'ChatGPT‘ เขย่าสมรภูมิ ’เอไอ’ กูเกิล ส่งแชตบอท ‘บาร์ด’ ชน

'ChatGPT‘ เขย่าสมรภูมิ ’เอไอ’  กูเกิล ส่งแชตบอท ‘บาร์ด’ ชน

จับตา ‘กูเกิล’ เปิดตัวแชตบอตเอไอ “บาร์ด” (Bard) จ่อเปิดใช้ไม่กี่สัปดาห์นี้ แข่ง ChatGPT ไมโครซอฟท์แถลงข่าวสวน ขณะที่ ‘หุ้นไป่ตู้’ ของจีนพุ่งกว่า 13% รับข่าวเตรียมเปิดบริการคล้าย ChatGPT “การ์ทเนอร์-นักวิชาการไทย” มอง ChatGPT หวั่นเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจผิดรุนแรง

ChatGPT กำลังสร้างปรากฎการณ์เขย่าโลกยุคใหม่ “เอไอ” ที่เพิ่มดีกรีความอัจฉริยะจนแทบจะกลายเป็นมนุษย์ กำลังดิสรัปโลกเทคโนโลยีอย่างรุนแรง หลายประเด็นถูกตั้งคำถาม สรุปแล้ว เอไอ คือ พระเอก หรือผู้ร้าย นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กำลังรอการพิสูจน์ เมื่อบิ๊กเทคโนโลยีโลกต่างกระโจนเข้าใส่สมรภูมินี้ และสร้างปัญญาประดิษฐ์ตัวใหม่ๆ เพิ่ม

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (6 ก.พ.) ตามเวลาสหรัฐ “กูเกิล” เปิดตัวแชตบอตเอไอ ที่เรียกว่า “บาร์ด” ทำงานโดย Language Model for Dialogue Applications หรือ LaMDA โดยกูเกิลจะนำเทคโนโลยีการสนทนาอัตโนมัตนี้ไปทดสอบกับ “ผู้ทดสอบที่ไว้ใจได้” ก่อนเปิดใช้ในวงกว้างในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

คำประกาศล่าสุดจาก กูเกิล ยืนยันรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนจาก ซีเอ็นบีซี ที่ว่า กูเกิลกำลังทดสอบฟีเจอร์บางอย่างกับพนักงาน ตามแผน “รหัสแดง” รับมือ ChatGPT แชตบอตชื่อดังที่ “ไมโครซอฟท์” หนุนอยู่ส่วนหนึ่ง ฟีเจอร์ใหม่ของกูเกิล เช่น แชตบอตที่เรียกว่า “แอพเพรนทิสบาร์ด” (Apprentice Bard) และระบบการออกแบบหน้าจอค้นหาใหม่ซึ่งสามารถใช้ในรูปแบบคำถามและคำตอบ

จับตา Bard พุ่งชน ChatGPT

นายซันดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กูเกิล ระบุผ่านเว็บบริษัทว่า “เร็ว ๆ นี้ ทุกท่านจะได้เห็นคุณสมบัติที่ขับเคลื่อนโดยเอไอในกูเกิลเสิร์ช (Google Search) ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่ซับซ้อนและมุมมองมากมายกลายเป็นรูปแบบที่ย่อยง่าย ดังนั้นคุณจะเข้าใจภาพใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและเรียนรู้ได้เพิ่มมากขึ้นจากเว็บกูเกิล”

 

\'ChatGPT‘ เขย่าสมรภูมิ ’เอไอ’  กูเกิล ส่งแชตบอท ‘บาร์ด’ ชน

กูเกิล ยกตัวอย่างการใช้ Bard เพื่อย่อยประเด็นที่มีความซับซ้อน เช่นการอธิบายเรื่องการค้นพบครั้งใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ขององค์การนาซ่าให้เด็ก 9 ขวบเข้าใจ

การทดสอบ Bard มีขึ้นหลังจากพนักงานกูเกิลแสดงความวิตกกังวลในที่ประชุมเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับขีดความสามารถด้านเอไอของบริษัท เมื่อพิจารณาถึงเรื่องที่แชตจีพีทีได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายภายในเวลาไม่นาน

นายเจฟฟ์ ดีน หัวหน้าแผนกเอไอแจ้งกับพนักงานในเวลานั้นว่า บริษัท “มีความเสี่ยงเสียชื่อเสียงมากกว่าหากให้ข้อมูลผิดๆ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเคลื่อนไหวแบบระมัดระวังมากกว่าสตาร์ตอัปรายเล็ก” แต่เขาและพิชัยแหย่พนักงานว่า กูเกิลอาจเปิดตัวผลิตภัณฑ์คล้ายกันในปีนี้ก็ได้ ธุรกิจหลักของกูเกิล คือ การเสิร์ชผ่านหน้าเว็บ และกูเกิลอวดมานานแล้วว่าตนเป็นหัวหอกด้านเอไอ

