“ล่วงละเมิดทางเพศ” อาการ "ป่วย” หรือ “ปัญหาด้านอารมณ์”

“ล่วงละเมิดทางเพศ” อาการ "ป่วย” หรือ “ปัญหาด้านอารมณ์”

หลายครั้งที่เราเห็นข่าว ข่มขืน ลวนลาม หรือ การ "ล่วงละเมิดทางเพศ" รวมถึงความรุนแรงในหลายรูปแบบ หลายคนเกิดคำถามว่า พฤติกรรมดังกล่าว เกิดจากอาการป่วยทางจิต หรือ มาจากปัญหาทางอารมณ์ และเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมได้หรือไม่

ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เราพบข่าวการ ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ลวนลาม การใช้ ความรุนแรง มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่พบปัญหาดังกล่าวทั่วโลก กลายเป็นปัญหาสังคมที่ต้องรอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคนในครอบครัว สถานที่ทำงาน สถานศึกษา ทั้งนี้ มีคำถามว่า พฤติกรรมดังกล่าว เกิดจากปัญหาจากอาการป่วยทางจิตเวชหรือไม่ หรืออะไรคือสาเหตุทำให้คนๆ หนึ่งมีพฤติกรรมเช่นนั้น

 

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและอดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า พฤติกรรมดังกล่าว ถือเป็นปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การบูลลี่ การใช้ความรุนแรง ไม่ถือว่าเป็นอาการป่วย แต่สุขภาพจิตไม่ดี พรมแดนระหว่างสุขภาพจิตดี และ ไม่ดี ไม่ใช่มีแค่อาการป่วย

 

“เพราะไม่ป่วย แต่สุขภาพจิตไม่ดีก็มีเช่นกัน” อย่างการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การละเมิดทางเพศ การที่ใช้ความรุนแรงทางท้องถนน หรือเด็กยกพวกตีกัน ก็ไม่ได้ป่วย ทั้งนี้ อาจจะมีส่วนน้อยที่ป่วย แต่ก็ต้องเป็นเคสเฉพาะ แต่ภาพรวมเรื่องของปัญหาการข่มขืน การใช้ความรุนแรง การลวนลาม ล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่ก็ไม่จำเป็นต้องป่วย

 

ปัญหาด้านอารมณ์จริงหรือ ?

 

อีกหนึ่งบทวิเคราะห์ จากบทความเรื่อง “การข่มขืน” บางส่วนเกิดจากปัญหาทางอารมณ์จริงหรือ? ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ ผ่านเว็บไซต์ RAMA Channel อธิบายว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุหรือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดปัญหา พบว่า การเลี้ยงดูถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างพื้นฐานนิสัยให้กับเด็ก นำไปสู่การดำเนินชีวิต หรือการกระทำต่อผู้อื่น โดยในกลุ่มคนที่ก่อเหตุข่มขืนผู้อื่น อาจต้องมองย้อนกลับไปถึงพื้นฐานครอบครัวในตัวบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างไร มีการเลี้ยงดูแบบไหน หรือเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบใด 

อาจเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือพ่อแม่ที่อาจใช้ความรุนแรงต่อตัวลูก เช่น ดุด่าว่ากล่าวด้วยถ้อยคำที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึก การทุบตี การใช้กำลัง รวมถึงการใช้อารมณ์ เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความรุนแรงทางด้านอารมณ์ให้กับตัวบุคคล ซึ่งนำไปสู่การสร้างปัญหาในที่สุด

 

จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่าส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการก่อเหตุก็ คือ ปัญหาทางด้านอารมณ์ บุคคลเหล่านั้นอาจมีอารมณ์ที่รุนแรง อันเกิดจากพฤติกรรมความก้าวร้าวที่มาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว หรือการซึมซับความรุนแรงในสังคมที่ตัวเองเป็นอยู่ บางรายอาจมีปัญหาทางด้านสมอง ขาดสติปัญญาในการตัดสินใจ จึงทำอะไรลงไปโดยไม่คิดให้รอบคอบนัก และทั้งหมดนี้คือปัญหาที่แท้จริงและนำไปสู่การสร้างปัญหา

