วินาที Reader Mode เปลี่ยนเธรดทวีตยาว ๆ ให้อ่านง่ายยิ่งขึ้น พร้อมสามารถเปลี่ยนสีและไอคอนของแอปพลิเคชันได้อีกด้วย

หลังจากนั้น Twitter ได้เพิ่มฟีเจอร์สำหรับแพ็กเกจรายเดือนอย่างต่อเนื่อง ทั้งสามารถนำรูป NFT มาเป็นภาพโปรไฟล์ จัดแต่งแถบนำทาง (Navigation Bar) ได้ตามต้องการ ตลอดจนทวีตด้วยความยาว 4,000 ตัวอักษร นอกจากนี้ยังพัฒนาฟีเจอร์ การแก้ไขทวีต อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพ.ย. 2565 หลังจากที่ อีลอน มัสก์ เข้าเป็นเจ้าของ Twitter คนใหม่ได้ไม่นาน เขาได้เพิ่มค่าบริการรายเดือนเป็น 11 ดอลลาร์ หรือประมาณ 318 บาท แลกกับการได้รับเครื่องหมายยืนยันตัวตน แต่การให้บริการนี้สร้างปัญหาให้กับ Twitter เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ใช้งานที่แอบอ้างเป็นคนที่มีชื่อเสียงและแบรนด์ดังต่างพากันสมัครแพ็กเกจดังกล่าวเพื่อให้ได้เครื่องหมายยืนยันตัวตน ทำให้ Twitter ต้องยกเลิกการยืนยันตัวตนแทบจะในทันทีที่ให้บริการ

ทั้งนี้ Meta ระบุว่าจะไม่เกิดปัญหานี้กับ Facebook เนื่องจาก ผู้ใช้งานต้องยืนยันตัวตน ซึ่งแตกต่างจาก Twitter ที่ไม่มีการระบุตัวตน

 

  • YouTube Premium - YouTube

YouTube ถือเป็นแพลตฟอร์มแรก ๆ ของโซเชียลมีเดียที่มีบริการรายเดือน ตั้งแต่ 2558 ในช่วงที่การแข่งขันในตลาดวิดีโอสตรีมมิงแข่งขันกันอย่างดุเดือด ในชื่อ YouTube Red และเป็นช่วงนี้เองที่ YouTube เริ่มผลิตคอนเทนต์เป็นของตนเอง ซึ่งนอกจากผู้สมัครใช้บริการจะได้รับชมคอนเทนต์สุดพิเศษที่หาชมไม่ได้จากที่อื่น ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดีแล้ว ยังสามารถรับชมคลิปวิดีโอทั่วไปแบบไม่มีรายการคั่น และรับชมคลิปได้แม้ออกจากแอปพลิเคชัน ด้วยฟีเจอร์ Picture-in-picture 

จากนั้นในปี 2561 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น YouTube Premium โดยในปัจจุบันมีค่าสมัครอยู่ที่ 209 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้รับบริการ YouTube Music Premium ที่เป็นบริการสตรีมมิงเพลงอีกด้วย

สิทธิพิเศษทั้งหลายที่ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มอบให้นั้นอาจจะไม่ได้จำเป็นกับทุกคน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องสมัครใช้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคล แต่ที่แน่ ๆ บริการเหล่านี้ล้วนจำเป็นต่อบริษัทโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วงสร้างรายได้แก่องค์กร ในยามที่บริษัทเทคโนโลยีอยู่ในวิกฤติการเลิกจ้างงานเฉกเช่นในปัจจุบัน

 

ที่มา: BBCPrachachat