“YouTube” รับบท “พี่เลี้ยง” ของเด็กทั้งโลก โกยรายได้มหาศาล แต่ส่งผลอะไรบ้างกับเด็ก?

“YouTube” รับบท “พี่เลี้ยง” ของเด็กทั้งโลก โกยรายได้มหาศาล แต่ส่งผลอะไรบ้างกับเด็ก?

แชนแนลใน “YouTube” ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกนั้นไม่ใช่ ช่องของศิลปินดัง หรือเหล่าผู้ผลิตละครคุณธรรม แต่กลับเป็น “ช่องผลิตคอนเทนต์สำหรับเด็ก” พร้อมรับบท “พี่เลี้ยง” จำเป็น ยามพ่อแม่ไม่ว่าง ท่ามกลางการถกเถียงของผู้ปกครองเกี่ยวกับการจำกัดชั่วโมงที่อยู่หน้าจอของบุตรหลาน

หลาย ๆ คนโดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็ก ๆ คงต้องเคยผ่านตากับวิดีโอการ์ตูนแอนิเมชันสามมิติ เด็กทารกเพศชายตากลมโต มีผมม้วนสีเหลืองแปะอยู่ที่หน้าผาก ที่มักจะร้องเพลงกันอยู่เสมอ โดยตัวละครนี้มีชื่อว่า “เจ.เจ.” เป็นตัวละครหลักของจักรวาล “CoComelon” เป็นสื่อบันเทิงและการศึกษาสำหรับเด็กที่อัปโหลดผ่านช่อง “Cocomelon – Nursery Rhymes” บน YouTube ซึ่งเป็นช่องสำหรับเด็กที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก และทำรายได้ไปแล้วเกือบ 283 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่สร้างผ่านการโฆษณาบน YouTube ขึ้นแท่นเป็นช่องที่ทำรายได้จาก YouTube สูงสุดของโลก

 

  • เด็ก ๆ ทั่วโลกติด YouTube

CoComelon ไม่ใช่ช่องเด็กเพียงช่องเดียวที่ทำรายได้สูงสุดจาก YouTube ข้อมูลจาก Social Blade บริษัทรวบรวมข้อมูลโซเชียลมีเดีย พบว่า ยังมีช่องผลิตคอนเทนต์สำหรับเด็กอีก 2 ช่องที่สามารถทำรายได้จาก YouTube ไปแล้วมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ คือ Like Nastya จากรัสเซียทำรายได้ไปแล้วกว่า 167.5 ล้านดอลลาร์ และ El Reino Infantil จาก อาร์เจนตินา มีรายได้จาก YouTube 102.2 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ช่องคอนเทนต์สำหรับเด็กติดอันดับ 1 ช่องที่ทำรายได้สูงสุดในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ยุโรปกลางและตะวันออก รัสเซีย สวีเดน เยอรมนี โปรตุเกส จอร์แดน อิสราเอล อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย มองโกเลีย ออสเตรเลีย ตุรกี และ คาซัคสถาน มีเพียงแต่ในทวีปแอฟริกาเท่านั้นที่ช่องสำหรับเด็กไม่ได้ทำรายได้มากที่สุด ดังนั้นในภาพรวมทั่วโลกแล้วช่องเด็กนั้นได้รับความนิยมมากกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่น ๆ

สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ว่าในตอนนี้เพลง “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” ของวง “Paper Planes” จะเป็นที่ฮอตฮิตในหมู่เด็กอนุบาลและประถม จนสมาชิกของวงได้รับตำแหน่ง “หัวหน้าแก๊งวัยรุ่นฟันน้ำนม” แต่ตำแหน่งช่องที่ทำรายได้มากที่สุดจาก YouTube ในประเทศไทยนั้นเป็นของ “Beam Copphone” ที่เป็นช่องรีวิวของเล่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ ของน้องบีม และครอบครัว โดยข้อมูลจาก CashNetUSA ผู้ให้บริการเงินกู้ของสหรัฐ ได้ทำการคำนวณประมาณการรายได้ของ Beam Copphone ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่า 7,580,000 บัญชี และมียอดวิววิดีโอทั้งหมดรวมกันกว่า 12,474 ล้านครั้ง โดยคาดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาทำรายได้ไปแล้วมากกว่า 25 ล้านดอลลาร์

“YouTube” รับบท “พี่เลี้ยง” ของเด็กทั้งโลก โกยรายได้มหาศาล แต่ส่งผลอะไรบ้างกับเด็ก?