 

สรุปการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดนั้น เริ่มต้นมาจากการสร้างพื้นฐานนิสัยนั่นก็คือการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนให้รู้ถึงเหตุและผลของการกระทำ ปลูกฝังจิตสำนึก ให้รู้จักกับผิดชอบชั่วดี การให้ความรักความเอาใจใส่ด้วยวิธีที่อ่อนโยนเพื่อหล่อหลอมนิสัยในตัวบุคคลให้เป็นคนมีเมตตา และทั้งหมดนี้หลักๆ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ แต่นอกเหนือจากนี้ทุกคนในสังคมยังคงเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ที่จะช่วยลดปัญหาให้หมดไป หน้าที่คือร่วมกันต่อต้านความรุนแรงด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด เชื่อว่าถ้าหากทำได้ก็คงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและมีประสิทธิภาพมากกว่า และช่วยส่งผลในระยะยาว

สังคมต้องตระหนักถึงปัญหา
 

นายแพทย์ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า การป้องกันที่สำคัญ คือ ต้องยอมรับปัญหาก่อน ตระหนักว่าเป็นปัญหา ปัญหาการ ล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 2 สถานที่ คือ “สถานศึกษา” เช่น อาจารย์กระทำต่อนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากมีอำนาจเหนือกว่า และ “สถานที่ทำงาน” ส่วนมากจะเป็นหัวหน้า กับ ลูกน้อง เนื่องจากมีอำนาจเหนือกว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ป่วย แต่มีทัศนคติทางเพศที่ไม่ดีถือว่าสตรีเป็นเพศที่สามารถล่วงละเมิดหรือเอาเปรียบได้ 


 
ดังนั้น การแก้ปัญหาทั่วโลก คือ 1. ต้องตระหนักว่าเป็นปัญหาในหน่วยงาน ไม่ว่าจะสถานประกอบการ หรือ สถานศึกษา 2. ต้องมีนโยบายว่าไม่เห็นด้วย การประกาศเป็นนโยบายในองค์กร รวมถึงมีช่องทางว่าหากมีเหตุเกิดขึ้น จะสามารถแจ้งได้ โดยที่ไม่ให้เกิดปัญหากับสถานภาพของเขา เช่น เขาเป็นนักศึกษา ก็ต้องไม่ถูกอาจารย์กลั่นแกล้ง เพราะคนเหล่านี้ ทำต่อเนื่องได้เรื่อยๆ เพราะมีอำนาจเหนือกว่า 


 
ขณะเดียวกัน คนที่ถูกกระทำ ไม่กล้าบอกเพราะ 3 เหตุ คือ “อาย” รู้สึกเป็นเรื่องเพศ ไม่อยากเปิดเผย “กลัว” เพราะคนเหล่านั้นมีอำนาจเหนือตนเอง เป็นอาจารย์ก็ให้เกรดได้ เป็นหัวหน้าก็ให้ออกจากงานได้ ให้ความดีความชอบได้  และ “ความรู้สึกผิด” หากสิ่งที่เกิดขึ้นสังคมรู้ จะทำให้พ่อแม่ ครอบครัว ลำบาก เป็นความรู้สึกผิด ดังนั้น จะแก้ได้ต้องมีช่องทางให้เขาสามารถแจ้งเรื่องได้โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเอง และทางสังคมต้องดูแล

 

ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวไม่จำเป็นต้องอยู่ในองค์กร แต่อยู่ในสังคมได้เลย เป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน ที่ประกาศจะทำหน้าที่เหล่านี้ เช่น เรามีกรมกิจการสตรีและครอบครัว มี NGO เรื่องสิทธิสตรี หรือ NGO ทางด้านทนายความ เพราะฉะนั้น พอเกิดขึ้นจะมีการดำเนินการ จะทำให้คนเรามีความบันยะบันยังมากขึ้น 


