ทำความรู้จัก EF + SELF ทักษะสำคัญของเด็กปฐมวัย

ทำความรู้จัก EF + SELF ทักษะสำคัญของเด็กปฐมวัย

เมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยน เกิดคำถามว่าเป้าหมายในการพัฒนาเด็กเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และต้องพัฒนาให้เชื่อมโยงอย่างไร การพัฒนาเด็กไม่ได้มีแค่พัฒนาการ 4 ด้าน สังคม อารมณ์ จิตใจ สติปัญญา แต่ยังมี EF และ SELF ซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน

วานนี้ (4 ตุลาคม) ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวในเวทีระดมความคิด ฝังรากองค์ความรู้ EF + SELF บนฐานพัฒนาการรอบด้านของเด็กปฐมวัย เพื่อความงอกงามและมั่นคงในโลก absolute VUCA ภายในงาน TEP Learning ถึงเวลาสร้างจินตนาการใหม่การศึกษาไทย ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ TEP  - Thailand Education Partnership ภาคีเพื่อการศึกษาไทย 

โดยอธิบาย ว่า EF (Executive Functions) เป็นกระบวนการทางความคิด (Mental process) ในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ และการทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนบรรลุความสำเร็จ เป็นทักษะสมองที่จำเป็นในการเจอสถานการณ์ท้าทาย

EF ประกอบด้วยทักษะ 9 ด้าน ได้แก่ 1. Working memory ความจำที่นำมาใช้งาน 2. Inhibitory Control การยั้งคิด และควบคุมแรงปรารถนาของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3. Shift หรือ Cognitive Flexibility การยืดหยุ่นความคิด 4. Focus / Attention การใส่ใจจดจ่อมุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง 5. Emotional Control การควบคุมอารมณ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 6. Planning and Organizing การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย 7. Self -Monitoring การรู้จักประเมินตนเอง 8. Initiating การริเริ่มและลงมือทำงานตามที่คิด และ 9. Goal-Directed Persistence ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย

 

ผศ.ดร. ปนัดดา กล่าวต่อไปว่า “เด็กปฐมวัย” อะไรก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา โดยเฉพาะในการเดินเข้าไปในสถานศึกษา จึงจำเป็นต้องใช้ EF ในการกำกับความรู้สึกตัวเองให้ได้ คนเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้ EF ต้องทำงาน ครูต้องเข้าใจพัฒนาการกระบวนการทักษะสมองของ EF ว่าทำอย่างไรให้ EF เด็กทำงาน

ขณะที่เรื่อง SELF เป็นเรื่องเก่า เอามาเล่าใหม่ เพราะ EF จะทำงานได้ต้องเริ่มจากตัวตน ความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวกับตัวเราเองว่ามองตัวเองเป็นอย่างไร โลกเป็นอย่างไร เกี่ยวกับการตัดสินใจในพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง ดังนั้น ครูจำเป็นอย่างมากที่จะรู้จักพัฒนาการด้านตัวตนและพัฒนาทักษะสมองด้าน EF หากเรามุ่งส่งเสริมพัฒนาการ 4 ด้าน หลายครั้งที่เราทำให้เด็กเสียเซลฟ์ และยับยั้งการพัฒนาของทักษะสมอง EF

เช่น เด็กเล็ก เวลาเขาอยากเรียนรู้ เขาจะแย่งไปนั่งข้างหน้า แต่พอเราโตขึ้นกลับแย่งกันนั่งข้างหลัง เราต้องดูว่า “ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เราแย่งกันนั่งข้างหลัง” เพราะกลัวครูถาม กลัวตอบไม่ได้ หากเด็กคนหนึ่งไม่กล้าคิด ไม่กล้าถาม ไม่กล้าตอบ จะเรียนรู้อย่างไร ดังนั้น พัฒนาการ 4 ด้าน ต้องเพิ่มอีก 2 ด้าน และถนอมพัฒนาการด้านตัวตนของเด็ก ให้โอกาสเด็กได้ใช้ EF เยอะ ๆ  

  • สมองและอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวพันกัน

สำหรับ “ตัวตน” เมื่อเราเสียเซลฟ์ หรือสูญเสียความมั่นใจ ดังนั้น 3 ขั้น ที่ทำให้เด็กรู้สึกมีตัวตน ขั้นแรก คือ “ขั้นวัตถุมีอยู่จริง” เด็กแม้ไม่เห็นแต่รู้ว่ามีอยู่ เรารู้สึกว่าคนๆ นั้นทำให้เรารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เช่น เรามีแม่อยู่ในใจ “เกิดความผูกพัน” แบบปลอดภัย และ “รู้สึกตัวเองมีตัวตนอยู่จริง” กล้าคิด กล้าแสดงออก แสดงตัวตนของตัวเอง เมื่อเรากล้าคิด EF จะทำงาน แต่หากเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยจะเปลี่ยนโหมดป้องกันตัวเองทันที

  • 5 สิ่งที่ควรมีอยู่จริง

ผศ.ดร. ปนัดดา กล่าวต่อไปว่า ยืนยันว่า ครูจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องพัฒนาการด้านตัวตน พัฒนาการ 4 ด้าน และพัฒนาการของทักษะสมอง EF และที่สำคัญ วิธีการที่ครูสอน ต้องคอยรักษาพัฒนาการสามด้านนี้ให้สมดุล เพราะ EF จะทำงาน เขาต้องดึงประสบการณ์เดิมออกมาใช้ เพื่อประมวลผลกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนจะคิด ติดสินใจ แก้ไขปัญหา ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ที่มีค่า ในช่วงปฐมวัย จะเป็นต้นทุนในการเผชิญกับสถานการณ์ในอนาคต

5 สิ่งมีอยู่จริง” ได้แก่ 1. ครูมีอยู่จริง ครูต้องมีความมั่นคง ปลอดภัย ไว้ใจได้ เป็นที่ปรึกษาได้ตลอด ไม่ซ้ำเติม 2. เด็กมีอยู่จริง ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีอยู่จริง ครูต้องปฏิสัมพันธ์กับเด็กให้ครบทุกคน อนุญาตให้เด็กได้คิด 3. โอกาสและความสำเร็จต้องมีอยู่จริง ซึ่งอยู่ในหลักสูตรปฐมวัย ครูต้องดึงหลักสูตรออกมาใช้ และยื่นโอกาสให้กับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกประสบความสำเร็จบางอย่าง ถามอย่างไรให้เด็กตอบได้ แบ่งคำถามให้แต่ละคนตอบได้ 4. พ่อแม่ต้องมีอยู่จริง ครูปฐมวัยต้องทำงานกับพ่อแม่ และ 5. เพื่อนร่วมงานของครูต้องมีอยู่จริง ทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย

“แนวทางปฏิบัติ 5 สิ่งมีอยู่จริง จัดทำขึ้นเพื่อให้ครูปฐมวัย ได้เห็นว่า การที่จะก้าวมาเป็นครูปฐมวัย เราควรมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เราเล่นผิดบทบาท เราต้องเป็นครูมีอยู่จริง ให้เด็กมีอยู่จริง จัดกิจกรรมที่หลักสูตรมี ครอบครัวพ่อแม่ก็มีอยู่จริง และเพื่อนร่วมงาน ต้องทำงานร่วมกัน และสุดท้ายผู้บริหารต้องมีอยู่จริง”  

“ในทางกลับกัน หากครูต้องอยู่ในห้องเรียนที่ไม่มีสีสัน ครูก็คงไม่มีความสุขในห้องเรียนที่ตัวเองใช้แต่อารมณ์และอำนาจในการจัดการ คนที่ใช้อารมณ์ของตัวเองเพื่อควบคุมสถานการณ์ ปะทะกับอารมณ์ของเด็ก ทำให้ไม่สามารถถควบคุมสถานการณ์ได้ ครูก็เซลฟ์ เสีย เพราะรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพตัวเอง”

