Meta เผย 7 เทรนด์โซเชียล กุมชะตาธุรกิจไทยปี 2566

Meta เผย 7 เทรนด์โซเชียล กุมชะตาธุรกิจไทยปี 2566

ปีนี้เศรษฐกิจในไทยอาจมีโอกาสในการเติบโตขึ้นถึง 3.8% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวเป็นไปในทิศทางเดียวกันในพื้นที่ดิจิทัล ที่คาดว่าราว 60% ของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลก จะอาศัยอยู่ในเอเชียแปซิฟิก "Meta" เผยเทรนด์โซเชียลสำคัญที่กุมอนาคตเศรษฐกิจไทย!!!

แพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวว่า ปีนี้ด้วยภูมิทัศน์ดิจิทัลที่มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โอกาสการเชื่อมต่อกับลูกค้าผ่านช่องทาง ที่พวกเขาใช้รับสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และนั่นหมายถึงช่องทางต่าง ๆ เช่น แพลตฟอร์ม ครีเอเตอร์ เพื่อน และครอบครัว ที่จะเป็นผู้ผลักดันการค้นพบ และการพิจารณาสินค้าและบริการจากแบรนด์ระดับท้องถิ่นต่าง

ดังนั้น ธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

Meta เผย 7 เทรนด์โซเชียล กุมชะตาธุรกิจไทยปี 2566

 

 

นี่คือเทรนด์โซเชียลที่น่าจับตามองและธุรกิจควรนำมาปรับใช้ปีนี้

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  Generative AI โดยได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายผลิตภัณฑ์และบริการในปัจจุบันได้ผสานเทคโนโลยี AI เข้าไว้ด้วย และมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อวิเคราะห์ จัดการ เข้าถึง และให้บริการเชิงให้คำปรึกษาจากข้อมูลที่ไร้โครงสร้างยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการคาดการณ์ว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบ AI ของ International Data Corporation หรือ IDC จะเพิ่มขึ้นจาก 17.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2565 เป็น 32 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 ด้วยเหตุนี้ Meta จึงได้แนะนำเครื่องมือใหม่ ๆ ผ่าน Meta Advantage เพื่อช่วยให้ผู้ลงโฆษณาทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากพลังของ AI และระบบการทำงานอัตโนมัติ และแคมเปญช้อปปิ้ง Advantage+ เพื่อช่วยให้ผู้ลงโฆษณาสามารถลดขั้นตอนในการสร้างโฆษณาแบบแมนนวลด้วย

การส่งข้อความเชิงธุรกิจ โลกที่เราอยู่ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการส่งข้อความเป็นอันดับแรก จากสถิติทั่วโลก มีผู้คนจำนวนกว่าหนึ่งพันล้านคนที่ส่งข้อความหาธุรกิจในแต่ละสัปดาห์ผ่าน WhatsApp Messenger และ Instagram Direct โดยเป็นการส่งข้อความส่วนตัวหาแบรนด์ต่าง ๆ เลือกชมแคตตาล็อตสินค้า ขอความช่วยเหลือ หรือตอบโต้กับ Stories ของธุรกิจ

ทั้งนี้ มูลค่าของโฆษณาที่คลิกต่อไปยังการทักแชททาง Messenger กับธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งไทย เราเล็งเห็นว่าการส่งข้อความเชิงธุรกิจได้ปลดล็อคโอกาสครั้งใหม่ ๆ

ผลการศึกษาระบุว่า 76% กล่าวว่าการส่งข้อความเชิงธุรกิจเป็นช่องการสื่อสารกับธุรกิจที่พวกเขาชอบมากที่สุด ในขณะที่ 78% กล่าวว่าพวกเขาได้ส่งข้อความไปหาธุรกิจต่าง ๆ แล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์

การช้อปปิ้งข้ามพรมแดน เทคโนโลยีที่ช่วยการเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเลือกซื้อสินค้าจากที่ใดก็ได้บนโลก และผู้คนรู้สึกสบายใจกับการซื้อสินค้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก จนทำให้การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเติบโตกว่าการค้าอีคอมเมิร์ซภายในประเทศถึง 5 เท่า ภายในปี 2569 มีการคาดการณ์ว่าตลาดการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 17% นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562

ที่ผ่านมา Meta ได้ร่วมมือกับ YouGov ในการสำรวจความคิดเห็นนักช้อปจำนวนกว่า 16,000 คนจาก 8 ประเทศ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนกว่าครึ่งกล่าวว่าพวกเขาเคยซื้อสินค้าจากธุรกิจในต่างประเทศ และ 82% กล่าวว่าพวกเขามีโอกาสที่จะซื้อสินค้าจากธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงโอกาสในการซื้อขายข้ามพรมแดนในอนาคต นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการค้นพบสินค้า