 
“เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีการดูแลจากองค์กรและสังคม คนที่ทำก็ทำไปได้เรื่อยๆ และ สุดท้าย คือ การสร้างความตระหนัก การสื่อสารทางออนไลน์ ออฟไลน์ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้สังคมจะไม่ทน” 

 

กรณีศึกษา #MeToo
 
นายแพทย์ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า เมื่อหลายปีก่อนมีการรณรงค์แคมเปญ #MeToo กรณีนักสร้างหนัง "ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์" ซึ่งใช้อำนาจในการล่วงละเมิดทางเพศดารา ตลอดหลาย 10 ปี ไม่มีใครกล้าเพราะเขามีอำนาจ ต่อมามีดาราคนหนึ่งยอมเปิดเผยและมีการรณรงค์ เกิดกระแสในทวิตเตอร์ #MeToo และสุดท้ายคนๆ นี้ก็ถูกดำเนินคดี ตอนนี้วงการสร้างหนังก็มีปัญหานี้น้อยลง และวงการอื่นๆ ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่มีการณรงค์การสื่อสารร่วมกัน คนที่เคยตกเป็นเหยื่อ ช่วยกันทำให้สังคมมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป เรื่องพวกนี้ก็จะดีขึ้น 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ย้อนรอย #MeToo แคมเปญดังในอดีต เผยเหยื่อ "คุกคามทางเพศ" มีอยู่ทั่วโลก 
 

ไทยกับการเรียกร้อง ข่มขืน = ประหาร 

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทย เคยมีการเรียกร้องให้เพิ่มโทษในการข่มขืนเท่ากับประหาร โดยในปี 2559 ตัวแทนจากเพจเพิ่มโทษคดีข่มขืนให้ประหารชีวิต เผยว่า เนื่องจากการข่มขืน แม้เหยื่อรอดชีวิต แต่ความรู้สึกของเหยื่อก็เหมือนกับตายทั้งเป็น การฟื้นฟูจิตใจให้เหยื่อกลับมาเหมือนเดิมมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก หากเหยื่อโชคร้ายโดนฆ่า กว่าจะผ่านกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอน สารภาพก็ได้รับการลดโทษ เช่น กรณีของนายชาตรี ที่ก่อเหตุกับครูอิ๋วเมื่อหลายปีก่อน หลังจากรับสารภาพ มีการลดโทษ ติดคุกเพียง 2 ปี และออกมา หลังจากนั้นพียง 10 เดือน ก็ก่อเหตุอีก ทำให้หลายคนเรียกร้องให้มีกฎหมายที่รุนแรงขึ้น อาจจะไม่ต้องถึงกับประหาร แต่มีบทลงโทษที่มากขึ้น  

 

โดยในปี 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการกระทำชำเรา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้ทันที โดยได้เพิ่มโทษการก่อคดีข่มขืนสูงสุดเป็น "ประหารชีวิต" ในกรณีเหยื่อถึงแก่ความตาย และแก้ไขเพิ่มเติมความหมายของคำว่า "กระทำชำเรา" ให้ครอบคลุมมากขึ้น

 

อินโดฯ เพิ่มโทษประหารนักโทษข่มขืน

 

เมื่อดูกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ในปี 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติของอินโดนีเซียมีมติเสียงข้างมากผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่เป็นการปฏิรูปกฎหมายฉบับเก่าเกี่ยวกับบทลงโทษผู้มีความผิดในคดีอาญาว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์และอาชญากรรมทางเพศที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ โดยบทลงโทษขั้นต่ำสุดคือการจำคุก 10 ปี สูงสุด คือ การรับโทษประหารชีวิต นอกจากนี้ กฎหมายยังให้อำนาจผู้พิพากษาพิจารณาให้ผู้ต้องหาในคดีลักษณะดังกล่าว ต้องสวมหรือฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวและการฉีดสารเคมีเพื่อลดสมรรถภาพทางเพศ หรือให้กลายเป็นหมัน

