คพ.ผนึกTEI ส่งเสริมธุรกิจสีเขียว หนุนผู้บริโภคใช้สินค้าฉลากเขียว

คพ.ผนึกTEI ส่งเสริมธุรกิจสีเขียว หนุนผู้บริโภคใช้สินค้าฉลากเขียว

โลกใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนนับล้าน คนเพียงหนึ่งคนใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ เพราะหากทุกคนช่วยกันการจะช่วยลดภาวะโลกร้อนก็สามารถมาทำได้

เนื่องจากต้นตอของปัญหาอาจจะอยู่ในมือของทุกคน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้คำนึงถึงการก่อมลภาวะที่เป็นพิษ มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) และสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (22 มี.ค. 2565) กรมควบคุมมลพิษ และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมลงนามบันทึก MOU ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ

โดยความร่วมมือในครั้งนี้  มติครม.ที่ 22 ม.ค.2551 เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐ จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และกรมควบคุมมลพิษ 

ได้มีการดำเนินการตามมติดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ดำเนินงานขยายไปยังองค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐ  

 

  • หนุนสินค้าและบริการรับรองฉลากเขียว -ขึ้นทะเบียนตะกร้าเขียว

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ออกกำหนดข้อกำหนด กฎระเบียบ การจัดซื้อจัดจ้างสินค้า พัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน  

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนที่ คพ. มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนหันมาให้ความสนใจ

รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือตะกร้าเขียวที่กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการขึ้น  เพื่อสร้างสังคมการบริโภคอย่างยั่งยืน

เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ คพ. มีส่วนสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตามนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570)

ทส. โดย คพ. ได้เสนอให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 กำหนดให้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ คพ. เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน 

คพ.ได้พิจารณาเห็นควรให้สินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวและขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ตะกร้าเขียว) ได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเป็นลำดับแรก

 

 

  • สินค้า-บริการตะกร้าเขียว ลดปัญหาโลกร้อน

ปัจจุบันมีบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วประมาณ 100 กว่ารายการ แต่ทั้งนี้ก็ถือว่ายังน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับการใช้สินค้าและบริการทั้งหมด ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งสิ้น ถ้ากระบวนการอยู่กรอบภายใต้การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปลดปล่อยมลพิษจะดีขึ้นนายอรรถพล กล่าว

อีกทั้ง เป็นเรื่องสำคัญและตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล และทส. ที่ให้ความสำคัญและนายกรัฐมนตรีที่มีเจตจำนง ในCOP 26 ลดคาร์บอนเป็นศูนย์ เชื่อว่าทำให้มีบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการมากกว่า 100 แห่ง

 ทั้งนี้ สำหรับตะกร้าเขียว คือ  รายการข้อมูลสินค้าและบริการที่ได้รับรองตามเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของกรมควบคุมมลพิษ  

โดยคุณสมบัติของตะกร้าเขียว

  1. คุณสมบัติ/ประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด
  2. ใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
  3. มีระบบขนส่งและจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพสูง
  4. ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง
  5. ใช้วัสดุน้อย
  6. ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงการใช้งาน
  7. คุ้มค่า คงทน
  8. มีการจัดการหลังหมดอายุการใช้งาน
  • โอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจสีเขียว

นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม รับรู้ความรุนแรงของปัญหาและผลกระทบที่ตามมามากยิ่งขึ้น ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจที่ต้องการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานฉลากเขียวที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 พร้อมจะร่วมมือในการพัฒนาบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ คพ. และการดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐให้เกิดผลสัมฤทธิ์

โดยความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันในการบูรณาการงานด้านการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ

จะช่วยขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประชาคมโลก และเป้าหมายการพัฒนาของประเทศ

ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536

โดยได้รับความเห็นชอบและความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติออกมาเป็นรูปธรรม จึงนับว่าเป็นฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างส่วนราชการ และองค์กรกลางต่าง ๆ โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

  • แนะผู้บริโภคใช้สินค้าและบริการฉลากเขียว

ฉลากเขียวเกิดขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานอิสระที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีความเป็นกลาง เชื่อถือได้ ตลอดจนดูแลควบคุมคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม

โดยส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นตลอดทั้งวัฎจักรชีวิต อย่างเป็นระบบและโปร่งใส เนื่องจาก สินค้าสีเขียว ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันเกิดจากการประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายโดยอิสระเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ฉลากเขียว ที่ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ พิจารณามองตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการจัดการ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่รวบรวมในสิ่งที่เราจัดซื้อ เป็นการลดภาระของรัฐบาล ในการลดของเสีย การจัดการสิ่งแวดล้อมในการใช้เศรษฐกิจสีเขียว