‘ไอบีเอ็ม ควอนตัม’ เดิมพัน ก้าวใหม่ ‘โลกเทคโนโลยี’

‘ไอบีเอ็ม ควอนตัม’ เดิมพัน  ก้าวใหม่ ‘โลกเทคโนโลยี’

"ควอนตัม คอมพิวติง" เป็นพาราดามใหม่ของการพัฒนาทางเทคโนโลยี แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว หลักการทางฟิสิกส์ที่ฟังดูยาก ทว่าสิ่งที่คาดหวังได้เมื่อเกิดขึ้นจริง คือ ความเปลี่ยนแปลง “ระดับพลิกโฉม” ทำให้การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลสำเร็จได้ภายในเวลาหลักวินาที...

เจอรี เชาว์ IBM Fellow และผู้อำนวยการระบบโครงสร้างพื้นฐานควอนตัม ศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม เปิดมุมมองว่า เป้าหมายสำคัญในวันนี้คือการพาควอนตัมคอมพิวติงออกจากการทดลองในห้องแล็บสู่การใช้งานจริง

รวมไปถึง การทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิค และการใช้ศักยภาพของควอนตัมคอมพิวติงในการต่อกรกับปัญหาสำคัญๆ ของโลก อย่างเรื่องโลกร้อน หรือแม้แต่การสร้างโมเดลแมชีนเลิร์นนิงจำนวนมหาศาลสำหรับเอไอ

ไอบีเอ็มทราบดีว่า การจะนำพาควอนตัมคอมพิวติงไปสู่การใช้งานจริงได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม อีโคซิสเต็มธุรกิจ รวมถึงภาคการศึกษา เพื่อสำรวจแนวทางการใช้งานที่เป็นไปได้ร่วมกัน 

ที่ผ่านมา เหตุผลที่ทำให้องค์กรธุรกิจต่างๆ เลือกใช้ไอบีเอ็มควอนตัม มาจากการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำในภาคอุตสาหกรรม โรดแมปชัดเจน มีการติดตามวัดผลต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสามารถเข้าถึงคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ที่สุดของทั้งยูสเซอร์ นักพัฒนา ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ รวมถึงสถาบันวิจัยต่างๆ

ไอบีเอ็มยังได้ขยายการเข้าถึงโดยพยายามไม่ให้เกิดช่องว่างที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา มีการทำงานร่วมกับคอมมูนิตี้ เช่น โอเพ่นซอร์ทและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ท้าทายตลาดแสนล้านดอลล์

ผลการศึกษาของ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ระบุว่า ตลาดควอนตัมคอมพิวติงจะมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในการใช้งานที่เกี่ยวกับการจำลองธรรมชาติ อาทิ การผลิตตัวยาใหม่ วัสดุใหม่ แบตเตอรีชนิดใหม่ การวิเคราะห์แนวทางที่มีศักยภาพมากขึ้นในการขนส่งก๊าซแอลเอ็นจี ฯลฯ

ขณะที่ การนำควอนตัมคอมพิวติงมาใช้กับข้อมูลที่มีโครงสร้างรวมถึงเอไอจะเป็นตลาดที่คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เห็นความก้าวหน้าที่น่าจับตามอง นับตั้งแต่การที่ไอบีเอ็มเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปทดลองใช้ระบบผ่านคลาวด์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2559

ปีที่ผ่านมาควอนตัมคอมพิวติงแตะระดับ 127 คิวบิท (Qubit) ได้เห็นการปักหมุดปั้นเครื่องออสปรีที่มาพร้อมชิป 433 คิวบิทภายในปีนี้ และคอมพิวเตอร์ควอนตัม “คอนดอร์” (IBM Quantum Condor) ที่ไอบีเอ็มตั้งเป้าให้แตะ 1,121 คิวบิท ภายในปีหน้า

พลังใหม่-ทลายข้อจำกัดเดิม

ด้าน สก็อต คราวเดอร์ รองประธานด้านการขยายการใช้งานควอนตัม ไอบีเอ็ม เผยว่า ปัจจุบันไอบีเอ็มกำลังมีความร่วมมือในการนำควอนตัมคอมพิวติงเข้าแก้ปัญหาสำคัญๆ ที่คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้

ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือกับโบอิ้ง เดมเลอร์ เอ็กซอน ฯลฯ รวมถึงความเคลื่อนไหวในเอเชีย อาทิ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคโอะและมิตซูบิชิเคมิคอลในการพัฒนาแบตเตอรีรูปแบบใหม่ที่มีน้ำหนักเบากว่าลิเธียมไอออน แต่ทรงพลังมากกว่าหลายเท่า เพื่อทลายข้อจำกัดด้านสมรรถภาพของรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งยังมีความร่วมมือกับเจเอสอาร์และมิตซูบิชิ เคมิคอลในการวิเคราะห์โครงสร้างโมเลกุลเพื่อหาวัสดุทางเลือกสำหรับการผลิตจอโอแอลอีดี แทนที่วัสดุที่หายากและราคาแพงในปัจจุบัน

นอกจากนี้ มีความร่วมมือกับธนาคารเอสเอชบีซีในการวิเคราะห์การจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่จะตอบโจทย์, ช่วยด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ดีขึ้น ฯลฯ

ปักธงขยายเครือข่ายเวิลด์ไวด์

ปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนใช้งานควอนตัมคอมพิวติงของไอบีเอ็มแล้วกว่า 410,000 คน โดยแต่ละวันมีการรันกว่า 3,500 ล้านวงจรควอนตัม บนควอนตัมคอมพิวติงกว่า 20 ระบบของไอบีเอ็ม

โดยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องออกมาแล้วกว่า 1,400 ชิ้น มีมหาวิทยาลัยที่สอนคอร์ส Qiskit แล้วกว่า 280 แห่ง และมีคนที่เข้ามาเรียนคอร์สควอนตัมคอมพิวติงออนไลน์แล้วกว่าสามล้านคน

แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ “ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ” โดยสิ่งที่ไอบีเอ็มได้เริ่มทำแล้วตอนนี้คือการรับนักศึกษา 5,000 คนทั่วโลกในแต่ละปีเข้าร่วมโรงเรียนควอนตัมภาคฤดูร้อน พร้อมเปิดให้นักพัฒนาเข้าใช้ชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ Qiskit ได้ฟรี รวมถึงเดินหน้าเปิดคอร์สเรียนในภาษาต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเปิดกว้างให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่เชี่ยวชาญด้านเอไอหรือนักพัฒนาอัลกอริธึมจะเป็นกลุ่มที่สามารถปรับเข้าสู่สายงานที่เกี่ยวข้องกับควอนตัมคอมพิวติงได้ด้วยเช่นกัน