อาจารย์กรองทอง บุญประคอง นายกสมาคมไทยออร์ฟ ชูลแวร์ค กล่าวเพิ่มเติมว่า การบังคับไม่มีความสุขทั้งครูและเด็ก แต่หากเด็กรู้สึกปลอดภัย กล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูด กล้าที่จะเจรจากับเพื่อนได้ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นเขาเมื่อเขาโต ครูจำนวนมากเป็นครูที่รักเด็ก หวังดี เพียงแต่จะยังจัดการเรียนการสอนไม่รอบด้าน ดังนั้น การสอนที่ดี งบประมาณไม่ใช่อุปสรรค เพราะวัสดุธรรมดาๆ เช่น ลังไม้ กล่องไม้ วัสดุเหลือใช้ สามารถนำมาใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้งบเยอะ ขออย่างเดียว คือ ความคิด และจิตใจของความเป็นครู หากประกอบกันจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ห้องเรียนมีความสุขได้

  • บันได 7 ขั้นสู่ศตวรรษที่ 21

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน กล่าวว่า ความรู้ในวันนี้ไม่อยู่ในตำรา และอยู่นอกโรงเรียน ดังนั้น บันได 7 ขั้น ก่อนจะไปสู่ศตวรรษที่ 21 ขั้นแรกคือ แม่ ถัดมา คือ สายสัมพันธ์ ตัวตน เซลฟ์เอสตีม ควบคุมตัวเอง EF และถึงจะไปสู่ศตวรรษที่ 21

1. การสร้างแม่ที่มีอยู่จริง หรือความมีอยู่จริงของความเป็นแม่ เด็กขวบปีแรก มีหน้าที่สร้างความไว้ใจโลก โลกต้องปลอดภัย มี 2 ขั้นตอน คือ ไว้ใจแม่ และไว้ใจโลก  แม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยตนเองมากที่สุดใน 3 ขวบปีแรก ทุกคนมี 24 ชั่วโมง อยู่ที่ใครจะบริหารเงินและเวลาอย่างไร เด็กจะเรียนรู้ว่าแม่ไว้ใจได้ หนาว หิว ร้อน เหงา แม่ก็มา เด็กจะรู้จักใบหน้าแม่ในระยะเวลา 3 เดือน แม่จึงเป็นบันไดขั้นแรกที่สำคัญ จาก 6 เดือนไปถึง 12 เดือนแม่จะเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม แม่ ในที่นี้ เป็นใครก็ได้ ที่เป็นเสาหลักในชีวิตเด็ก

2. สายสัมพันธ์ สร้างตั้งแต่ในท้อง 9 เดือน และสร้างมาเรื่อยๆ จนเด็กคลอดไปจนครบ 12 เดือน เมื่อลูกโตขึ้น จะหันกลับมามองแม่เรื่อยๆ จนเติบโต แม้จะอยู่ในต่างประเทศ ต่างจังหวัด สิ่งที่ดึงรั้งเขาไว้คือสายสัมพันธ์ ดังนั้น สายสัมพันธ์ จะมีประโยชน์ที่ทำให้เด็กไปถึงอบายมุขยาก แต่หากเข้าไปแล้วจะออกมาง่าย

3. ตัวตน วิธีสร้าง คือ สร้างจากแม่ สายสัมพันธ์ และตัวตน แม่ที่แข็งแรง เป็นต้นทางของสายรกที่ดี สายรกที่ดี ทำให้ทารกแข็งแรง ตัวตน คือ ประธานของประโยคเพื่อเดินไปสู่อนาคต

“สามข้อที่กล่าวมาสำคัญใน 3 ขวบปีแรก เพราะเป็นฐานของการเติบโต อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ต้องทำงาน เงินเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน เวลา 24 ชั่วโมงก็สำคัญ เราไม่สามารถทำทั้งสองอย่างได้  เราจะมาพูดทฤษฏีเลี้ยงลูก ขณะที่ความจริงในสังคม คนยังปากกัดตีนถีบอยู่ ก็ไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีนโยบายในการช่วยเหลือ”

4. เซลฟ์เอสตีม หรือความมั่นใจในตัวเอง เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ หากเด็กตื่นมาและพบว่าทำอะไรก็ไม่ได้เลย ถูกห้าม ทำให้ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เป็นตัวตนอยู่นิ่งๆ ไม่มีพัฒนาการ ปัญหาของการศึกษาคือเราขีดเส้น วัดเด็กเป็นชั้น ห้ามตกชั้น แต่หากให้เขาปีนบันได ตามความสามารถที่เขาถนัด ปีนไปตามความสามารถของเขา นี่คือการศึกษาอนุบาล และประถมศึกษาควรรู้

