อาการโอมิครอน ไม่แรงแต่ไม่ควรปล่อยติดเชื้อ ด้วย4 เหตุผล

อาการโอมิครอน ไม่แรงแต่ไม่ควรปล่อยติดเชื้อ ด้วย4 เหตุผล

อาการโอมิครอนไม่แรง แต่ไม่ควรปล่อยติดเชื้อหวังภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ศบค.ยก 4 เหตุผลอ้างอิง ย้ำฉีดวัคซีนโควิด-19ดีกว่า

  เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ถึงประเด็นคำถามติดโอมิครอนอาการไม่รุนแรงแต่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ควรปล่อยให้มีการติดเชื้อแทนการฉีดวัคซีนโควิด-19หรือไม่ว่า การมีภูมิฯจากวัคซีนดีกว่าการทำให้มีภูมิฯด้วยการติดเชื้อ โดยมีเหตุผล 4 ข้อ ประกอบด้วย

  1.เชื้อแพร่ระบาด ติดเชื้อในวงกว้าง โดยสายพันธุ์โอมิครอนแพร่เร็ว ถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วในเวลาอันสั้น อาจทำให้ระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ รองรับไม่ทัน
2.คนไทยรับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มกว่า 60% แต่ยังมีอีกหลายล้านคน ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อ อาการหนักและอาจเสียชีวิต
3.โอมิครอนเป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ แม้อาการไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิต แต่ไม่ทราบว่าจะมีภาวะLong Covid เช่น ระบบหายใจ หรือระบบอื่นๆของร่างกายต่างจากเดิม หรือความไม่แข็งแรงของสุขภาพในระยะยาวหรือไม่

   และ4.การปล่อยให้ติดเชื้อ จะเป็นการส่งเสริมเชื้อให้กลายพันธุ์มากขึ้น และทำอันตรายคนได้มากขึ้นอีก
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ 4 มกราคม 2565 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19สะสมแล้ว 104,544,852 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 51,312,938 ราย คิดเป็น 71.2%
เข็มที่ 2 จำนวน 46,180,074 ราย 54.1%
และเข็มที่ 3 จำนวน 7,051,840 ราย 9.8%