 

ขณะที่ 10 อันดับวิดีโอบน YouTube ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดนั้น เป็นวิดีโอที่มีเนื้อหาสำหรับเด็กไปแล้วถึง 5 อันดับด้วยกัน สำหรับวิดีโอที่มียอดวิวมากที่สุดในโลกนั้นเป็นของ “Baby Shark Dance” เพลงที่กลายเป็นไวรัลในช่วงปี 2561-2562 และครองอันดับ 1 เพลงที่มียอดวิวมากที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2563 อีกทั้งยังเป็นวิดีโอแรกของโลกที่มียอดเข้าชมมากกว่า 10,000 ล้านครั้ง และในปัจจุบันมียอดวิวทะลุ 12,000 ล้านครั้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สมกับคำกล่าวที่ว่า ไม่มีเพลงไหนมาล้ม Baby Shark ได้เพราะแฟนคลับเพลงนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี 2558 Google ได้เปิดตัว YouTube for Kids แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และสมาร์ททีวี ที่ให้บริการสำหรับเด็กโดยเฉพาะที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถควบคุมการรับชมเนื้อหาของบุตรหลานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้ปกครองทั่วโลก

เนื่องด้วยคอนเทนต์สำหรับเด็กนั้นไม่ได้มีหลากหลาย เมื่อเทียบกับเนื้อหาทั้งหมดที่มีอยู่ในยูทูบจึงทำให้เด็ก ๆ นั้นได้ดูวิดีโอซ้ำไปซ้ำมา จนทำให้วิดีโอยอดนิยมสำหรับเด็กนั้นมียอดวิวทะลุหลักพันล้านอย่างง่ายดาย

  • การดู YouTube ส่งผลอะไรกับเด็ก ?

เนื่องด้วยในปัจจุบันที่พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วทั้งโลกต้องทำงาน และไม่ได้มีเวลามากพอที่จะอยู่กับลูก หรือเห็นว่าลูกได้ดูคอนเทนต์ใน YouTube แล้ว สงบสุข ไม่แผลงฤทธิ์ ยอมกินข้าว จึงปล่อยให้ลูก ๆ อยู่กับหน้าจอ

ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยให้บุตรหลานอยู่กับหน้าจอทั้งวัน ล้วนต้องพบเจอจากคำถามจากคนรอบข้างว่า “ทำไมถึงปล่อยให้เด็กอยู่แต่กับหน้าจอ” “ทำไมไม่สนใจลูกบ้าง” “ให้ลูกดู YouTube นานเกินไปแล้วหรือเปล่า” อันที่จริงคำถามเหล่านี้ก็เกิดขึ้นกับเหล่านักวิจัยเช่นกัน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการปล่อยให้เด็กนั่งอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ๆ 

จากการศึกษาล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระบุว่า การปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอ “มากเกินไป” จะส่งผลให้เด็กควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ยากขึ้น และอาจกระตุ้นให้เกิดโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD (Obsessive Compulsive Disorder) เพราะการอยู่แต่หน้าจอนาน ๆ ทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ การออกกำลังกาย และการเล่นสนุกซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กในวัยนี้ควรทำ ขณะเดียวกันหากเด็กไม่ได้ดู YouTube แล้วอารมณ์เสีย หงุดหงิด เบื่อหน่าย ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องสอนเด็กและใช้เวลากับเด็กให้มากยิ่งขึ้น

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา แนะนำว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือนไม่ควรใช้สื่อดิจิทัลเลย นอกเหนือจากการสนทนาทางวิดีโอกับคนในครอบครัว (ซึ่งก็ไม่ควรบ่อยมาก) ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบควรดูรายการที่มี "คุณภาพสูง" ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ปกครองควรต้องดูพร้อม ๆ กัน เพื่อช่วยให้บุตรหลานมีส่วนร่วมกับโทรทัศน์อย่างสร้างสรรค์

แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกินในลอนดอน เมื่อปี 2565 ที่ทำการวิเคราะห์จากการศึกษา 89 ชิ้นจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ครอบคลุมขนาดกลุ่มตัวอย่างรวมกว่า 200,000 คน พบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 คนทุกช่วงวัยติดหน้าจอมากขึ้น โดยเด็กปฐมวัย (6-10 ปี) ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเพิ่มขึ้นถึง 83 นาทีต่อวัน ตามมาด้วยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น 58 นาทีต่อวัน ขณะที่วัยรุ่น อายุ 11-17 ปี เพิ่มขึ้น 55 นาทีต่อวัน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดที่ 35 นาทีต่อวัน

ถึงแม้ว่าคอนเทนต์ใน YouTube จะสร้างความสนุก เพลิดเพลิน รวมถึงอาจมอบความรู้ให้แก่เด็ก ๆ ได้ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ในเวลาที่เหมาะสม ท้ายที่สุดแล้วยูทูบเป็นเพียงแค่ช่องทางการเผยแพร่สื่อ ไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยงเด็ก” ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกับเด็ก พวกเขาต้องการการดูแลสุขภาพและควบคุมพฤติกรรมเพื่อการพัฒนาที่ดี ซึ่งเด็ก ๆ ไม่สามารถได้รับสิ่งเหล่านี้จาก YouTube


ที่มา: CashnetusaNBC NewsQUARTZ