"หลักหกโมเดล" ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ-สุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน

"หลักหกโมเดล" ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ-สุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน

ม.รังสิต -สสส.-อบจ.ปทุมธานี เปิด“หลักหกโมเดล” ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต-เสริมสร้างสุขภาพ พร้อมเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาหลักหก” ศูนย์กลางความช่วยเหลือ สร้างอาชีพและรายได้ จัดการสิ่งแวดล้อมเอื้อสุขภาวะ ตั้งเป้าช่วยเหลือชาวปทุมฯ ในปี 65

วันนี้ (15 มี.ค.2565) มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงข่าวประจำปี เปิดตัว "แกะดำโลกสวย อิน คอนเสิร์ต"  พร้อมนำเสนอ "ความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์" และ "หลักหกโมเดล ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ม.รังสิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี"

รวมถึงเปิด 2 หลักสูตรใหม่ แกะกล่อง "RSU Golf Academy " และ "FutureDesign" โดยมี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ รักษาการอธิการบดี ม.รังสิต พร้อมด้วยคณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เข้าร่วม

\"หลักหกโมเดล\" ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ-สุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน

ความร่วมมือ3ประสานในการเป็นหุ้นส่วนสร้างเสริมสุจภาพระหว่าง ม.รังสิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่จังหวัด ปทุมธานี 

ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ทำให้ชาวบ้านในชุมชนหลักหก รังสิต และบัณฑิตใหม่มีโอกาสตกงานมากขึ้น เนื่องจากอัตราการจ้างงานและธุรกิจในระบบเศรษฐกิจปิดตัวลงจำนวนมาก

การติดอาวุธให้บัณฑิตหรือนักศึกษาที่กำลังจะจบให้มีความสามารถในการสร้างอาชีพและรายได้ตามแนววิถีใหม่บนเศรษฐกิจฐานราก น่าจะช่วยให้บัณฑิตและนักศึกษามีทางเลือกและโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับตัวเองในอนาคต

อีกทั้ง โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดปทุมธานี ในปี 2564 ทั้งด้านเศรษฐกิจ มีผู้ว่างงาน กว่า 17,000 คน ขาดรายได้ มีหนี้สิน

ด้านสุขภาพจากโรคเรื้อรัง พบมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 8,338 คน โรคไต 12,069 คน โรคมะเร็ง 4,658 คน โรคเบาหวาน 18,475 คน โรคอ้วน 34,448 คน

ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องน้ำเน่าเสีย การกำจัดขยะ และภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอย่างอุทกภัย และสภาพสังคมที่ไม่ปลอดภัย

 

  • พลิกที่ดินหลักหก รังสิต สร้างรายได้

ความร่วมมือระหว่างม.รังสิต กับ สสส. เป็นการพัฒนาแผนงานร่วมทุนสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี ได้แบ่งการบูรณาการกับทุกภาคส่วนออกเป็น 3 เฟส คือ

เฟสที่ 1 พัฒนาพื้นที่ชุมชนหลักหก ร้อยละ 80 และชุมชนใกล้เคียง ร้อยละ 20

เฟสที่ 2 พัฒนาพื้นที่ชุมชนหลักหก ร้อยละ 50 และชุมชนใกล้เคียง ร้อยละ 50

เฟสที่ 3 จังหวัดปทุมธานีทั้งหมดที่มีผู้อาศัยมากถึง 1,176,412 คน เพื่อเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุด

\"หลักหกโมเดล\" ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ-สุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน

"ในพื้นที่เมืองเอก รังสิต มีที่ดินว่างเปล่ารกร้างมากกว่า 100 ไร่  โดยไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนักศึกษาบัณฑิตจะตกงานมากขึ้นแล้ว มีประชาชนชาวบ้านกว่า 70% ที่ได้รับผลกระทบขาดรายได้ ตกงาน"ผศ.ดร.นเรฏฐ์  กล่าว