ทั้งนี้ กูเกิลจะจัดงาน “Google presents: Live from Paris” ในวันพุธที่ 8 ก.พ.เวลา 8.30 น. หลายคนจับตาเทคโนโลยีใหม่จากกูเกิลรวมถึงตัวที่จะมาสู้กับ ChatGPT

ไมโครซอฟท์แถลงเพิ่ม ChatGPT

ขณะที่ ไมโครซอฟท์ แถลงข่าวทันทีเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกูเกิลประกาศเรื่อง Bard  โดยยืนยันแผนจัดแถลงข่าวในวันอังคาร (7 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น ที่อาจเกี่ยวข้องกับ ChatGPT

หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไมโครซอฟท์ ยืนยันผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันจันทร์ว่า จัดแถลงข่าวจริง แต่ไม่ยืนยันว่าเรื่องอะไร อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวออกมาไม่นาน แซม อัลต์แมน ซีอีโอของ โอเพนเอไอ ทวีตว่า เขาอยู่ในเมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ไมโครซอฟท์ และ “ตื่นเต้น” กับงานนี้

เมื่อเดือน ม.ค.ไมโครซอฟท์เคยประกาศว่า จะลงทุนครั้งใหม่เป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ กินเวลาหลายปีใน โอเพ่นเอไอ ผู้สร้าง ChatGPT ถือเป็นการพันธมิตรกันในเฟสที่ 3 หลังจากไมโครซอฟท์เคยลงทุนในโอเพ่นเอไอในปี 2562 และ 2564

หุ้นไป่ตู้พุ่ง 13% รับข่าวเปิดตัวแชตบอตเอไอ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า หุ้นบริษัทไป่ตู้ อิงค์พุ่งขึ้นกว่า 13% หลังจากทางบริษัทยืนยันว่ากำลังจะเปิดตัวบริการที่คล้ายกับแชตจีพีทีของบริษัทโอเพนเอไอในเดือนมี.ค. ซึ่งกระตุ้นความคาดหวังต่อการเข้าร่วมแข่งขันสร้างแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของจีน

หุ้นไป่ตู้พุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบประมาณ 3 เดือน หลังจากที่บริษัทระบุว่าได้ตั้งชื่อบริการแชตบอตว่า “เหวินซิน อีเยี่ยน” (Wenxin Yiyan) หรือ “เออร์นี บอต” (Ernie Bot) ในภาษาอังกฤษ โดยไป่ตู้ระบุว่า บริษัทจะดำเนินการทดสอบภายในให้เสร็จทันเวลาสำหรับการเปิดตัวในเดือนหน้า

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะรวมเออร์นีไว้ในบริการค้นหาหลักของตน โดยเครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับผลการค้นหาในรูปแบบการสนทนาเหมือนกับแพลตฟอร์มยอดนิยมของบริษัทโอเพนเอไอ

ทั้งนี้ ไป่ตู้ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับการค้นคว้าเกี่ยวกับเอไอมานานหลายปี เพื่อมุ่งเปลี่ยนผ่านจากการตลาดออนไลน์ไปสู่เทคโนโลยีที่ล้ำลึกขึ้น โดยระบบเออร์นี ซึ่งเป็นโมเดลการเรียนรู้ของเครื่องจักรขนาดใหญ่ (Large scale machine learning) ที่ได้รับการฝึกฝนด้านข้อมูลเป็นเวลาหลายปี จะเป็นรากฐานของเครื่องมือที่คล้ายกับ ChatGPT

หุ้นเทคโนโลยีเอไอจีนมาแรง

ด้วยกระแส ChatGPT ที่กำลังมาแรง ทำให้หุ้นเอไอจีนพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แม้ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดังกล่าวแต่นักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ก็อัดฉีดเงินลงไปในหุ้นบริษัทเทคโนโลยีเอไอ เช่น หันหวังเทคโนโลยี, ทีอาร์เอส อินฟอร์เมชัน เทคโนโลยี และคลาววอล์ค เทคโนโลยี

ดัชนี CSI อุตสาหกรรมเอไอ ที่มีบริษัททุนจดทะเบียนขนาดใหญ่อย่าง ไอฟลายเทค รวมอยู่ด้วย ปีนี้ขึ้นมาราว 17% เหนือดัชนี CSI 300 ที่ขยับขึ้นมา 6%

ทั้งนี้ บริษัทเอไอดังกล่าวไม่ได้เตรียมผลักดันผลิตภัณฑ์คล้าย ChatGPT แต่อย่างใด มีเพียงไป่ตู้เท่านั้นที่วางแผนทดสอบเออร์นีบอตให้แล้วเสร็จในเดือน มี.ค. ส่งผลหุ้นขึ้นกว่า 13% รับข่าว

นายจาง เกอชิง ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Beijing Gelei Asset Management กล่าวว่า อุตสาหกรรมในภาพรวมมีแนวโน้มเก็งกำไรจากความคาดหวังก่อนในตอนแรก ก่อนจะกลับมาซื้อขายตามผลที่เป็นจริงในภายหลัง

