"ฝุ่นPM 2.5"ในกทม.และปริมณฑล ร้อยละ 54 เกิดจากขนส่งทางถนน

"ฝุ่นPM 2.5"ในกทม.และปริมณฑล ร้อยละ 54 เกิดจากขนส่งทางถนน

เผยแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 54 มาจากขนส่งทางถนน ขณะที่ผลการวิจัยแบบจำลองห้ามรถยนต์ดีเซล รถบรรทุกวิ่งในพื้นที่กทม.ไม่ได้ช่วยลดฝุ่น ระบุ 7 แนวทางลดฝุ่น PM 2.5 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต้องเข้าร่วม

วันนี้ (15 ก.พ.2564) รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลงานวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพและต้นทุนทางสุขภาพของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากภาคขนส่งทางถนน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ว่าค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย เทียบกับค่ามาตรฐานประเทศไทย  25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และค่าตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยสำหรับปี 2564 คือ 5 มคก./ลบ.ม.

โดยแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ร้อยละ 54 มาจากการขนส่งทางถนน ร้อยละ 22 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 11 ภาคครัวเรือน  ร้อยละ 10 ภาคขนส่งอื่นๆ  และร้อยละ 1 จาก ภาคเกษตร ภาคพลังงาน และการจัดการขยะ ขณะที่การขนส่งทางถนน พบว่า ร้อยละ 20 รถปิ๊กอัพ ร้อยละ17 รถบรรทุก ร้อยละ 10 รถบัส ร้อยละ 6 รถยนต์ และร้อยละ 1 รถจักรยานยนต์

ทั้งนี้ จากแบบจำลอง 10 สถานการณ์ ทำให้ได้ 10 แบบจำลอง คือ  1.บังคับใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ น้อยกว่า 10ppm 2.รถไฟฟ้ามีสัดส่วน 50% ของรถจดทะเบียนใหม่ ตั้งแต่ปี 2024 3.เปลี่ยนรถประจำทาง ขสมก.ทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้า 4.ปรับมาตรฐานรถเป็น EUR05 ในปี 2021 และ EUR06 ในปี 2022

5. ห้ามรถยนต์นั่งส่วนบุคคลดีเซลวิ่งในพื้นที่กรุงเทพ 6.ห้ามรถบรรทุกวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ 7.ห้ามรถที่มีอายุมากกว่า 20 ปี วิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 8. ติดตั้ง DPF ให้กับรถดีเซลทุกประเภทที่มีมาตรฐานตั้งแต่ EUR03 ลงไป 9.ติดตั้งDPF พร้อมทั้งมีการบังคับใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำน้อยกว่า 10ppm และ10.รวมการปฎิบัติของทุกแนวทาง

 

  • 7แนวปฎิบัติ ลดฝุ่น PM2.5 ในกทม.และปริมณฑล

โดยจากแบบจำลอง ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการวัดสถานะสุขภาพของประชากรแบบองค์รวมที่วัดภาวะการสูญเสียด้านสุขภาพ หรือช่องว่างสุขภาพ โดยแสดงถึง จำนวนปีที่สูญเสียไปจากการตายก่อนวัยอันควร รวมกับจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่กับความบกพร่องทางสุขภาพ สะท้อนปัญหาทั้งการป่วย พิการ และการตายออกมาเป็นหน่วยวัดเดียวกันระหว่างสาเหตุจากโรคและการบาดเจ็บต่างๆ

พบว่า แบบจำลองที่ 5 การห้ามรถยนต์นั่งส่วนตัวบุคคลดีเซลวิ่งในพื้นที่กรุงเทพ และแบบจำลองที่ 6 ห้ามรถบรรทุกวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นการช่วยลดฝุ่นในกทม.