“การศึกษาที่ทางแคบลงเรื่อยๆ เด็กสอบตกจำนวนหนึ่ง เด็กเรียนไม่เก่งมากกว่าเด็กเรียนเก่ง เด็กเรียนเก่งเท่านั้นถึงจะได้เรียนคณะดีๆ เราก็จะได้เยาวชนที่ไม่มีเซลฟ์เอสตรีม แต่หากพัฒนาว่าความรู้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทักษะศตวรรษที่ 21 ต่างหากเป็นเรื่องใหญ่ การเตรียมการสอนเปลี่ยนจากการท่องหนังสือ เป็นการทำกิจกรรม เซลฟ์เอสตีมจะเป็นพลังสู่อนาคต สู่บันไดขั้นที่ 5”

5. ควบคุมตัวเอง เพราะต้องเจอกับคำว่า อย่ามากเกินไป เป็นองค์ประกอบแรกๆ ของ EF

6. EF คือความสามารถระดับสูงของสมอง ที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เด็กต้องกำหนดเป้าหมายเป็นไม่ใช่พ่อแม่เลือกให้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเด็กมัธยมปลายส่วนมากเขาจะรู้เป้าหมาย เราต้องทำให้เด็กไทยมีความสามารถสร้างเป้าหมายได้ โดยการเล่น เรียนรู้ที่โรงเรียนด้วยการทำงาน ทำให้สมองพัฒนา ชอบอะไรอย่างแท้จริง ด้วย Passion ถึงจะเหนื่อยก็ไม่ยอมแพ้ เพื่อให้เดินไปถึงเป้าหมาย

7. ศตวรรษที่ 21 เด็กสมัยใหม่ควรมี 3 สกีล คือ “ทักษะเรียนรู้” แบ่งเป็น คิดวิพากษ์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ถัดมาคือ “ทักษะชีวิต” กำหนดเป้าหมาย วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ ประเมินผล รับผิดชอบ เปลี่ยนแผน มีความยืดหยุ่น และสุดท้าย คือ “ทักษะด้านไอที” รู้จักเสพ รู้จักวิเคราะห์ และรู้จักใช้เครื่องมือ

ถามว่าเราจะทำทั้งหมดนี่ได้อย่างไร คำตอบคือ 3 ปี แรก ควรสอนเด็กให้สามารถดูแลตัวเอง ทำให้ได้ ทุกเรื่องเราสามารถกลับมาทำทีหลังได้แต่ฤทธิ์เดชเขาจะมากขึ้น ยากขึ้น ช่วงอนุบาล 4-7 ขวบ เด็กจะลดความเป็นศูนย์กลางตัวเองระดับหนึ่ง ดังนั้น ต้องสอนให้เขาดูรอบตัว เก็บของเล่น เก็บที่นอน ล้างจานเอง ทิ้งขยะเองเป็นการดูแลรอบร่างกาย ถัดมา คือ ประถม เขาต้องดูแลบ้านทั้งหลังได้ เช่น การล้างจาน ซักผ้า ขณะที่ มัธยม เขาควรจะสามารถดูแลสาธารณะได้ เช่น รู้จักเข้าคิว ไม่ทิ้งขยะบนถนน จอดรถเป็นที่เป็นทาง แยกขยะ ฯลฯ เป็นพลเมืองดีของโลก

“กว่าจะฝึกลูกให้ทำได้ครบ ไม่ง่าย เด็กคนหนึ่งจะทำได้เขาต้องมี EF เต็มรูปแบบ ควบคุมตัวเอง ตั้งใจมั่น มีความจำ รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง เซฟเวลาในการทำงานบ้านเพื่อรีบไปเล่น บริหารเวลาได้ ดังนั้น ควรสอนลูกให้ทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อเขาออกไปสู่สังคม เขาจะรู้ว่าควรจะปฏิบัติตามกติกาสาธารณะอย่างไร” นายแพทย์ประเสริฐ กล่าว