สธ.ชงศบค.18มี.ค. เลิกตรวจโควิด19ก่อนเข้าไทย

สธ.ชงศบค.18มี.ค. เลิกตรวจโควิด19ก่อนเข้าไทย

สธ.ชงศบค.18มี.ค. ผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ  เลิกตรวจโควิดก่อนเดินทาง-ปรับลดทุนประกัน  พร้อมแจ้งแผนโควิด19เข้าสู่โรคประจำถิ่นใน 4 เดือน 

       นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โควิด19 ขณะนี้เป็นไปตามที่วางฉากทัศน์ไว้ว่าช่วงกลางเดือน มี.ค. การติดเชื้อจะเริ่มชะลอตัว แต่จะไม่ลดลงฮวบฮาบ เนื่องจากใช้มาตรการคล้ายการกั้นน้ำ ที่น้ำค่อยๆ เอ่อล้นและลดลง สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนข้อมูลจากนักวิชาการในไทยและต่างประเทศระบุว่าอยู่ในช่วงกลางๆ และกำลังจะเข้าขาลง แต่ขณะที่ดูเหมือนว่าโรคจะแรง เพราะตัวเลขจำนวนติดเชื้อ ซึ่งจะดูเฉพาะตัวเลขนี้ไม่ได้  โดยเมื่อก่อนมีความรู้เกี่ยวกับโรคไม่มากจึงใช้ตัวเลขติดเชื้อ ผู้ต้องนอนรพ. ผู้เสียชีวิต แต่ตอนนี้รู้จักโรคมากขึ้น มีอาวุธพร้อมแล้ว ดังนั้น ต้องมองมากกว่ามิติการระบาด ไม่ใช่เพียงตัวเลขติดเชื้อรายวัน แต่ต้องมองการครอบคลุมวัคซีน ระบบบริการ และตัวเชื้อลดความรุนแรงลง

       ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 18 มี.ค. นี้  สธ.เตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระบบ Test and go เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมกำหนดว่าผู้เดินทางจะต้องมีผลตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เมื่อมาถึงแล้วให้ตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งทันที โดยสธ.จะเสนอใหม่ว่า การตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางไม่จำเป็น  แต่ให้มาทำตรวจครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางเข้าถึงไทย และให้ตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 ของการเดินทางมาถึง ขณะที เงินประกันสุขภาพผู้เดินทางจะกำหนดลดลงจาก 50,000 ดอลลาร์เหลือ 10,000 ดอลลาร์ เนื่องจากค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาลลดลง จากเดิมที่เฉลี่ยค่ารักษา 1 ล้านบาทต่อราย ตอนนี้ก็เหลือเพียง 2 หมื่นบาทต่อราย

     นอกจากนี้ จะมีการเสนอ ศบค. เรื่องแผนปรับเปลี่ยนโรคโควิด19จากการระบาดใหญ่เป็นโรคประจำถิ่น ตามที่ สธ.ได้วางแผนไว้ใน 4 เดือนเป็น 3+1 ระยะ  เนื่องจากการจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นจะมีผลต่อการควบคุมโรค การรักษา สังคมและกฎหมาย ดังนั้น ศบค.จะต้องรับทราบและดูแลเรื่องสังคมกับกฎหมาย ส่วนเรื่องการแพทย์ได้รับการสนับสนุนให้การแพทย์นำอยู่แล้ว โดยเราต้องพิจารณาทางสังคมและการแพทย์ให้สมดุลกัน เนื่องจากเราออกกฎหมายหลายสิบฉบับในช่วงการระบาด ฉะนั้นต้องปรับกฎหมายเข้าสู่ปกติ เช่น พรก.ฉุกเฉิน ทางรัฐบาลเตรียมการปรับเป็น พรบ.โรคติดต่อในภาวะฉุกเฉิน โดยเตรียมไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้สอดรับกับแผนที่จะทำให้โควิดเป็น Post Pandemic

    “ช่วง 4 เดือนนี้ จะแบ่งเป็น 3 ระยะ บวก 1 จะทำให้โควิด19เกิดเป็น Post Pandemic ที่ไม่มีการระบาดใหญ่อยู่ในช่วงปลอดภัย ส่วนการเป็นโรคประจำถิ่น(Endemic) อาจต้องดูการประกาศจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ทั้งนี้ทั้งหมดต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า ไวรัสไม่กลายพันธุ์จนทำให้ก่อโรครุนแรงมากขึ้น โดยต้องทำอย่างมีขั้นตอน ค่อยๆ ทำ ไม่ใช่ว่า 4 เดือนแล้วจะเปิดหน้ากาก มีกิจกรรมสังคมเต็มที่ แต่ตั้งเป้าหมายว่า สวนสาธารณะจะเป็นแห่งแรกที่ไม่ต้องสวมหน้ากากเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ แต่ยังสนับสนุนให้คนสวมหน้ากากอยู่ โดยเฉพาะคนป่วย แต่คนทั่วไปก็จะผ่อนคลายได้บ้าง ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มก็อาจผ่อนคลายมากขึ้น เช่น กีฬา ฟุตบอล คอนเสิร์ต แต่ต้องมีมาตรการป้องกันคลัสเตอร์ใหญ่” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว