ชวน "ประเมิน EF สำหรับวัยรุ่น" 8 ทักษะที่ควรมี

ชวน "ประเมิน EF สำหรับวัยรุ่น" 8 ทักษะที่ควรมี

"วัยรุ่น" เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญ เพราะเป็นช่วงรอยต่อการเติบโตจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ "การประเมิน EF" จึงมีความสำคัญต่อวัยรุ่นอย่างมาก เนื่องจากไม่ใช่เพียงการพัฒนาสมองเท่านั้น แต่ยังเป็นการบริหารความคิด การยับยั้งชั่งใจ อันนำไปสู่พฤติกรรมของวัยรุ่น

"วัยรุ่น" สมองส่วนอารมณ์จะเติบโตเร็วกว่าสมองส่วนหน้า หรือสมองส่วนเหตุผล ส่งผลให้วัยรุ่นจะคิดเร็ว ทำทันที และการยับยั้งชั่งใจอาจไม่ดี จนอาจทำให้ตัวเองไปสู่ภาวะความเสี่ยงมากมาย หากวัยรุ่นไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา

ขณะเดียวกัน หากวัยรุ่นได้รับการฝึกทักษะ โดยเฉพาะ "ทักษะด้านการคิดเชิงบริหาร หรือ Executive Functions (EF)" ซึ่งการทำหน้าที่ระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำได้ เช่น การมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำไม่วอกแวก ยั้งคิดก่อนทำไม่หุนหันพลันแล่น ซึ่ง EF มีความสัมพันธ์กับชีวิตการเรียน การทำงาน และการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม โดยเป็นทักษะที่เหมาะกับการพัฒนาตั้งแต่วัยเด็กประกอบกับการเติมทักษะ EF จะทำให้สมองส่วนหน้าของวัยรุ่นตอนปลายเติบโตพัฒนาได้ดีขึ้น ก็จะทำให้สมองส่วนหน้าไปควบคุมการคิด พฤติกรรมที่ดี

"โครงการวิจัย การพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองขั้นสูง (EF) สำหรับวัยรุ่นไทย" จัดทำโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในการจัดทำประเมิน EF สำหรับวัยรุ่น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :   ทำความรู้จัก EF + SELF ทักษะสำคัญของเด็กปฐมวัย

                           ทำไม "พ่อ-แม่"ต้องเข้าโรงเรียน

                           ไขปัญหา ทักษะ 'ภาษาอังกฤษ' คนไทย 'ร่วง' ซ้ำซ้อน เพราะอะไร?

                          เที่ยวบางใหญ่ นนทบุรีจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก จะไปไหนดี?

 

  • “วัดสมอง EF วัยรุ่นไทย ด้วยแบบประเมิน MU.EF-A”

ดร.นุชนาฎ รักษี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เล่าว่าสมองส่วนหน้าจะได้รับการพัฒนาสูงสุดตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงวัยรุ่น และเจริญเติบโตเต็มที่ในช่วงอายุ 25 ปี ซึ่งการประเมินทักษะ EF สำหรับวัยรุ่นที่ผ่านมาจะเป็นการใช้โปรแกรม แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ แต่หลังจากนี้ ทุกโรงเรียน หรือนักเรียนทุกคนสามารถประเมิน EF ได้ด้วยตนเอง ผ่านเว็บไซต์ www.MUEF-teenager.com 

"การประเมินดังกล่าว เพื่อทำให้ทราบจุดเด่น จุดด้อยของวัยรุ่น นำไปสู่การส่งเสริมฟื้นฟู พัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น อันนำไปสู่เตรียมความพร้อมให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิด ปรับตัวได้ แก้ปัญหาได้ และประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงาน"ดร.นุชนาฎ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับทักษะ EF จะมีความจำใช้งาน การวางแผนจัดการ ใช้เหตุผล การแก้ปัญหา การปรับตัว , ความจำใช้งาน เปลี่ยน task Switch การติดตามประเมินผล ,การยับยั้งชั่งใจ ตั้งเป้าหมาย พฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม และการยับยั้งชั่งใจ ตัดสินใจ และแรงจูงใจ

  • ทักษะ EF  8 ตัวบ่งชี้ ที่เด็กวัยรุ่นต้องมี 

ในช่วงวัยรุ่น ถ้าเด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์  จะใช้ทักษะของ EF ทำงานเป็นทีม วงจรประสาทจะแข็งแรงมากขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมนิสัยที่มั่นคง เกิดเป็นบุคลิกภาพและอัตลักษณ์ตัวตนของเด็ก

โดยทักษะ EF คือการทำหน้าที่ระดับสูงของสมองหน้าที่ช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำ จนเกิดพฤติกรรที่มุ่งสู่เป้าหมาย

