"จุดแข็งจุดอ่อน" 2ปี รับมือโควิด19 สิ่งที่ “นโยบาย-เขตเมือง”ต้องปรับ

"จุดแข็งจุดอ่อน" 2ปี รับมือโควิด19 สิ่งที่ “นโยบาย-เขตเมือง”ต้องปรับ

 2 ปีกว่าที่ประเทศไทยรับมือกับการระบาดใหญ่โรคโควิด19 มีสิ่งที่เป็น "จุดแข็งจุดอ่อน"ที่ระดับนโยบาย และระบบสุขภาพเขตเมืองต้องปรับ เพื่อเตรียมการรองรับหากต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้อีก รวมถึง ผลกระทบจากโควิด19ที่จะเกิดขึ้นระยะยาวต่อประเทศไทย

        เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2565  ในการสัมมนาวิชาการ “บทเรียนจากกระบวนการนโยบายสาธารณะ ในภาวะวิกฤตการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19” หัวข้อ “นโยบายการจัดการโรคโควิด19ในระยะที่ผ่านมาทำให้เราสูญเสียโอกาสอะไรบ้าง? : บทเรียนราคาแพงจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด19กับการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย”
       รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง โครงการสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผนการปรับตัวหลังวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และโครงการสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินเชิงนโยบายและการวางแผนการปรับตัวหลังวิกฤตของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองสถานการณ์พลวัตระบบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019: การจัดการห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)

หนึ่งในคำถามหลักของการศึกษานี้ คือ “ระบบการจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดีควรจะเป็นอย่างไร" ซึ่งจากประสบการณ์ตรงที่ได้จากการทำงานของทีมวิจัยที่มีเป้าหมายทำงานวิชาการ เพื่อสนับสนันกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อควบคุมโรคโควิด19 ในระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่ผานมา ทีมวิจัยอาจจะพอตอบคำถามนี้ได้ในเบื้องต้น คือ  ระบบการจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดีควรจะทำหน้าที่บูรณาการทรัพยากรของทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะทรัพยากรของภาครัฐเท่านั้น  และควรมีกระบวนการทำงานที่ทำหน้าที่แก้ไข ทั้งปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้าและวางแผนแก้ไขปัญหา หรือป้องกันการเกิดปัญหาที่เกิดจากภาวะฉุกเฉินในระยะยาวอย่างยั่งยืน
       ดังนั้น  ปัญหาใหญ่อีกส่วนหนึ่งในกระบวกนารวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินของประเทศไทย อาจมีสาเหตุจากแนวโน้มที่ผู้กำหนดนโยบายมีการตัดสินใจที่มุ่งเน้นการตอบโต้ต่อสถานการณ์ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพ หรือยังไม่ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาที่จุดคานงัดของระบบ ทำให้ปัญหาหลายด้านยังคงอยู่หลังเริ่มการระบาดใหญ่มากกว่า 2 ปี อาทิ ปัญหาระบบสารสนเทศสุขภาพที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และขาดการบูรณาการข้ามหน่วยงาน หรือปัญหาระบบการประสานงานเมื่อผู้ติดเชื้อยังไม่มีเตียงให้เข้ารับการรักษาและไม่สามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ หรือความสับสนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น  สปสช.หรือบริษํทประกันสุขภาพภาคเอกชน เมื่อมีการประกาศยกเลิกUCEP โดยสธ. เป็นต้น

 เขตเมืองต้องพร้อมรับมือโรคระบาดมากขึ้น 

      ขณะที่ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  ในสถานการณ์โควิด19 เราทำได้ดีทีเดียวแต่ทำได้ดีขึ้นอีก  จะเห็นได้ว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยที่มีทั้งอสม. และศูนย์การแพทย์ระดับสูง ได้ผลดีมากในภาคชนบท ยกเว้นในเขตเมืองใหญ่ที่อาจจะมองว่ามีความสมบูรณ์ ดีงาม แต่ในการรับมือโรคระบาดใหญ่ ด้วยสภาวะของเขตเมืองที่มีความหลากหลายแบบทั้งสลัม ชุมชนขนาดใหญ่ ตลาด ออฟฟิตขนาดใหญ่ ที่อยู่ของแรงงานข้ามชาติ และระบบราชการ จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องปรับปรุงระบบสาธารณสุขในเขตเมือง  เป็นจุดสำคัญที่จะต้องพัฒนา  นอกจากนี้  พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จัดการได้ในระดับโรคอุบัติใหม่ที่จำกัด แต่การจัดการภาวะฉุกเฉินในโรคระบาดขนาดใหญ่ ที่มีระบบศบค.และมีระบบจัดการภาวะฉุกเฉินที่มีหลายภาคส่วน ทำให้เห็นการจัดการภาวะฉุกเฉินในระดับความมั่นคงของประเทศไทย ที่รวมหลายหน่วยงาน มีระบบบัญชาการ สั่งการ และสื่อสารที่สำคัญยิ่ง

         ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงต้นของโควิด19การดำเนินการติดขัดระเบียบต่างๆอย่างมาก แต่ขณะนี้เห็นความแตกต่าง คือ มีความเร็วมากขึ้น อีกทั้ง ช่วงแรกกลไกอสม.สามารถดักจับล็อกกลุ่มเสี่ยงได้ เพราะจำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น กลไกนี้มีประสิทธิภาพลดน้อยลง  จึงอาจจะต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการส่งต่อความรู้ต่างๆไปถึงชุมชนมากขึ้น นำมาสู่การสร้างความเข้มแข็งในรากฐานทั้งเขตเมืองและชนบท โดยเฉพาะเขตเมืองต้องพัฒนาอย่างมาก เพราะการเกิดระบาดใหญ่ มักจะเกิดในเมืองใหญ่ และโรคที่ติดต่อได้เร็วจะเป็นโรคทางเดินหายใจ ซึ่งในนเมืองเป็นภาวะแวดล้อมที่ติดต่อได้มากจากความแออัด ดังนั้น ระบบสาธารณสุขเขตเมืองต้องเข้มแข็งมากขึ้นในการจัดการป้องกันโรค    

คาดการณ์ผลกระทบระยะยาวของโควิด19
        ดร.วิโรจน์ ณ ระยอง  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  การคาดการณ์ผลกระทบระยะยาวของโควิด19 ต่อระบบสุขภาพ  ผลทางอ้อม แต่สำคัญที่กลับมากระทบประเทศ/รัฐบาล/ระบบสุขภาพ คือ ผลจากการกู้เพิ่ม ภาระหนี้ ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลไทย ทำให้มีเงินสำหรับโครงการทั่วไปน้อยลง บางประเทศวางแผนขึ้นภาษีเพื่อนำมาใช้หนี้ แต่ไทยคงทำได้ยาก ทำให้ทุกรัฐบาลในช่วงใกล้ๆ นี้เหลือทรัพยากรน้อยลง/ทำโครงการต่างๆ ยากขึ้น ผลทางอ้อมจากต่างประเทศ โดยคนต่างประเทศจนลงจากโควิด จึงกระทบท่องเที่ยว/ การจัดประชุมในไทย และทำให้รายได้ของประเทศไทยจะยังกลับคืนสู่ภาวะปกติเก่า (old normal) ได้ยาก และผลทางตรงในระยะยาว ภาระโรคที่แท้จริงในระยะยาวจาก Long Covid  ซึ่งจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบมากแบบมีนัยสำคัญ บางโรคก็ยังไม่ทราบผลกระทบที่ชัดเจน เช่น ผลกระทบต่อสมอง และบางกรณีมีผลเรื้อรังระยะยาว อาจตลอดชีวิต เช่น เบาหวาน ที่เริ่มเร็วกว่าปกติด้วย)
        สำหรับการออกแบบระบบสุขภาพของประเทศเพื่อรับมือภาวะวิกฤตในอนาคต แม้ว่าใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจ และสามารถปรับมาตรการได้รวดเร็ว แต่การรับมือเป็นแบบตั้งรับเป็นหลัก  อย่างการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง ประกาศในวันท้ายๆ แบบปุบปับ จนทั้งเอกชนและรัฐเตรียมตัว/มาตรการรองรับไม่ทัน จนบางครั้งต้องลด/เลื่อนมาตรการที่เคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มเมื่อคลายล็อก เช่น มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร" (Covid Free Setting) ที่เคยกำหนดเริ่ม 1 กย. 2564 เป็นต้น  
          รวมถึง  ข้อเสนอใหม่ที่ต่างไปจากที่คุ้นชิน เช่น มาตรการเยียวยาที่ช่วยเสริมมาตรการควบคุมโรคในชุมชนรายได้น้อย ผ่านยากกว่ามาตรการตั้งคณะกรรมการมาดูแล กทม.และปริมณฑลที่ตั้งขึ้น 3 ชุดเมื่อ พ.ค.2564 และในช่วงปลอดเชื้อ 101 วัน แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประชาชน/ธุรกิจได้ผลพวงจากการควบคุมโรคได้ดีเลย อาจเพราะกลุ่มผู้กำหนดนโยบายไม่มีใครอยากออกจาก comfort zone "0 case" ในขณะนั้น นอกจากนี้  มีข้อกังขาว่าโครงสร้างใหม่เช่น ศบค.ที่ใช้คณะกรรมการค่อนข้างมาก ทำให้ทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงหรือไม่  หรือก่อให้เกิดเกียร์ว่างในหน่วยงานที่รับผิดชอบเดิมแทนบ้างหรือไม่