"จุลชีพในลำไส้" ตัวชี้วัดสุขภาพ งานวิจัยแพทย์จุฬาฯ ตอบโจทย์สังคมสูงวัย

"จุลชีพในลำไส้" ตัวชี้วัดสุขภาพ งานวิจัยแพทย์จุฬาฯ ตอบโจทย์สังคมสูงวัย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บุกเบิกงานวิจัยแรกของประเทศ ศึกษา“ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” รวบรวมข้อมูลพื้นฐานระดับชาติ ไขความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะของผู้สูงอายุกับจุลชีพในลำไส้ ทำนายความเสี่ยงการเกิดโรค และความแข็งแรงของประชากร

การวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่ระบุว่าสมดุลของจุลินทรีย์ดีที่มีชีวิตในร่างกายมีผลต่อสุขภาพและการเกิดโรค ในหลายประเทศที่เข้าสุ่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จึงเริ่มมีการวิจัยชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้และภาวะเหนือพันธุศาสตร์ในผู้สูงอายุ เพื่อกำหนดหาแนวทางดูแลให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี อายุยืนยาว ไม่เป็นภาระด้านสาธารณสุข และเป็นกำลังสำคัญของสังคม

แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมีข้อมูลและการศึกษาในประเด็นดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงริเริ่มดำเนินโครงการวิจัย “ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” ขึ้น

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์  หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางนาโนชีวเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในคณะผู้วิจัย “ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” เผยว่า โครงการวิจัยนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังในประเทศไทย 

เป็นการตรวจวินิจฉัยสุขภาพคนไทยครั้งใหญ่ผ่านกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัคร ที่จะทำให้เราได้ข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีระบบนิเวศจุลชีพเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในแต่ละภูมิภาค

เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในการศึกษาทางด้านสุขภาวะของผู้สูงอายุสุขภาพดี รวมทั้งเรื่องการควบคุมการแสดงออกของยีน นอกจากนี้ เรายังหวังว่าจะได้ตัวชี้วัดระดับโมเลกุลที่เป็นตัวช่วยในการตรวจหรือทำนายความเสี่ยงของการก่อโรค และความแข็งแรงของประชากรไทยต่อไปด้วย

การศึกษาวิจัย “ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมีผู้ร่วมวิจัย คือ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และรศ.ดร.พญ.กนิษฐา ภัทรกุล หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

 

  • จุลชีพในลำไส้กับสุขภาพ

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ อธิบายว่าจุลชีพเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก อาทิ แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ที่อยู่ในธรรมชาติ ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และร่างกายของมนุษย์  จุลชีพมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี จุลินทรีย์ที่ดีมีส่วนช่วยให้มนุษย์มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว

เพราะจุลชีพทำให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ สร้างสารควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ช่วยควบคุมปริมาณและความหลากหลายของแบคทีเรียที่มีอยู่ในร่างกาย  สร้างสารเคมีบางอย่างที่ช่วยในการตอบสนองภูมิคุ้มกันได้ ช่วยให้ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

“ถ้ามีจุลชีพที่ดีปริมาณมากในลำไส้ ร่างกายก็จะแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคที่ดีขึ้นด้วย เมื่อได้รับเชื้อที่ก่อโรคเข้าไปในร่างกาย จุลชีพเชื้อดีก็จะช่วยขับเชื้อที่ไม่ดีออกมาได้ โอกาสของการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคก็จะน้อย  แต่ถ้าจุลชีพดีในร่างกายมีน้อยหรือเป็นจุลชีพไม่ดี ร่างกายก็จะไม่มีตัวต้านทานเชื้อโรค ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคได้ง่าย ป่วยหนัก และป่วยนาน” 

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ อธิบายเพิ่มเติมว่าจุลชีพในลำไส้จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุและช่วงวัย  คนในวัยหนุ่มสาวหรือวัยผู้ใหญ่ที่แข็งแรงจะมีเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นตัวดีจำนวนมาก  แต่เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็จะมีเชื้อจุลชีพดีที่ช่วยป้องกันการก่อโรคในปริมาณน้อยลง ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเกิดโรคก็มากขึ้น

 

  • การศึกษาวิจัยชีวนิเวศจุลชีพในผู้สูงวัย

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ กล่าวว่างานวิจัย “ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” จะศึกษาระบบนิเวศจุลชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุใน 2 ลักษณะ ประการแรกเป็นการศึกษานิเวศจุลชีพที่อยู่ในลำไส้ของผู้สูงอายุ ที่เป็นผู้สูงวัยที่สุขภาพดีว่าต่างจากผู้สูงวัยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) หรือไม่

