สธ.ย้ำ"สงกรานต์2565"เตรียมป้องกัน"อุบัติเหตุทางถนน"-ลดเสี่ยงโควิด19

สธ.ย้ำ"สงกรานต์2565"เตรียมป้องกัน"อุบัติเหตุทางถนน"-ลดเสี่ยงโควิด19

สธ.ย้ำสงกรานต์2565 "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"  ใช้มาตรการ 3 ด่าน 3 ม. ป้องกันความสูญเสีย ลดอุบัติเหตุเจ็บตาย  เตรียมพร้อมบุคลากร-หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน ขอให้ใช้ “Family Bubble and Seal” ลดเสี่ยงโควิด19

เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"

          ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงปัญหาการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน แม้ในปี 2564 จะมียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่มีการจำกัดการเดินทาง การเรียนผ่านระบบออนไลน์ การทำงานที่บ้าน การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ งดกิจกรรมการรวมกลุ่ม งดจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่และสงกรานต์ รวมถึงการตั้งด่านตรวจบูรณาการป้องกันควบคุมโรคและบังคับใช้กฎหมาย ทำให้พฤติกรรมดื่มแล้วขับลดลง โดยมีผู้เสียชีวิต 16,957 คน คิดเป็น 25.92 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนแม่บทฉบับที่ 5 ที่จะลดผู้เสียชีวิตให้ต่ำกว่า 25.03 ต่อประชากรแสนคน

      แต่ปัจจุบันมีการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะมีการใช้รถใช้ถนนทั้งเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวกันจำนวนมาก โดยสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ คือ ความประมาทในการขับขี่ ขับรถเร็ว ดื่มสุราก่อนขับขี่ ไม่ใช้หมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้

           "ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยประชาชน อยากให้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย อยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข จึงขอให้ยึดหลัก ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมทาง เข้มมาตรการป้องกันโควิด 19 โดยสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจ ATK ก่อนกลับบ้านพบญาติผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อกลับถึงบ้านแล้วใช้มาตรการ Family bubble and seal รดน้ำขอพร รับประทานอาหาร ฉลองกันในครอบครัว หลีกเลี่ยงการออกไปสังสรรค์นอกบ้าน เพราะอาจนำเชื้อโรคกลับมาติดผู้สูงอายุในครอบครัวได้" ดร.สาธิตกล่าว

      นพ.ธงชัย กล่าวว่า สธ.ได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่ส่วนกลางและจังหวัด เพื่อประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลสนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ
          เตรียมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ รวมทั้งทางอากาศและทางเรือ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากเป็นการบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามข้อบ่งชี้ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) เข้ารับบริการโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนี่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก

         นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรให้มากขึ้นจากช่วงปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง ดำเนินการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยกเว้นค่าเจาะเลือดและค่านำส่ง หากส่งตัวอย่างเลือดไปศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกเขต จะได้รับการยกเว้นค่าตรวจวิเคราะห์ ประสานตำรวจตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล
       และให้รีบแจ้งเหตุเมื่อมีผู้เข้ารับการรักษาจากเหตุทะเลาะวิวาท เพื่อส่งเจ้าหน้าที่และกำลังพลให้เพียงพอต่อการระงับเหตุและดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ ส่วนผู้ก่อเหตุให้ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง สำหรับการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุและคัดกรองโควิด 19 พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกอาหารสะอาดปลอดภัยในงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง เน้น "กินร้อน ช้อนตนเอง ล้างมือ"

     “ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ขณะที่คนส่วนใหญ่ได้หยุดอยู่กับครอบครัว บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลเฉลี่ยวันละเกือบ 3,000 ราย ซึ่งเป็นปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติอย่างมาก คาดว่าสงกรานต์ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามมา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุ ด้วยการ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับเจ้าหน้าที่ และท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุข" นพ.ธงชัยกล่าว

      นพ.ธเรศ  กล่าวว่า สธ.เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยขอความร่วมมือพี่น้อง อสม.ร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ดังนี้ 1.ร่วมตั้งด่านชุมชนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อผู้ขับขี่มายังด่านชุมชน อสม.และเจ้าหน้าที่ด่านชุมชนสังเกตลักษณะทางกายภาพ (เดินโซเซ ตาเยิ้มแดง มีกลิ่นเหล้า) มีอาการมึนเมาสุรา  ขัดขืนไม่ยอมทดสอบ แจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่มีอาการมึนเมา   ให้กลับบ้านได้ และ 2.ทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มแล้วขับที่อยู่ในชุมชน โดยใช้การสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น ทั้งนี้ หากพบมีอาการมึนเมา ให้นั่งพัก ประเมินซ้ำทุก 30 นาที หากไม่มีอาการมึนเมาสุรา ให้กลับบ้านได้ หากพบมีอาการมึนเมาสุรา  แจ้งญาติหรือเพื่อนมารับกลับบ้าน

        นพ.โอภาส  กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับยังไม่มีแนวว่าจะลดลง ยังพบมีการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย กรมควบคุมโรคซึ่งรับผิดชอบ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จึงได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย การขายสุราในสถานที่ห้ามขาย และสำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
       นอกจากนี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องสถานที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ, การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งหากพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมาย แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0-2590-3342 หรือสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

         "คาดหวังว่าสงกรานต์ปีนี้ อุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับจะลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา ขอฝากไปยังประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาล ปฏิบัติตามมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. คือ ด่านตัวเอง ด่านครอบครัว ด่านชุมชน และ ไม่เมา สวมหมวก ใส่แมสก์ โดยผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้โดยสารช่วยตักเตือนผู้ขับขี่ และก่อนออกเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ล้อหมุนทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร" นพ.โอภาสกล่าว

       นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุรา นอกจากนี้ ยังคงให้ความร่วมมือในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 สำหรับวันควบคุมเข้มข้นวันที่ 11–17 เมษายน 2565 โดยยกเว้นค่าตรวจวิเคราะห์ โดยสามารถตรวจและรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง ขอให้เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลควรเจาะเลือดเก็บตัวอย่างภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอุบัติเหตุ
       และส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน 784 ราย อายุระหว่าง  10–84 ปี  พบปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 55 ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 20–29 ปี พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง