ส่องทักษะมาแรง ในยุค "ตลาดแรงงาน" ปรับ "เทคโนโลยี" เปลี่ยน

ส่องทักษะมาแรง ในยุค "ตลาดแรงงาน" ปรับ "เทคโนโลยี" เปลี่ยน

โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยี ทำให้ "ตลาดแรงงาน" เปลี่ยนแปลงไป ความชำนาญบางอย่างที่อยู่อันดับท้ายๆ ของตลาดแรงงาน กลับความต้องการสูงอย่างก้าวกระโดด เช่น ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ขณะเดียวกัน ฮาร์ดสกีลด้าน บล็อกเชน ยังเป็นที่ต้องการอันดับต้นๆ

ตลาดแรงงาน โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาแรงงานในวงกว้าง คนจำนวนมากจะไม่มีงานทำ และงานจำนวนมากจะไม่มีคนทำ เนื่องจากไม่มีทักษะที่เพียงพอ ทักษะที่มีในปัจจุบันอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

 

ตลาดแรงงาน เปลี่ยนอย่างไร

 

ทัศไนย เหมือนเสน ผู้ก่อตั้งJobbkk.com กล่าวในช่วง เสวนาในหัวข้อ การปรับตัวเพื่อตลาดแรงงานในอนาคต และการ Upskill & Reskill ภายในงาน The Future Skillset of 2022 and Beyond จัดโดย สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัทจัดหางาน Jobbkk.com และ บมจ.เออาร์ไอพี โดยระบุว่า ในช่วงโควิด-19 ในปีเดียว พบว่า มีเรซูเม่ในระบบกว่า 4 ล้านเรซูเม่ โดยมีผู้ประกอบการกว่า 5 หมื่นกว่ารายในฐานข้อมูล ทั้งนี้ ตลาดแรงงาน สิ่งที่กระทบตลาดแรงงาน คือ ดิจิทัล ดิสรัป ตั้งแต่ปี 2561 เทคโนโลยีใหม่ทำลายล้างเทคโนโลยีเก่า และปัจจุบันรุนแรงขึ้น ภาคธุรกิจเริ่มปรับตัว ในการทรานฟอร์มให้ทัน ปัจจุบันพบว่าหลายธุรกิจน่าจะปรับตัวเยอะ เพราะหากไม่ปรับคงอยู่ยาก

 

ถัดมา คือ เรื่องของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ต่างชาติมีการตกลงร่วมกันเรื่องเครดิตคาร์บอน และประเทศไทยส่วนหนึ่งก็เข้าร่วม ต้องปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ อย่างน้อยปี 2050 ส่วนนี้กระทบต่ออุตสาหกรรมและตลาดแรงงานเยอะพอสมควร เช่นเดียวกับตลาดรถยนต์ที่เปลี่ยนเป็น EV ทักษะของคนที่เข้าอุตสาหกรรมตรงนี้ต้องเปลี่ยนใหม่ยกเซ็ต เพราะเมื่อก่อนเป็นน้ำมัน ตอนนี้เป็น EV

 

รวมถึงการเกษตรที่ต้องใช่ IoT มาใช้ในภาคเกษตร และในส่วนของโซเชียลมีเดียในการทำงาน โซเชียลมาแรงกว่าสื่อเก่า รวมถึงการใช้ AI และ Data ธุรกิจต้องมีข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อดูความต้องการผู้บริโภค ทำให้มีบริการใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ใครไม่มี Data ปัจจุบัน น่าจะอยู่ยาก

 

บล็อกเชน สกีลที่โลกต้องการ

 

ทัซไนย กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตจะเปลี่ยนจากยุค ระบบออโตเมติก เป็น อัตโนมัติ ต้องทำโดยอัตโนมัติ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเปลี่ยน คือ ฮาร์ดสกีล ซอฟต์สกีล ทั้งนี้ ฮาร์ดสกีลหลักๆ ที่โลกต้องการ คือ “บล็อกเชน” (Blockchain) เป็นเทรนด์ที่สามารถต่อยอดต่างๆ มากมายทั้งเว็บไซต์ สถาบันการเงิน และอื่นๆ ที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง 

 

ถัดมา เรื่องของ คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า พอเราต้อง Work from home ต้องพึ่งคลาวด์ อย่างน้อยอีเมลก็ต้องไปอยู่บนคลาวด์ ดังนั้น ใครที่ใช้คลาวน์ไม่เป็นอยู่ยากในยุคดิสรัปชั่น และทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เกี่ยวข้องกับคลาวน์

 

ประเด็นต่อมา คือ เดต้า อนาไลติก (Data Analytic) จะเห็นในส่วนของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป การทำงานในการนำเสนอรูปแบบเก่าไม่ว้าว การไม่ได้เก็บข้อมูล หรือข้อมูลน้อยเกินไปและมาตีความเอาเองทำให้ธุรกิจเดินต่อยาก ฉะนั้น ทำอย่างไรให้เอาเดต้ามาใช้ในธุรกิจเยอะๆ เท่าที่จะเป็นไปได้

 

ฮาร์ดสกีล เกี่ยวกับ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเอามาใช้ระบบต่างๆ เช่น HR ในการคัดคน การหาคนเยอะๆ แต่ต้องการคุณภาพ ต้องคัดคนที่มีสกีลเข้ากับองค์กร จึงใช้ AI ในการคัดคนก่อนในขั้นเรซูเม่ ก่อนจะไปในส่วนของการคัดเลือก

 

และ UX/UI โดย UX หรือ User Experience คือ นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ส่วน UI หรือ User Interface คือ นักออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ ว่า รูปร่างหน้าตา สิ่งที่สัมผัสได้ การใช้งานดิจิทัลทั้งหมดต้องนำเสนอสวยงามและใช้งานได้ง่าย

โควิด ตำแหน่งงานเปลี่ยน

 

ทั้งนี้ เมื่อโควิด-19 มา ทำให้ตำแหน่งงานเปลี่ยน มีหลายงานที่เคยอยู่อันดับล่างๆ ขึ้นมานำลิ่ว เช่น ดิจิทัล มาร์เกตติ้ง 2-3 ปีก่อน อยู่ที่อันดับ 7-8 แต่เมื่อเราพบหน้ากันไม่ได้ กลายเป็นต้องขายในดิจิทัล แม้แต่รถยนต์และสระว่ายน้ำ และสิ่งที่ขึ้นมาอันดับต้นๆ คือ งานไอที ความต้องการเพิ่มขึ้นหลังโควิด เพราะทุกคนต้องการทำข้อมูลลูกค้า ปัจจุบัน ผลิตแรงงานที่มีทักษะด้านนี้มาเท่าไหร่ยังไม่พอ โควิด เป็นตัวดิสรัปที่แรงมาก ทำให้ตลาดแรงงานเปลี่ยนไป

 

โซเชียล อนาคต และโอกาสธุรกิจ

 

อ. ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ในฐานะสถาบันซึ่งถือเป็นต้นน้ำในการผลิตแรงงาน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในการผลิตบุคลากร ต้องปรับตัวเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ และเรียนรู้ว่าตลาดขาดอะไร และเรียนรู้ว่าการอัพสกีล รีสกีล สำคัญมาก เช่น โซเชียลมีเดียที่สำคัญ เป็นทั้งอนาคต และ โอกาสของธุรกิจ สร้างช่องทางอาชีพเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ ดีไซเนอร์ อาร์ตเวิร์ก

 

"แพลตฟอร์มน่าสนใจ คือ CANVA เว็บไซต์ออกแบบออนไลน์ง่ายๆ ซึ่งหากใครได้ลองใช่จะรู้สึกว่า เราอาจจะไม่ต้องการดีไซน์เนอร์หรือไม่ในอนาคต หรือ ดีไซเนอร์เองที่เคยทำได้ ก็อาจจะค้นพบว่า อาจจะเอาเวลาละทักษะไปอัพสกีล ทำอะไรที่แอดวานซ์ ทำอะไรได้มากกว่าเดิม CANVA ทำให้คนที่ทำอะไรไม่เป็น อัพสกีลสักนิดได้ออกแบบเป็น คนที่เป็นอยู่แล้ว อัพสกีลเพิ่มให้ทำงานที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตเป็นจุดที่เรามีความเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่สิ่งที่จะทำให้เราอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงให้ได้ คือ เราจะปรับตัวอย่างไร เพราะที่สุดแล้วความเปลี่ยนแปลงหยุดไม่ได้ แต่จะไปต่อให้ถูกทาง มีวิธีอย่างไร"

 

ฮาร์ดสกีล ซอฟต์สกีล กับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร

 

อ. ดร.สุรพิชย์ กล่าวต่อไปว่า ฮาร์ดสกีล ซอฟต์สกีล มีผลจากการเปลี่ยนแปลงองค์กร องค์กรก็อยากจะทำงานที่ไหนก็ได้ โปรเจคอะไรที่ริเริ่มขึ้นมาก็อยากจะมีการหาคำตอบในหลายแบบ และต้องการการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ทำให้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่น คนทำงานต้องรับมือโจทย์ใหม่ๆ รับมือวิธีใหม่ๆ เสน่ห์ของการจัดการปัญหาปัจจุบัน เราไม่สามารถคิดแบบไซโลได้ มองปัญหามุมเดียวไม่ได้ สกีลต้องพัฒนาตลอด

 

เมตา สกีล พร้อมเปลี่ยนและเติบโต

 

พอเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง หลายคนมองว่า ต้องใช้ทักษะดิจิทัล ฮาร์ดสกีล ซอฟต์สกีลต่างๆ แต่ Mindset กลับเป็นเรื่องสำคัญ ในอดีต Mindset กลับเป็นเรื่องสำคัญทั้งอดีตจนปัจจุบัน แต่พอมองจากปัจจุบันไปอนาคต กลายเป็นว่า Mindset เป็นสกีลอันดับต้นๆ เพราะการเรียนรู้ ฮาร์ดสกีล ซอฟต์สกีล จะพัฒนาได้ แต่รากฐาน คือ Mindset เพราะบางครั้งอาจจะต้องยอมถอยไปหลายก้าว จิตใจต้องเข้มแข็ง เมื่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ข้อมูลมาก ซับซ้อน การเติบโตยุ่งยาก ดังนั้น คนที่จะไปต่อได้ และวงการ HR มองหา คือ เมตาสกีล คือ ต้องเป็นคนเข้าใจและปรับได้ ต้องเข้าใจตัวเองว่ามีสกีลแค่ไหน จุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร

 

ถัดมา คือ การแก้ปัญหา เอา Data มาใช้หรือไม่ เอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาบวกลบคูณหารได้หรือไม่ และต่อมา การยืดหยุ่น บางทีต้องยอมทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด ทำให้เราออกจาก Comfort Zone

 

"ดังนั้น เมตา สกีล (Meta skill) ต้องจับตามอง เป็นทักษะใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างทัศนคติแบบ Growth mindset หรือพร้อมที่จะเติบโต กระตือรือร้นในการเรียนรู้ สนุกกับการแก้ปัญหา และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทาย เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคต เพราะในระยะ 5 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 หรือ ทิศทางของประเทศและธุรกิจ ก็จะมองว่า Growth mindset สำคัญ"