ยกระดับ "สวัสดิภาพผู้หญิง" รองรับสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ

ยกระดับ "สวัสดิภาพผู้หญิง" รองรับสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ

World Population Ageing 2019 Hightlights ของ UN เปิดเผยว่าตัวเลขผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี)ทั่วโลกมีจำนวนอยู่ที่ 703 ล้านคน (ตัวเลขปี 2563) ขณะที่มีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 680 ล้านคน เท่านั้น

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชากร Gen Y ที่เป็นวัยแรงงานอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีจำนวนกว่า 1 ใน 5 ทั่วโลก โดยเฉพาะผู้หญิงต้องแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น โดยการดูแลผู้สูงวัย รวมถึงเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง

ขณะเดียวกันในทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า ผู้ชายและผู้หญิงมีความไม่เท่าเทียมกันในด้านรายได้ ความเหลื่อมล้ำในที่ทำงานยังมีอยู่

โดย TDRI เผยสถิติว่า ในปี 2530-2539 ไม่ว่าจะระดับการศึกษาใดๆ ลูกจ้างเอกชนชายมีค่าจ้างสูงกว่าหญิงร้อยละ 22-57 ก่อนจะลดลงเหลือร้อยละ 12-50 ในปี 2540-2549 และร้อยละ 11-32 ในปี 2550-2559 ทั้งนี้สถานการณ์อาจดีขึ้นในแรงงานไร้ฝีมือ แต่กลับแย่ลงสำหรับแรงงานที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

 

  • 2ใน3ผู้หญิงอายุ60ปีจะไม่ได้ทำงาน

เมื่อเร็วๆนี้  Think Forward ได้ร่วมกับพรรคก้าวไกล จัดเวทีเสวนาเชิงนโยบายออนไลน์ ในหัวข้อ “พ่อแก่ แม่ป่วย ลูกเล็ก มองขาดปัญหาฉุดรั้งความก้าวหน้าทางการงานของสตรี กับ Think Forward Center”

“เดชรัต สุขกำเนิด” ผู้อำนวยการ Think Forward Center กล่าวว่าไทยไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัวจำนวนมาก

นอกจากนั้น TDRI ยังเผยตัวเลขว่าในช่วงปี 2550-2559 ส่วนต่างค่าจ้างระหว่างแรงงานชายกับหญิงในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาปริญญาตรีอยู่ที่เกือบ 5,000 บาท และมีส่วนต่างเกิน 10,000 บาท ในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ก่อนที่ส่วนต่างจะลดลงมาเหลือเพียง 5,000 บาท ในแรงงานทั้งสองกลุ่มตั้งแต่ปี 2560

ยกระดับ \"สวัสดิภาพผู้หญิง\" รองรับสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ

“เดชรัต”กล่าวต่อว่าสำหรับอัตราส่วนในกำลังงานแรงงานของเพศชาย และเพศหญิงพบว่าวัยทำงาน (30 ปีก่อน) เพศชายจะทำงาน ร้อยละ 98 ขณะที่วัย 60 ปี จะทำงานร้อยละ 51

ขณะที่เพศหญิงวัยทำงาน (30 ปีก่อน) จะทำงานร้อยละ 85 และเมื่อวัย 60 ปี จะทำงานเพียงร้อยละ 33

แสดงให้เห็นว่าอัตราส่วนในกำลังแรงงานของเพศชายและเพศหญิง 2 ใน3 ของผู้หญิงไทยจะไม่ได้ทำงานในวัย 60 ปี ขณะเดียวกันตัวเลขของผู้หญิงที่ทำงานอยู่บ้านกลับเพิ่มขึ้นตลอด 3 ทศวรรษ

 

  • เกิดลดลงจะเป็นภัยสำคัญของประเทศ

เมื่ออัตราการเกิดที่ลดลงจะเป็นภัยสำคัญของประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีนโยบายประชากรที่ก้าวหน้า และให้รัฐบาลมีหน้าที่การพัฒนาประชากรเป็นพันธกิจของรัฐ ในการพัฒนาความมั่นคงของประชากร โดยรัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ ดังนั้น

1.การลาเลี้ยงดูบุตร ขยายวันลาคลอด และค่าตอบแทนให้ครอบคลุมอย่างน้อยที่สุด 180 วัน และผู้ชายสามารถลาคลอดได้มากกว่า 15 วัน

2.พัฒนาสวัสดิการ ระบบการดูแลเด็กเล็ก และดูแลเด็กแบบ Day Care สำหรับเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

3.พัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 22 ปี ในอัตราอย่างน้อย 800-1,200 บาทต่อเดือน รวมถึงมีระบบบำนาญผู้สูงอายุ

4.พัฒนาสวัสดิการครอบคลุมผู้สูงอายุและผู้พิการที่ป่วยติดบ้าน และติดเตียง ซึ่งสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุของไทย ดีมากในแง่ทั่วถึง แต่แย่มากในเรื่องความพอเพียง เพราะควรจะให้สูงกว่าเส้นความยากจน ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน

5.พัฒนาระบบและเส้นทางอาชีพของผู้ให้การดูแล ตั้งแต่ทารก เด็กเล็ก เด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เพื่อให้ครอบคลุมผู้ที่มีความจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดภาระของผู้หญิงแล้ว ยังเท่ากับเป็นการสร้างงานได้ไม่ต่ำกว่า 300,000 อัตรา และ6.สร้างหนุนบทบาทของผู้หญิงที่เลือกดูแลสมาชิกในครอบครัว ให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นผ่านทางระบบสวัสดิการถ้วนหน้า และได้รับการยอมรับ

  • ยกระดับสวัสดิภาพผู้หญิงรับสังคมสูงวัย

“ณัฐยา บุญภักดี” ผู้อำนวยการ สำนัก 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าด้วยระบบการศึกษาที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น แต่ถึงจะมีตลาดแรงงานมากขึ้น แต่ในส่วนของค่าจ้างระหว่างหญิงชายนั้น ยังคงมีความแตกต่างกันแม้จะมีแนวโน้มที่แคปลง

สภาพความเป็นจริง ผู้หญิงยังต้องแบกรับภาระอยู่ 2 ด้านคือการทำงานในงาน หน้าที่แม่บ้านดูแลครอบครัว ดูแลบ้าน และการออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งการที่ผู้หญิง 1 คน ต้องออกจากการทำงานเพื่อมาดูแลลูก ดูแลครอบครัว พ่อแม่ของตนเอง ภาระเหล่านี้ไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยระบบสวัสดิการที่ดี ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวไหนมีกำลังในการดูแลมากน้อย ก็จะรับภาระมากน้อยแตกต่างกัน ณัฐยา กล่าว

ปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องยกระดับสวัสดิภาพของผู้หญิง เพราะไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ อัตราการพึ่งพิงมากขึ้น ขณะที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง จำนวนวัยแรงงานมีน้อยกว่าคนไม่ทำงาน

ดังนั้น คนวัยแรงงานจะแบกรับภาระมากขึ้น ถ้าไม่มีการวางมาตรการใดๆ ในเชิงรุก ไม่มีการคุ้มครองการหางานให้ผู้หญิง หรือสร้างโอกาสในการที่จะกลับเข้าสู่การทำงาน ความก้าวหน้าหรือค่าตอบแทน

การแก้ปัญหาเรื่องเด็กเกิดน้อยลงจะไม่สามารถแก้ได้ เพราะสังคมไทยชายใหญ่ยังแฝงอยู่ หรืออำนาจผู้ชายเป็นใหญ่ยังมีอยู่ และในกลุ่มผู้หญิงวัยแรงงานจากการสำรวจของกรมอนามัย ปี 2560 พบว่า ร้อยละ 20 แรงงานหญิงยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากเงื่อนไขในการทำงานเป็นสาเหตุหลัก

“ณัฐยา” กล่าวต่อว่าในสังคมไทย เราจะเห็นการเลือกปฎิบัติในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ซ้ำเดิม ทำให้คนจบอยู่กับความยากจน เหลื่อมล้ำ ไม่ยุติธรรม ทำให้สังคมไม่น่าอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทยยังมีอยู่สำหรับคนที่มีเงิน มีอำนาจเท่านั้น

ตอนนี้ต้องเอกซเรย์ ว่าการเลือกปฎิบัติ ความไม่เป็นธรรมมีอยู่ในส่วนไหน ไม่ว่าจะด้วยเหตุแห่งเพศหรือเชื้อชาติ เพื่อนำข้อมูล งานวิจัยผลสำรวจมาแก้ปัญหาในเชิงนโยบายจริงๆ 

ส่วนข้อเสนอสำหรับแรงงานหญิง ต้องเพิ่มการลงทุนในการศึกษา มีนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว อยากให้มองถึงภาระในครอบครัวที่แรงงาน 1 คนต้องดูแลใครบ้าง ซึ่งมากกว่าการมีลูก แต่อาจต้องดูแลพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ต้องดูแล ทำอย่างไร ให้คนทำงานไม่ต้องเลือก ไม่ต้องแลก ทำงานได้อย่างเต็มที่

รวมถึงควรลงทุนอุดหนุน การขยายเวลาคลอด 6-12 เดือน และมีเงินอุดหนุน สิทธิการลาเพื่อทำธุระเกี่ยวกับบุตร ให้เด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด และมีศูนย์ดูแลเด็กเล็ก

การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ให้กีดกันหญิงในเรื่องการตั้งครรภ์ การเลี้ยงบุตร เรื่องค่าจ้างแรงงาน สนับสนุนงบประมาณที่อุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็ก สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กในวัยเรียนไม่ได้จำกัดเฉพาะในโรงเรียน มีพื้นที่เรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย

“วรรณวิภา ไม้สน” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่าไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และเด็กเกิดน้อยลง ทำให้ประเทศขาดแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งมีปัญหาการกดทับในเรื่องกฎหมาย กำหนดให้ผู้หญิงมีภาระในการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่

ปัญหาในเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการจ้างงาน โดยการจ้างงานในหลายมิติ ยังติดเรื่องเพศ ดังนั้น อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้จริง เวลาลูกจ้างแรงงานมีปัญหา ต้องมีการช่วยเหลืออย่างจริงจัง