 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวกลับได้รับเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยก่อนหน้านี้ แพทยสภาแห่งอินโดนีเซียออกแถลงการณ์ว่าการฉีดสารเคมีให้แก่ผู้ต้องหาเข้าข่ายละเมิดจรรยาบรรณแพทย์ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้มีการผสมฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไปด้วย ขณะที่แถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการสตรีแห่งชาติของอินโดนีเซียวิจารณ์ว่า การเพิ่มความรุนแรงให้แก่ตัวบทกฎหมายไม่อาจลดอัตราการเกิดอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กได้ และการใช้สารเคมียังเป็นกระบวนการที่สิ้นเปลืองงบประมาณ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อินโดฯ เห็นชอบ เพิ่มโทษประหารนักโทษข่มขืน

 

ล่าสุดกรณีของ เฮอร์รี วิราวัน ครูสอนศาสนาโรงเรียนประจำในเมืองบันดุง จ.ชวาตะวันตก ที่ถูกตัดสินมีความผิดฐานล่อลวงผู้เยาว์เพื่อกระทำการอนาจาร กับนักเรียนหญิงอายุ 12-16 ปี  จำนวน 13 คน ช่วงปี 2559-2564 จนทำให้เด็กอย่างน้อย 8 คนตั้งครรภ์ โดยก่อนหน้านี้ ครูสอนศาสนารายนี้ถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเมื่อเดือน ก.พ. กลายเป็นข้อถกเถียงและความไม่เห็นด้วยของญาติบางคน ส่งผลให้อัยการยื่นอุทธรณ์ให้ลงโทษประหาร ล่าสุด ศาลสูงบันดุง ประกาศบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 65 โดยระบุว่า ศาลลงความเห็นให้ลงโทษประหารชีวิต ตามที่อัยการได้ยื่นอุทธรณ์โทษจำคุกตลอดชีวิตในตอนแรก ขณะทนายจำเลย ยังไม่แสดงความเห็นว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ขอรอคำพิพากษาฉบับเต็ม

 

เหยื่อ กับความเสี่ยง ภาวะป่วยทางจิต 

 

ในด้านของผู้ที่พบเจอเหตุการณ์อาจมี ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในเว็บไซต์ RAMA Channel อธิบายว่า เป็นสภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก อาทิ ภัยพิบัติ อุทกภัย แผ่นดินไหว การก่อการจราจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น 


ซึ่งคนที่เผชิญอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ รอดชีวิตมาได้ หรือว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก จนทุกทรมาน ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ตามมา

 

อาการผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นภาวะ PTSD 

 

อาการในช่วงแรกประมาณ 1 เดือน เราจะเรียกว่าระยะทำใจ (Acute Stress Disorder) หรืออาการเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการเครียดแล้วเกิดอาการทางประสาทขึ้นมาได้


ระยะที่สอง (PTSD: Post-Traumatic Stress Disorder) คือ กินระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน บางคนอาจจะยาวนานหลายเดือน หรือนานเป็นปีแล้วแต่บุคคล

 

ลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่าง 


1. เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นนั้นตามมาหลอกหลอนอยู่บ่อยๆ ผุดขึ้นมาซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง


2. อาการ Flash Back คือ เกิดความตื่นตัว เห็นเหตุการณ์นั้นๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้ เกิดอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว ซึ่งเดิมไม่เคยเกิดขึ้น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดได้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว


3. พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น


4. มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ในเชิงลบ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองหม่นหมอง ทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้าง คิดว่าตัวเองคงไม่มีความสุขได้อีกต่อไปแล้ว ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อนอีกแล้ว ทำให้อาจคิดฆ่าตัวตาย หรือพึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจจะทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว