โลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลน ‘ทราย’ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

โลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลน ‘ทราย’ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

เมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่ผมกำลังหาอะไรดูบน YouTube อยู่นั้น ผมไปเอะใจกับคลิป ๆ หนึ่งที่มีชื่อว่า “Are We Running Out of Sand?” หรือแปลว่า หรือพวกเรากำลังขาดแคลนทราย ผมค่อนข้างตกใจและไม่อยากจะเชื่อว่าโลกเรากำลังจะขาดแคลนทราย

เพราะทรายเกิดขึ้นตามธรรมชาติมาหลายพันล้านปี ทรายส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาและก่อตัวเป็นแม่น้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทร ทรายมีอยู่ทุกที่ตั้งแต่ในโกดังของบริษัทลูกค้าผม จนไปถึงชายหาดสวยงามของเมืองไทยอย่างเกาะขามที่ชลบุรี หรือหาดทรายรีที่เกาะเต่า

จนกระทั่งการที่ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเดินทางมาเยือนไต้หวันในคืนวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย วันถัดมามีข่าวว่าทางประเทศจีนระงับการส่งออกทรายให้กับไต้หวัน ซึ่งทรายเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการทำไมโครชิพ 

บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในการทำไมโครชิพคือบริษัท ทีเอสเอ็มซี (TSMC) ของไต้หวัน สิ่งนี้ก็จะทำให้ทั่วโลกขาดแคลนไมโครชิพยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งแต่เดิมก็ขาดแคลนมากอยู่แล้ว เพราะแทบจะทุกอย่างที่เราใช้ทุกวันนี้ก็มีไมโครชิพอยู่ในนั้น ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า (ev) เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ทำให้ผมตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น และอยากมาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านได้อ่านว่าโลกนี้ได้ขาดแคลนทรายจริง ๆ

โลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลน ‘ทราย’ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

(ภาพถ่ายโดย Moussa Idrissi)

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจกันก่อนว่า ทรายเป็นวัตถุดิบทางธรรมชาติที่เราใช้มากสุดเป็นอันดับสองรองจากน้ำ ทรายสามารถหาได้แทบทั่วทุกมุมโลก และทรายเองถูกใช้เพิ่มขึ้นมา 3 เท่าจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้ทุกวันนี้เราใช้ทรายมากกว่าการที่ขุดเจอ 

ทรายเป็นส่วนผสมในแทบจะทุกอย่างที่เราใช้ ตั้งแต่คอนกรีต หน้าต่าง กระจก ลูกกอล์ฟ เครื่องสำอาง ชิพคอมพิวเตอร์ สีทาบ้าน หรือแม้กระทั่งไวน์ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าทำมาจากทรายและถูกใช้มากสุดคือคอนกรีต ซึ่งคอนกรีตใช้ประมาณร้อยละ 65 ถึง 75 ของทรายในการทำขึ้นมา 

ผลิตภัณฑ์อย่างที่สองที่จำเป็นที่จะต้องใช้ทรายเป็นอย่างมากคือ กระจก ซึ่งรวมไปถึงจอคอมพิวเตอร์ จอแท็บเล็ต และจอโทรศัพท์มือถือ กระจกต้องใช้ทรายประมาณร้อยละ 70 ของส่วนประกอบในการผลิตขึ้นมา ทรายส่วนใหญ่ที่ใช้ในทุกๆ อุตสาหกรรมไม่ใช่ทรายที่หากันตามทะเลทรายต่างๆ แต่เป็นทรายที่ต้องขุดจากก้นลึกของมหาสมุทร แม่น้ำ ตามชายฝั่ง เพราะทรายในทะเลและทรายในทะเลทรายแตกต่างกัน

ทรายในทะเลหรือแม่น้ำจะมีเหลี่ยมที่คมกว่าทรายในทะเลทรายที่มีความละมุนและละเอียดมากกว่าทรายในทะเล ดังนั้นแล้วทรายที่เอาไปใช้ในทุก ๆ อุตสาหกรรมจะเป็นทรายที่หาได้ตามชายหาดเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ทรายในทะเลมีราคาแพงกว่าทรายในทะเลทราย ดังนั้น อุตสาหกรรมการขุดทรายเลยเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก 

โลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลน ‘ทราย’ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

(ภาพถ่ายโดย Visit Almaty)

ในบรรดาทรัพยากรที่เราขุดขึ้นมาจากพื้นโลก เช่น น้ำมัน ทองคำ หรือแร่หินหายาก (Rare Earths) ทรายเป็นสิ่งที่คนขุดออกมาจากพื้นโลกมากที่สุด มากกว่าน้ำมันเสียอีก แต่ผลกระทบที่ตามมาก็แสนจะสาหัส

เพราะพอเราขุดทรายจากพื้นทะเลขึ้นมา เราได้นำเอาสารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ปลาตัวเล็กตัวน้อยกินออกไป มันก็ส่งผลกลายเป็นลูกโซ่ ปลาตัวเล็กหาอาหารได้ยากขึ้น ทำให้ปลาตัวใหญ่ก็หาอาหารได้ยากขึ้น ทำให้ทั้งแม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร เกิดความปั่นป่วนเต็มไปหมด นอกจากนั้นเองการขุดทรายยังทำให้พื้นทะเลลึกขึ้น และทำให้แม่น้ำกว้างขึ้น ก่อให้เกิดภัยทางธรรมชาติได้ง่ายยิ่งขึ้น และน้ำท่วมบ่อยยิ่งขึ้น

เมื่อทรายถูกดึงออกจากพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว มันสร้างปัญหาต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมที่อาจกลายเป็นภัยคุกคามทางกายภาพ แต่การขุดทรายก็ยังจำเป็นอยู่ทั่วโลก เพราะประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นก็ทำให้การขยายเมืองใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

ทำให้การบริโภคทรายเพิ่มขึ้นตาม อุตสาหกรรมที่ใช้ทรายมากสุดในโลกก็คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมก่อสร้าง หากถามว่าในหนึ่งปีผู้คนในโลกบริโภคทรายมากเท่าใดคงจะตอบไม่ได้ แต่สามารถเชื่อมโยงจากปริมาณคอนกรีตที่ถูกใช้ทั่วโลกได้ 

จากรายงานของสหประชาชาติ ระบุว่าในทุก ๆ ปีจะมีคอนกรีตที่ต้องใช้ประมาณ 4.1 พันล้านตัน ซึ่งทุก ๆ 1 ตันของคอนกรีตจะต้องใช้ทรายประมาณ 10 ตัน ทำให้ตัวเลขจะออกมาว่าเราใช้ทรายปีหนึ่งประมาณ 4.1 หมื่นล้านตันต่อปี และนี่เป็นเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างเพียงอย่างเดียวด้วยนะครับ 

ตัวเลขจากทาง Wall Street Journal กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่เจริญเติบโตมากที่สุดอย่างประเทศจีนได้ใช้คอนกรีตพอ ๆ กับทางสหรัฐใช้ทั้งศตวรรษที่ 20 เลย

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีตัวเลขการใช้ทรายอีกแห่งหนึ่งคือ อุตสาหกรรมไมโครชิพ ซึ่ง 1 กิโลกรัมของซิลิคอนไมโครชิพ ต้องใช้ประมาณ 2.6 กิโลกรัมของทราย อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้ทรายมากเหมือนกันคืออุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมัน ในการขุดเจาะน้ำมันแบบวิธีแฟรกกิ้ง (Fracking)

ซึ่งมีความต้องการทรายในการขุดเจาะให้หลุมใหญ่ขึ้นและลึกขึ้น เพียงแค่ในสหรัฐที่เดียว มีการคาดการณ์ตัวเลขว่าต้องใช้ทรายถึง 115 ล้านตันตอนปี 2562 ในการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งตัวเลขนี้ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน

ถึงแม้ว่าการขุดทรายจะมีมากกว่าการขุดน้ำมัน แต่อุตสาหกรรมนี้ยังขาดกฎเกณฑ์และระเบียบในการดำเนินงานอยู่ค่อนข้างมาก แม้แต่ข้อมูลของการขุดทรายในแต่ละพื้นที่ยังไม่มีเลย ทำให้ในบางแห่งในโลกเกิดการขโมยพื้นที่ขุดทรายจากชาวบ้านและการรุกรานของน่านน้ำในแต่ละประเทศสำหรับการขุดทราย

ในบางแห่งของโลกถึงกับมี “แก๊งมาเฟียทราย” ประเทศอย่างกินี กานา อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยในประเทศอินเดียถึงกับมีการฆาตกรรมผู้สื่อข่าวและชาวบ้านที่พยายามเปิดโปงเรื่องการขุดทรายแบบผิดกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองต่าง ๆ

การที่เราขาดแคลนทรายในขณะนี้ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตเราจะไม่มีชายหาดริมฝั่งทั่วโลกแล้วนะครับ แต่มันแปลว่าการขุดหาทรายง่าย ๆ จะทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเสมือนกับการขุดหาน้ำมันที่เราหายากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ณ ตอนนี้ทั้งสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังหาวิธีที่จะสามารถรีไซเคิลทรายได้ หรือผลิตบางอย่างขึ้นมาที่จะสามารถทดแทนการใช้ทรายได้ 

แต่ปัญหาต่อมาก็คือในเมื่อการขุดหาทรายหรือต้นทุนของทรายนั้นต่ำมาก คงเป็นเรื่องยากที่จะหาอะไรมาทดแทนได้ ณ ตอนนี้ครับ

 

คอลัมน์:  คุยให้...“คิด”
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ApolloX Solutions
[email protected]