เพื่อดูว่าถ้าผู้สูงวัยมีจุลชีพที่ดีจะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาวะดีอย่างไร ในทางกลับกัน ถ้าระบบจุลชีพในลำไส้ไม่ดี จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น หรือไม่

ประการที่ 2 งานวิจัยจะศึกษาปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อระบบชีวนิเวศของจุลชีพในลำไล้ของผู้สูงอายุ  อาทิ ภูมิลำเนา ภูมิอากาศ รวมถึงอาหารการกินของผู้สูงวัยที่อาศัยตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ กลาง ใต้ และอีสาน โดยเน้นอาหารพื้นถิ่น ไม่ใช้อาหารเสริมและอาหารที่มีเชื้อจุลชีพที่ดี (โพรไบโอติก)

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ อธิบายความสำคัญของอาหารกับปริมาณจุลชีพในลำไส้ว่า จุลชีพในลำไส้ได้มาจากอาหารที่มี “โพรไบโอติก”  ซึ่งเป็นจุลชีพดีที่มีชีวิต พบได้ในอาหาร เช่น กิมจิ ถั่วหมัก ข้าวหมาก ผักกาดดอง นมเปรี้ยว  โยเกิร์ต นอกจากนี้ ก็มี “พรีไบโอติก” เส้นใยธรรมชาติในพืชที่จะช่วยให้จุลชีพที่ดีในลำไส้เจริญเติบโตได้ และทำลายจุลชีพที่ไม่ดี

“เราต้องการดูว่าปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อจุลชีพในลำไส้ต่างกันหรือไม่ หรือมีผลต่อภาวะเหนือพันธุกรรม (epigenetics) ที่ควบคุมการแสดงออกของยีนของมนุษย์เพิ่มเติมด้วยในงานวิจัยนี้”

  • วิจัยระดับชาติ ระดมอาสาสมัครสูงวัยทั่วภูมิภาค

“ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ ปี2564 - 2566 โดย ผศ.ดร.นพ.อมรพันธ์ เผยว่าปัจจุบัน การศึกษาอยู่ในขั้นตอนยื่นขอการพิจารณาทางจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ก็จะลงพื้นที่เพื่อหาผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีภาระพึ่งพา และเป็นผู้สูงวัยอาสาสมัครจาก 4 ภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ทำการศึกษาที่จังหวัดเชียงราย ภาคกลาง ที่กรุงเทพฯ  ภาคใต้ ที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนภาคอีสานอยู่ในระหว่างการเลือกพื้นที่

“เมื่อได้กลุ่มตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว ทีมวิจัยจะลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ตลอดจนตรวจสุขภาพกายและใจของผู้สูงอายุแบบครบวงจร ทั้งตรวจเลือด เอ็กซเรย์ ตรวจ DNA ตรวจจุลชีพจากอุจจาระเพื่อหาปัจจัยที่ผลต่อสุขภาวะในผู้สูงอายุ เราคาดว่าการเก็บตัวอย่างและการตรวจในเฟสแรกจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ จากนั้นก็จะเป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้เพื่อดำเนินการวิจัยต่อในเฟสที่สอง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับการควบคุมการแสดงออกของยีน รวมทั้งระบบนิเวศจุลชีพในลำไส้ของผู้สูงอายุ”

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธ์ กล่าวเสริมว่างานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยระดับชาติ และได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทยช่วยคัดเลือกผู้สูงอายุในแต่ละภูมิภาคเพื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครในโครงการ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติช่วยตรวจพันธุกรรมของผู้สูงอายุ  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยวิเคราะห์จุลชีพที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์ นอกจากนี้ยังร่วมมือในการทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์อีกด้วย

  • ตอบโจทย์สุขภาพสังคมสูงวัยของไทย

งานวิจัย “ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” นับเป็นการตรวจวินิจฉัยสุขภาพคนไทยครั้งใหญ่ผ่านกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัคร ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ คาดว่าจะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ

“เมื่องานวิจัยสำเร็จ เราจะได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของผู้สูงอายุไทยสุขภาพดี สามารถนำข้อมูลไปเทียบเคียงกับข้อมูลผู้สูงอายุในเอเชีย เพื่อดูว่าผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียมีสุขภาวะซึ่งวัดจากจุลชีพที่ดีในลำไส้ การควบคุมการแสดงออกของยีนส์เป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยพยากรณ์เรื่องความแข็งแรง หรือโอกาสของความเสี่ยงการเกิดโรคในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เราหวังว่าจะได้แนวทางการนำแบคทีเรียที่ดีไปเพาะเชื้อและคัดแยกออกมาเป็นโพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะของคนไทย ที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพผู้สูงวัยให้แข็งแรงและอายุยืนยาว”  ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ กล่าว