Virtual และ Augmented Reality ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจมากมายเปิดรับการใช้งานเทคโนโลยี AR/VR เพื่อเสริมประสบการณ์ลูกค้ามากขึ้น โดยไอดีซีระบุว่า เม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยี AR/VR ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 42.4% ระหว่างปี 2564 - 2569 และจะมีมูลค่าถึง 16.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2569 และโฆษณาแบบ AR จะช่วยให้แบรนด์เชื่อมต่อถึงลูกค้าได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และเสริมประสิทธิภาพโฆษณาในภาพรวมสำหรับผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มของเรา

นอกจากนี้ เรายังเห็นคอมมิวนิตี้ของครีเอเตอร์ AR ที่แข็งแกร่งมากในไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบประเทศทั่วโลกที่มีจำนวนครีเอเตอร์ Spark AR ที่มีผลงานอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

ครีเอเตอร์ ครีเอเตอร์คืออนาคต เป็นที่น่าสนใจว่า 51% ของกลุ่มตัวอย่างนักช้อปข้ามพรมแดนต่างบอกว่าเหล่าครีเอเตอร์คือแหล่งข้อมูลสำคัญในการค้นพบแบรนด์และช่วยประเมินคุณภาพสินค้า จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ในการทำงานเพื่อสร้างเรื่องราวของแบรนด์ร่วมกับบรรดาครีเอเตอร์ โดยในช่วงปลายปีที่แล้ว เราได้เปิดตัวโครงการ ‘Creators of Tomorrow’ ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลก เพื่อโปรโมทครีเอเตอร์ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานและขับเคลื่อนคอมมิวนิตี้บนแอปพลิเคชัน

นอกจากนั้น Instagram Trend Report ประเทศไทยยังชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ชาวไทยยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่พวกเขาติดตามสูง (อินฟลูเอ็นเซอร์) ดังนั้น สำหรับแบรนด์เองนี้ถือเป็นช่วงเวลาไหนเหมาะสมกับการทำงานร่วมกับเหล่าครีเอเตอร์

ช้อปปิ้งออนไลน์ แม้ผู้บริโภคจะเริ่มกลับไปจับจ่ายที่ร้านค้ามากขึ้น แต่พฤติกรรมการช้อปปิ้งผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์โรคระบาดยังคงมีอิทธิพลอยู่ โดยสำหรับคนในกลุ่ม Gen X และ Baby Boomers การค้นพบสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยจาก Nielsen ชี้ว่านักช้อปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความตั้งใจซื้อสินค้าออนไลน์สูงสุดมากกว่า 60% ในขณะเดียวกันการซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย ยังเป็นช่องทางการขายที่เติบโตเร็วที่สุด

โดยผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z ได้เข้ามาขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการช้อปอย่างเห็นได้ชัด โดยในประเทศไทย นักช้อป Gen Z ได้ใช้ประโยชน์จากทัช พอยท์ทั้งแบบออนไลน์และภายในร้านค้า ซึ่งเป็นเครื่องมือการช้อปสินค้าที่สำคัญที่สุดของผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยกว่า 54% ของนักช้อป Gen Z ชาวไทยเคยสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และนัดรับของด้วยตัวเองที่ร้านค้า

วิดีโอสั้น (Short-form video) เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งทั่วโลกอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงแพลตฟอร์มของเราด้วย โดยฟีเจอร์ Reels เติบโตอย่างก้าวกระโดดบนแอปของ Meta ทั้งในแง่ของจำนวนวิดีโอสั้นและยอดดู Reels จึงนับเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่โตเร็วที่สุดของ Meta โดยเราพบว่าผู้ใช้งาน Instagram ใช้เวลาไปกับวิดีโอ Reels ถึง 20%

ปัจจุบัน Reels มียอดดูบน Facebook และ Instagram จากเดิมที่มีรวมกันกว่า 140,000 ล้านครั้งต่อวันเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก วิดีโอได้กลายมาเป็นวิธีหลักที่ผู้คนใช้แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองบนแพลตฟอร์มของเรา

คำถามคือธุรกิจต่าง ๆ ควรตอบสนองอย่างไรกับเทรนด์เหล่านี้ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจเป้าหมายของธุรกิจก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์หรือสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่เสมือนจริงยิ่งขึ้น เมื่อรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร ก็จะสามารถเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมได้

นอกจากนี้ การเล่าเรื่องราวของแบรนด์ผ่านวิดีโอในรูปแบบและความยาวต่างๆ จะมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจ ทั้งในแง่ของการสร้างแบรนด์ และการค้นพบแบรนด์ ข้อดีของเทรนด์เหล่านี้ คือธุรกิจมีตัวเลือกในการเข้าถึงและเชื่อมต่อกับผู้คน และสามารถสร้างแบรนด์ผ่านประสบการณ์ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซเชียล ออนไลน์ เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือผ่านบทสนทนา