ม.รังสิต จึงได้ร่วมทุนกับ สสส. และอบจ.ปทุมธานี พลิกฟื้นที่ดินว่างเปล่าให้กลายเป็นแหล่งทำมาหากิน สร้างรายได้ให้แก่คนหลักหก โดยม.รังสิตได้ติดต่อเจ้าของที่รกร้างดังกล่าวให้นำมาใช้ประโยชน์ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษี และเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชน เมื่อได้ผลผลิตจากการใช้ที่ดินก็นำมาขายคนในชุมชนที่มีฐานะ เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของทุกคนในชุมชนเมืองเอก

ทั้งนี้ นอกจากมีการพลิกฟื้นหลักหก เรื่องการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยที่รุกล้ำคูคลองให้ถูกกฎหมาย โดยกำลังหลักของภาครัฐ คือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ร่วมกับ จังหวัดปทุมธานี

\"หลักหกโมเดล\" ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ-สุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน

โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยรังสิตเราอาสาช่วยชุมชนโดยนำองค์ความรู้จากคณะต่างๆ เข้าไปทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป้าหมายปลายทางคือ โครงการถนนคนเดิน ที่อยากจะสร้างให้บริเวณหลักหกเป็นแลนด์มาร์คที่ทำให้คนจากที่อื่นๆ  อยากนั่งรถไฟฟ้ามาเที่ยวที่นี่ แล้ว

 

  • 33 โครงการย่อย ต้นแบบร่วมทุนสร้างงาน สร้างอาชีพ

ยังมีการสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี 33 โครงการย่อย ที่นักศึกษา และอาจารย์ ของมหาวิทยาลัยรังสิต เข้าไปสอนอาชีพให้ชาวชุมชนหลักหกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีรายได้เสริม

อาทิ การนำผักตบชวามาทำเป็นพวงหรีดและดอกไม้จันทน์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การเปิดคอร์สออนไลน์อาหารหมัก โดยคณะเทคโนโลยีอาหาร โครงการสวนผักในเมืองเพื่อความยั่งยืนของชุมชน โดยคณะนวัตกรรมเกษตร

โครงการปลูกสมุนไพร การทำยาหม่อง โดยวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ถ่านดูดกลิ่นจากผักตบชวา โดยวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ การพิมพ์ลวดลายผ้าจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น โดยวิทยาลัยการออกแบบ ฯลฯ เป็นต้น 

\"หลักหกโมเดล\" ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ-สุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน

  • สสส.ขยาย "หลักหกโมเดล" ต้นแบบอุดมศึกษา

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ละระลอก สร้างผลกระทบโดยตรงกับคนไทยอย่างรุนแรง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง

สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ ในปี 2563 เกิดเป็นโครงการย่อยทั่วประเทศกว่า 100 โครงการ

ภายใต้หน่วยการจัดการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง 5 หน่วย ได้แก่ กลุ่มเกษตรในเมือง กลุ่มชายแดนใต้ กลุ่มแรงงานในระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มสร้างอาชีพและรายได้ (มหาวิทยาลัยรังสิต) ที่ดำเนินการถึง 33 โครงการ

เป็นโครงการนำร่องที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดในแต่ละชุมชนได้ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีทักษะอาชีพที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ กว่า 1,000 คน

  • "ศูนย์พัฒนาชุมชนหลักหก" ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตรอบด้าน

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ในปี 2565 นี้ สสส. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต และ อบจ.ปทุมธานี พัฒนา “แผนงานร่วมทุนสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี”

โดย สสส. ร่วมทุน ร้อยละ 70  มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมทุน ร้อยละ 30 พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาหลักหก” เป็นหน่วยงานดูแลด้านงบประมาณและการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่

\"หลักหกโมเดล\" ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ-สุขภาวะที่ดีแก่คนในชุมชน

การร่วมทุนครั้งนี้ สสส. มุ่งฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมทุกคนในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยมีแนวทางพึ่งพาตัวเองสามารถปรับตัวดำรงชีวิตในสภาวะวิกฤต

ที่สำคัญคือสร้างการขยายความร่วมมือและผนึกกำลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเพิ่มทรัพยากรทั้งทุนด้านงบประมาณ ทุนทางสังคม ทุนบุคลากรและองค์ความรู้ ซึ่งจะช่วยกระจายและการเข้าถึงการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในวงกว้างมากขึ้น