10 จังหวัดอัตราป่วยตายโควิด19สูงสุด - 5 จังหวัดบุคลากรฯติดเชื้อมากสุด

10 จังหวัดอัตราป่วยตายโควิด19สูงสุด - 5 จังหวัดบุคลากรฯติดเชื้อมากสุด

10 จังหวัดอัตราป่วยตายโควิด19สูงสุด  ขณะที่ระลอกม.ค.65  บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกว่า 1.4 หมื่นคน ส่วนใหญ่อยู่ในรพ.สต.-รพช.-รพ.เอกชน   เจอระดับแดงเกิน 101 ราย 29 จังหวัด  กทม.รายงานสูงสุด  อีก 3 จังหวัดยังไม่มีรายงาน

  นพ.ฐิติพงษ์ ยิ่งยง นายแพทย์ชำนาญการ ผู้แทนผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวในการอบรม Update CPG COVID-19 ด้วยระบบทางไกล จัดโดยกองวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ว่า ลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้เสียชีวิต ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-26 มี.ค. 2565 จำนวน 2,968 ราย พบว่า ค่ามัธยฐานอายุอยู่ที่ 73 ปี อายุน้อยสุด 1 เดือน มากสุด 107 ปี  มีโรคประจำตัว 2,576 ราย ปฏิเสธโรคประจำตัว 122 ราย และไม่ระบุ 270 ราย  โดยโรคประจำตัวที่พบมากที่สุด คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น  ในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 3 ราย   รายที่ 1 จ.สตูล อายุครรภ์ 7 เดือน ไม่ได้รับวัคซีน  รายที่ 2 จ.ลพบุรี  อายุครรภ์ 6 เดือน มีโรคประจำตัว โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และรายที่ 3 จ.ยะลา อายุครรภ์ 35 สัปดาห์  ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 

       จังหวัดที่พบอัตราป่วยตายสูงสุด 10 อันดับแรก  ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 26 มี.ค. 2565
1.แม่ฮ่องสอน 1.26 %

2.เชียงราย 1.17 %

3.ตราด 0.70 %

4.กระบี่ 0.67%

5.สตูล 0.58 %

6.ลพบุรี 0.54%

7.ปัตตานี 0.52 %

8.ตรัง 0.52 %

9.แพร่ 0.50 %

และ10.ยะลา 0.49 % 

       นพ.ฐิติพงษ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากทะเบียนผู้ป่วยยืนยัน กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 มี.ค. 2565 มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 14,044 ราย  โดย 5 จังหวัดที่รายงานผู้ติดเชื้อกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 4,390 ราย ชลบุรี 1,266 ราย  ปทุมธานี 758 ราย สมุทรปราการ 619 ราย และนนทบุรี 599 ราย และ 3 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงาน คือ ชัยภูมิ อุตรดิตถ์ และระนอง ซึ่งต้องขอย้ำว่าตรงนี้เป็นข้อมูลจากการรายงานเข้ามา ดังนั้น ขอให้ทุกจังหวัดรายงานสถานการณ์การติดเชื้อของบุคลากรในสถานพยาบาลด้วย 

        ทั้งนี้ เมื่อพิจารณการกระจายของการรายงานผู้ติดเชื้อกลุ่มบุคลากร แยกตามสี พบว่า

สีแดง 101 รายขึ้นไป 29 จังหวัด

สีส้ม 51-100 ราย 2 จังหวัด

สีเหลือง 11-50 ราย 23 จังหวัด

สีเขียว 1-10 ราย 20 จังหวัด

และสีขาว ยังไม่รายงาน 3 จังหวัด

    แยกสัดส่วนตามอาชีพ พบว่า 54.62% ไม่ระบุ 23.25 %บุคลการด่านหน้า 9.51% บุคลากรสนับสนุนบริการ  4.24% เจ้าพนักงานระดับเขตและส่วนกลาง 4.15 % บุคลากรสนับสนุนการดูแลรักษา  1.72% พนักงานทำความสะอาด ซักฟอก 1.27 % นักวิชาการสาธารณสุข 0.63 % อื่นๆ 0.62% รปภ./พนักงานขับรถ

     แยกสัดส่วนตามสังกัดสถานพยาบาล พบว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 27.41 % โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) 27.11% รพ.เอกชน 24.78 %  โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) 11.37 %  โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) 5.54%  อื่นๆ 2.62% และมหาวิทยาลัย 1.17 %

      “สรุปสถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ที่กำลังรักษายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากสาเหตุการติดโควิด19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมถึง กลุ่มเด็กเล็กที่ไม่มีโปรแกรมการได้รับวัคซีนและเสียชีวิตค่อนข้างเร็ว”นพ.ฐิติพงษ์กล่าว