ปรากฎการณ์‘Perfect Storm’

นายเบิร์น เอลเลียต รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ ChatGPT เปิดให้บริการ ในโซเชียลมีเดียก็มีการถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมนี้มาปรับใช้ รวมถึงอันตรายที่อาจตามมา

เนื่องจากความสามารถในการวิเคราะห์หาข้อผิดพลาดของโค้ด (Debug Code) ไปจนถึงศักยภาพในการเขียนเรียงความสำหรับนักศึกษา

ChatGPT ถือเป็นปรากฎการณ์ Perfect Storm จากการรวมกันของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สองเรื่องใหญ่ๆ ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน คือ “แชทบอท” และ “GPT3” (Generative Pre-trained Transformer 3) ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นอย่างหนึ่งที่อยู่ใน โอเพ่น เอไอ สามารถสร้างบทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ แปลภาษา และเปลี่ยนรูปแบบการเขียนให้เหมือนมนุษย์ที่สร้างสรรค์ผลงานบทความวิจัยได้อย่างน่าทึ่ง อีกทั้งยังสามารถเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ด้วย

GPT3 นำเสนอวิธีการสื่อสารโต้ตอบพร้อมสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ เสมือนการพูดคุยกับมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ แชท บอทสร้างปฏิสัมพันธ์การสนทนาแบบ “ชาญฉลาด” ขณะที่ GPT3 สร้างเอาต์พุทที่ดู “เข้าใจ” คำถาม เนื้อหา และบริบทของการสนทนา เมื่อสองสิ่งนี้รวมกันได้สร้างผลกระทบใหญ่ จนเกิดคำถามว่า เรากำลังสนทนากับมนุษย์หรือคอมพิวเตอร์กันแน่หรือว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่เหมือนกับมนุษย์ การโต้ตอบบางครั้งสร้างความขบขัน บ้างนำเสนอข้อมูลลึกซึ้ง และบางทีก็เต็มไปด้วยสาระความรู้

"น่าเสียดายที่บางครั้ง ChatGPT ยังนำเสนอเนื้อหาได้ไม่ถูกต้อง และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจหรือสติปัญญาของมนุษย์ ปัญหาอาจอยู่ที่คำว่า เข้าใจ และ ความฉลาด ที่ขึ้นอยู่กับการป้อนข้อมูลของมนุษย์ ที่อาจมีความหมายคลุมเครือไม่ชัดเจน ดังนั้นเมื่อนำไปใช้กับอัลกอริธึม อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง" นายเอลเลียต กล่าว

ท้าทายประเด็น‘จริยธรรม’

นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบัน ไอเอ็มซี นักวิชาการด้านดิจิทัลในไทย กล่าวว่า ChatGPT ยังสร้างเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องอยู่มาก เพราะถ้าตั้งคำถามหรือป้อนข้อมูลที่ผิดเข้าไป ChatGPT จะพยายามตอบคำถามให้สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการ

"ChatGPT เป็นโปรแกรมเอไอ ยังขาดการคิดเชิงวิพากษ์ที่ดี ขาดชีวิตจิตใจที่เหมือนมนุษย์ ดังนั้นทักษะที่สำคัญที่ควรจะสอนนักเรียนหรือพนักงานในหน่วยงานให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีในอนาคต คือทักษะทางสังคม หรือ Soft Skill ต่างๆ ทั้งความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะการสื่อสาร ที่สำคัญยิ่งคือ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา ซึ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จทางวิชาการและการใช้ชีวิต"

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่า ChatGPT ไม่ใช่โปรแกรมที่มาทำงานแบบอับดุล ที่จะจินตนาการว่าจะถามอะไรก็ตอบได้ทุกเรื่อง และ ChatGPT ไม่ใช่เครื่องมือในการค้นข้อมูล (Search Engine) แบบกูเกิล ไม่ได้เชื่อมต่อกับข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่จะค้นข้อมูลแบบออนไลน์ได้

ใช้เงินมหาศาลเทรน ChatGPT

ChatGPT เป็นโปรแกรมแชตบอตที่มีความสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ ChatGPT เป็นโมเดลประมวลผลภาษาขนาดใหญ่ที่ใช้ข้อมูลที่ถูกเทรนมาตั้งแต่ปลายปี 2021 จึงไม่ได้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

การจะเทรนโมเดลอย่าง ChatGPT ขึ้นมาต้องใช้เงินมูลค่ามหาศาล ทั้งการเตรียมข้อมูล ใช้ทรัพยากรด้านสตอเรจ และเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลจำนวนมาก และยังมีค่าใช้จ่ายในการทำงาน เพื่อตอบคำถามผู้ใช้แต่ละครั้ง ซึ่งมีนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฉลี่ยครั้งละหนึ่งเซ็นต์ และบริษัทโอเพ่นเอไอ ผู้พัฒนาน่าจะมีค่าใช้จ่ายในการรัน ChatGPT เดือนละถึง 3 ล้านดอลลาร์