"Type-C" ดีอย่างไร? รู้จัก "สายชาร์จ" สากลที่ "iPhone" ยังถูกบังคับใช้ปีหน้า

"Type-C" ดีอย่างไร? รู้จัก "สายชาร์จ" สากลที่ "iPhone" ยังถูกบังคับใช้ปีหน้า

จากเสียงบ่นปนเรียกร้องให้ "iPhone" เปลี่ยนพอร์ตสำหรับชาร์จไฟให้ใช้กับสาย "USB-C" จนกลายเป็นกฎระดับสากลให้ปีหน้าสมาร์ทโฟนทุกแบรนด์ต้องใช้สายชาร์จประเภทนี้เหมือนกันทั้งโลก

หลังจากสหภาพยุโรป (อียู) อนุมัติกฎหมายอุปกรณ์ชาร์จตามมาตรฐาน USB-C ซึ่งหมายความว่าภายในปี 2567 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะต้องมีอุปกรณ์ชาร์จตามมาตรฐาน USB-C

การต่อสู้เรื่องนี้กินเวลายาวนานนับ 10 ปี จนกระทั่งผลักดันได้สำเร็จ นั่นทำให้ปีหน้า Apple ผู้ผลิต iPhone ซึ่งยังยืนหยัดใช้สายชาร์จแบบ Lightning มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนมาใช้ Type-C ตามกฎหมายของอียู โดยได้รับการยืนยันแล้วจาก เกร็ก จอสเวียก รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดโลกของ Apple Inc. ในการประชุมวอลล์สตรีท เจอร์นัล เทค ไลฟ์ เมื่อวันอังคารที่ 25 ต.ค. ว่า Apple จะปฏิบัติตามกฎหมายของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีผลิตอุปกรณ์ชาร์จตามมาตรฐาน USB-C

KT Review กรุงเทพธุรกิจไอที จะพาไปรู้จัก สายชาร์จเปลี่ยนโลกสายนี้ว่ามีดีอะไร ทำไมถึงทรงอิทธิพลถึงขนาดยักษ์ใหญ่ของโลกเทคโนโลยียังต้องยอม

ข้อดีของ Type-C

ช่วงหลายปีมานี้ ถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากสายชาร์จรูปแบบอื่น เช่น Micro USB มาเป็น "USB-C" หรือ "Type-C" จนแทบจะเปลี่ยนมาหมดทั้งวงการแล้ว ณ ปัจจุบัน เหตุผลที่ สายชาร์จ Type-C กลายเป็น Mainstream ของเทคโนโลยีการชาร์จไฟในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงสมาร์ทโฟน หลักๆ จะอยู่ที่ประสิทธิภาพด้านการชาร์จ

สายชาร์จ USB-C มีเทคโนโลยีชาร์จไว (Fast Charge) ซึ่งมีหลายประเภท หลักๆ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ชาร์จไวด้วยกระแสไฟฟ้าหรือแอมป์ เป็นการเพิ่มค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยให้ชาร์จได้ไวขึ้น มีหน่วยของกระแสไฟเป็นวัตต์ (W)

ประเภทต่อมาคือชาร์จไวด้วยแรงดันไฟฟ้า เป็นการเพิ่มค่าแรงดันไฟฟ้า หรือโวลท์ (V) มักจะใช้ในสมาร์ทโฟนระดับเรือธง การเพิ่มโวลท์ให้สูงขึ้นเพื่อให้กระแสไฟฟ้าเข้าได้เร็วขึ้น

อีกข้อดีของ "Type-C" คือ เป็นสายชาร์จที่เสียบได้ทุกด้าน ไม่ต้องพลิกหาฝั่งที่ถูกต้อง และเมื่อทุกแบรนด์รวมถึงทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนมาใช้สายชาร์จประเภทเดียวกันหมดก็จะช่วยลดจำนวนการซื้อและใช้สายชาร์จที่แตกต่างกันไปด้วย

สาย Type-C ก็มีความแตกต่าง

ในจักรวาลของ สาย Type-C ยังแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบสาย Type-A to Type-C ที่ด้านหนึ่งคือพอร์ต USB ที่เราคุ้นเคย และแบบสาย Type-C to Type-C ที่เป็นพอร์ต USB-C ทั้งสองข้าง แน่นอนว่าสองแบบนอกจากทางกายภาพแล้วก็ยังแตกต่างในแง่ประสิทธิภาพ

ระยะหลังจะเห็นว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรวมถึง Device อื่นๆ มักจะใช้สายแบบ Type-C to Type-C เนื่องจากรองรับเทคโนโลยี Power Delivery (PD) ซึ่งนอกจากจะชาร์จสมาร์ทโฟนได้แล้ว ยังชาร์จแล็ปท็อปบางรุ่น, MacBook Pro, iPhone หรือ iPad ได้อีกด้วย โดยชาร์จเร็วได้สูงสุดที่ 50V/2A (100W) ซึ่งแบรนด์ที่ใช้เทคโนโลยีชาร์จเร็วนี้ คือ SAMSUNG, HUAWEI, Apple, Xiaomi และ ASUS

อีกเทคโนโลยีคือ Qualcomm Quick Charge (QC) เทคโนโลยีชาร์จเร็วที่ถูกพัฒนาโดย Qualcomm ซึ่งชาร์จเร็วได้สูงสุดที่ 20 V/5A (100W) โดยแบรนด์ที่ใช้เทคโนโลยีชาร์จเร็วนี้ คือ Xiaomi, SAMSUNG, ASUSและ Vivo

ที่สำคัญ "สายชาร์จ Type-C" แบบนี้ยังใช้ Data Transfer ได้เกือบหมด ในขณะที่ Type-A to Type-C จะต้องเป็นรุ่นที่รองรับการส่งข้อมูลเท่านั้น

และนอกจากนี้ยังมี Subset ของ "สายชาร์จ USB-C" อีก เช่น Type-C 3a คือสายชาร์จที่รองรับเทคโนโลยี Fast Charge ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกติ ช่วยให้การชาร์จลื่นไหล ชาร์จไว รับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว และในสมาร์ทโฟนที่รองรับสายแบบนี้ก็ทำ Reverse Charge ผ่านสายได้ด้วย

ไม่ว่าสายชาร์จแบบ "Type-C" จะมีดีแค่ไหน แต่ก็อย่าชะล่าใจ เพราะในความเจ๋งของสายชาร์จแบบนี้ก็ยังมีทั้งสายที่ไม่ได้คุณภาพและสายประสิทธิภาพต่ำ ที่ไม่ได้ช่วยให้การชาร์จหรือการรับส่งข้อมูลทำได้ไวหรือไหลลื่นกว่าปกติ เบื้องต้นให้เลือกใช้สายชาร์จและอะแดปเตอร์ของค่ายเดียวกับสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ที่ใช้จะทั้งปลอดภัยและได้ประสิทธิภาพมากที่สุด