สำหรับทักษะ EF 8 ตัวบ่งชี้ มีดังนี้ 

  1. การยับยั้ง พฤติกรรม 
  2. การเปลี่ยน/ความคิดยืดหยุ่นในการคิด
  3. ความจำขณะทำงาน 
  4. การควบคุมอารมณ์
  5. การวางแผนจัดการ 
  6. การทำงานจนสำเร็จ
  7. การติดตามประเมินผล 
  8. การจัดการสิ่งของ

 

 

 

 

  • ค้นพบปัญหา ศักยภาพของตนเองตั้งแต่วัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม แบบประเมิน EF สำหรับวัยรุ่น จะแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ คือ

องค์ประกอบที่ 1 การหยุด ยับยั่งพฤติกรรม ,การติดตามประเมินผล

องค์ประกอบที่ 2 การเปลี่ยน/ความคิดยืดหยุ่นในการคิด , การควบคุมอารมณ์

องค์ประกอบที่ 3 ความจำขณะทำงาน , การวางแผนจัดการ , การจัดวางสิ่งของ และ การทำงานให้สำเร็จ

"เด็กที่มีความจำที่ดี จะส่งผลต่อทักษะ EF ในเรื่องการยับยั้งชั่งใจ และทำให้เกิดคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล แก้ปัญหา และเริ่มต้นการทำงานด้วยตนเอง มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำ ดังนั้น ประเมินทักษะEFจะช่วยให้เด็กค้นพบทั้งศักยภาพและปัญหาของตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้พวกเขาปรับตัวได้ แก้ปัญหาเป็นและประสบความสำเร็จในการเรียน ทำงาน อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ และลดปัญหาสังคมดร.นุชนาฎ กล่าว

  • กระบวนการพัฒนาประเมิน EF วัยรุ่นฉบับไทย 

การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพแบบการประเมิน จะมีข้อคำถามทั้งหมด 42 ข้อ ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลเด็กวัยรุ่นไทย 11-18 ปี  5 ภูมิภาค จำนวน 2,400 คน พบว่า ระดับทักษะ EFของวัยรุ่น 5.54 อยุ่ในระดับดีมาก 23.13 ระดับดี 45.17 ระดับปานกลาง 22.67 ควรพัฒนา และ 3.50 ควรปรับปรุง 

นอกจากนั้น ด้านที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ใน 3 อันดับแรก ได้แก่  1. ทักษะความสามารถในการทำงานให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ทักษะควบคุมอารมณ์  และทักษะการหยุด ยับยั้งชั่งใจ 

ส่วนเมื่อเปรียบเทียบเด็กนักเรียนโรงเรียนในเมืองกับเด็กนักเรียนโรงเรียนนอกเมือง พบว่า เด็กนักเรียนโรงเรียนในเมืองมี EF ที่สูงกว่า เด็กนักเรียนโรงเรียนนอกเมือง  แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่าผลการวิจัยดังกล่าวจะทำให้ทราบสถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเด็กวัยรุ่นในยุคนี้จะเติบโตเป็นทรัพยากรของประเทศ จะเป็นผู้ดูแลเด็กรุ่นใหม่ และผู้สูงอายุ

"โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีคามคิดที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในอนาคตได้ ต้องมีอภิปัญญา ต้องรู้กระบวนการคิด การใช้ความคิด การควบคุมความคิด และนำไปสู่พฤติกรรมของเด็ก ว่าจะเป็นคนแบบไหนถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จะใช้อย่างมีประโยชน์ เพื่อเฝ้าระวัง และนำไปสู่การวางแผนในการแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์"รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยกระดับการต่อยอดงานวิจัย ขับเคลื่อนงานวิจัยให้สู่การใช้ประโยชน์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือไปยังผู้ใช้ประโยชน์ ผลักดันให้เกิดกลไกการพัฒนาด้วยงานวิจัย นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

"วช.สนับสนุนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อให้ได้เครื่องมือ แบบวัดในการประเมินสมองชั้นสูงสำหรับวัยรุ่นไทย เพื่อใช้ประเมินตนเอง สามารถใช้ได้ง่าย มีความเที่ยงตรง มีคุณภาพ รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้นำไปใช้ประเมินศักยภาพ และปัญหาของเด็ก เพื่อให้เข้าใจ ประเมินความคิด พฤติกรรมวัยรุ่น 11-18 ปี โดยเฉพาะในเรื่องการคิดแก้ปัญหา การวางแผน การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ การตระหนักรู้ของตนเองและมีความเหมาะสมกับบริบทต่อสังคมของไทย"ดร.วิภารัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจ ประเมิน EF สำหรับวัยรุ่น สามารถคลิ๊กเข้าประเมินตนเองได้ที่  www.MUEF-teenager.com