รศ.ดร.ตระการ กล่าวต่อว่า จากการพิจารณาทั้ง 7 แนวทางลดฝุ่น PM2.5 พบว่าแต่ละแนวทางสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทันที ดังนั้น แนวทางที่ 1 การกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษ ซึ่งคาดว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ในปี 2572 มีมูลค่า 8,935 ล้านบาท และมีจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียที่ลดลง 13,540 ปี  ซึ่งสามารถปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการหันมาใช้เครื่องยนต์ ยูโร 5 และลดค่าใช้จ่ายในการนำรถมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์

แนวทางที่ 2  มาตรการการเปลี่ยนหรือปรับปรุงคุณภาพรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานสูง ผู้ออกนโยบายควรคำนึงถึงเรื่องการเพิ่มภาษีและค่าธรรมเนียมในการต่อทะเบียนรถเก่าโดยอาจต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปรับอัตราภาษีแบบก้าวกระโดด  โดยระยะแรกกำหนดอัตราภาษีคงที่ให้เท่าเดิมตั้งแต่ปีแรก และยกเลิกการลดอัตราภาษีสำหรับรถที่ใช้งานเกิน 5ปี ระยะที่ สอง (ระยะ3-5 ปี)คอยปรับเพิ่มอัตราภาษีรถเก่า โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า และไม่ควรบังคับใช้ย้อนหลัง

 

  • ลดฝุ่นPM2.5 ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

แนวทางที่ 3 แนวทางการติดตั้งอุปกรณ์กรองเขม่าในเครื่องยนต์ดีเซล โดยผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ในปี 2572 มีมูลค่า 6,168 ล้านบาท และมีจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียลดลง 9,347 ปี โดยแนวปฎิบัติ กระบวนการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการติดตั้ง DPF ในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ผู้ผลิตไม่ได้ออกแบบมา กับกลุ่มประเภทรถที่ควบคุมได้ เช่น รถโดยสาร หรือรถใหญ่ๆ  เป็นต้น 

แนวทางที่ 4 การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ผลักดันมาตรการด้านภาษีเพื่อเร่งรัดให้เกิดการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm ให้เกิดขึ้นตามแผนที่ตั้งไว้

แนวทางที่ 5 การกำหนดเขตพื้นที่การปล่อยมลพิษต่ำ  โดยมีการศึกษาเพื่อหาความคุ้มค่าของการประกาศใช้นโยบายว่าต้องสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สุขภาพและด้านอื่นๆ ต่อประชาชนอย่างเพียงพอ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และสร้างความเข้าใจความร่วมมือของภาคประชาชน ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

แนวทางที่ 6.การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ในปี 2572 มีมูลค่า 1,911 ล้านบาท และมีจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียลดลง 2,896 ปี  ซึ่งจะมีมาตรการสนับสนุน 2แนวทางหลักคือลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ และตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนราคาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าบางส่วน 

แนวทางที่ 7.การใช้รถโดยสารประจำทางพลังไฟฟ้า ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ในปี 2572 มีมูลค่า 306 ล้านบาท และมีจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียลดลง 463ปี   ควรมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และทุกภาคส่วนต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ขสมก.มีแผนที่จะเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า 2,511 คัน พร้อมไปกับรถที่จ้างของเอกชนอีก 1,500 คัน

  • แนะมาตรการแก้มลพิษในภาคขนส่ง

รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์  ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ กล่าวว่าสำหรับมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ:ภาคจราจรขนส่ง

  • ต้องเร่งรัดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะทั้งระบบหลักและระบบรองให้ครอบคลุมและมีเครือข่าย เชื่อมโยงพื้นที่ในเขตกทม.และปริมณฑล
  • อำนวยความสะดวกผู้ให้บริการลดจำนวนรถ ลดการติดขัด WFH
  • ลดกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลกำมะถันไม่เกิน 10ppm และให้มีการใช้ทั่วประเทศ การใช้ไบโอดีเซล
  • บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษอากาศระดับ EURO V/EURO VI โดยเฉพาะ รถที่ใช้น้ำมันดีเซล การติดตั้งระบบบำบัดไอเสีย  เช่น อุปกรณ์   กรองฝุ่นในรถยนต์ดีเซล ในรถใหม่และรถใช้งาน
  • เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบตรวจจับ ตรวจประจำปี รถควันดำ ห้าม/ปรับเปลี่ยนรถเก่ากว่า20ปี เข้าพื้นที่เมือง
  • ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนายานพาหนะไฟฟ้า การพัฒนา แบตเตอรี่ที่ใช้กับรถไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายสถานีประจุไฟ รถราชการ รถสาธารณะ และมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์และภาษี