ส่อง 7 แนวคิดสร้าง "สวนเบญจกิติเฟสใหม่" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง "สวนเบญจกิติเฟสใหม่" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

“สวนเบญจกิติ” เฟส 2-3 เป็นพื้นที่ธรรมชาติกลางกรุงแห่งใหม่ที่ไม่ได้มีไว้แค่เดินเล่น ออกกำลังกาย หรือจัดอีเวนต์เท่านั้น แต่เบื้องหลังสวนนี้ถูกสร้างด้วย 7 แนวคิดสุดเจ๋ง ชวนส่องแนวคิดเหล่านี้ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง?

สวนเบญจกิติ” เฟสใหม่ 2-3 พื้นที่ธรรมชาติใจกลางเมืองที่หลายคนอาจมาเดินเล่น ออกกำลังกาย ถ่ายรูปแชร์บนโลกโซเชียลกันไปตั้งแต่เปิดให้เข้าใช้พื้นที่ครั้งแรกตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา แต่อาจไม่รู้ว่าสวนนี้มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติอย่างมากในหลายๆ ด้าน 

อีกทั้งช่วยบำบัดน้ำเสียจากตัวเมือง โดยคำนึงถึง Universal design คือการออกแบบให้ระบบนิเวศในพื้นที่เกื้อกูลกับมนุษย์ สร้างด้วยแนวคิดอนุรักษ์ของเดิมเพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่แบบ Zero Sum และแนวคิดอื่นๆ อีกมากมาย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้พูดคุยกับ "ชัชนิล ซัง" และ "พรหมมนัส อมาตยกุล"  ตัวแทนทีมสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการสร้างสวนเบญจกิติเฟสใหม่นี้ แต่ละไอเดียน่าสนใจอย่างไร ตามไปดูกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง \"สวนเบญจกิติเฟสใหม่\" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

1. พื้นที่อเนกประสงค์ของคนเมือง

ถึงแม้ “สวนเบญจกิติ” จะเป็นสวนป่าที่ดูเหมือนจะมีไว้เพื่อชมความสวยงามอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วสวนแห่งนี้ตั้งใจออกแบบมาเพื่อเป็น “พื้นที่พักผ่อนของคนเมือง” 

โดยไฮไลท์เด็ดคือตัวทางเดิน “สกายวอร์คและพาวิลเลียน” ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีความสูงต่ำที่แตกต่างกัน มีทางลาดและทางชัน มีจุดให้ชมวิวแบบพาโนรามา ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนเมืองได้รับประสบการณ์และมุมมองที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้จุดชมวิวด้านล่างก็จะมีพื้นที่กว้างหน่อย หากต้องการเดินอย่างสบายๆ ไม่ต้องเบียดเสียดผู้คนจำนวนมาก ก็สามารถลงมาเดินข้างล่างได้ จะได้เห็นวิวและบึงน้ำต่างๆ ในอีกมุมที่สวยงามไม่แพ้กัน

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ “อัฒจันทร์กลางแจ้ง” ซึ่งตรงนี้ตั้งใจออกแบบมาให้ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ของคนเมือง เพราะมีพื้นที่กว้างมากพอให้จัดกิจกรรมดนตรีในสวน กิจกรรมวิ่ง อีเวนต์สนทนาในสวน เป็นต้น

แต่หากว่าไม่ได้มีการจัดงานพื้นที่ตรงนี้ ผู้คนก็สามารถมานั่งเล่น นอนเล่น จัดกิจกรรมครอบครัว ปูเสื่อปิคนิคกันได้ (เวลาประมาณ 17:00 น. เป็นต้นไป สามารถนั่งชมพระอาทิตย์ตกได้ วิวข้างหน้าเป็นผืนน้ำสะท้อนสวยงาม)

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง \"สวนเบญจกิติเฟสใหม่\" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

2. บำบัดน้ำเสียจากเมือง (ด้วยธรรมชาติ)

มากันที่ด้านการบรรเทาปัญหาเมืองอย่างเรื่อง “การบำบัดน้ำเสีย” ซึ่งตอนเริ่มออกแบบโครงการ ทีมสถาปนิกได้เล็งเห็นว่าพื้นที่ทางด้านเหนือของสวนติดกับคลองไผ่สิงโต เป็นคลองที่มีน้ำค่อนข้างสกปรกมาก จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้สวนนี้สามารถ “บำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ” ได้ด้วยระบบ Constructed Wetland โดยจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง \"สวนเบญจกิติเฟสใหม่\" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

3. ยึดหลัก Universal Design 

พูดถึงการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) เป็นแนวคิดหนึ่งที่ยึดมั่นในการออกแบบทุกๆ จุดของสวน อย่างเช่น ทางลาดหรือบันได ที่ได้เห็นบนสกายวอร์ค นอกจากคนทั่วไปจะสามารถเดินเล่นได้แล้ว ยังเหมาะสมกับผู้สูงอายุ คนที่ต้องนั่งรถเข็น และยังเกื้อกูลไม่ให้สัตว์-สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบบริเวณสวนโดนรบกวนมากเกินไปด้วย

สำหรับทางเดินทั้งหมดในสวนมีหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเดิน ทางลาด ทางวิ่ง ทางจักรยาน ทางเดินภายใน ทางเดินลงไปพื้นที่ในน้ำ หากสร้างเสร็จแล้วจะมีระยะทางเดินทั้งหมด 1.67 กิโลเมตร

ปล.โซนสวนน้ำสะพานเขียวในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อไปยังสวนลุมพินีได้ 

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง \"สวนเบญจกิติเฟสใหม่\" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

4. ห้องเรียนธรรมชาติ (ของทุกคน)

โครงการนี้ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ป่าที่อยู่ในเมืองกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร 

ก่อนเริ่มโครงการ พื้นที่นี้ยังไม่มีสัตว์ใดๆ มาอาศัยอยู่เลยนอกจากอีกา แต่ตอนนี้พอสวนเริ่มสมบูรณ์มากขึ้น มีต้นไม้มาลง จะเริ่มสังเกตเห็นนกกระยาง นกกระจิบ นกกาน้ำ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต

คนทั่วไป เด็กนักเรียน นักศึกษา สามารถมาเดินชมและเรียนรู้ธรรมชาติได้ที่นี่ มีต้นไม้หลากหลาย ทั้งต้นไม้อนุรักษ์ ต้นไม้หายาก ต้นไม้ใหญ่ และต้นไม้ทั่วไปหลายชนิด โดยปัจจุบันอาจยังเป็นต้นกล้าขนาดเล็กอยู่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ 

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง \"สวนเบญจกิติเฟสใหม่\" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

5. “ธรรมชาติ” สะท้อนสภาพโลกวันนี้

เชื่อว่าหลายคนที่เคยไปชมสวนที่นี่กันมาแล้ว อาจแปลกใจว่าทำไมบางมุมของสวนไม่สวยเลย ปล่อยให้แห้งแล้ง ดอกไม้เหี่ยวเฉา หรือต้นหญ้าออกสีเหลือง

ความจริงแล้วจุดนี้ทีมจัดสวนตั้งใจให้มีเรื่องการเปลี่ยนผันตามฤดูกาล เพื่อให้สวนเป็นตัวแทนสะท้อนสภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันว่า สภาวะโลกของเราเป็นอย่างไร เช่น ถ้าช่วงไหนน้ำเยอะ น้ำในสวนก็จะเอ่อท่วม ช่วงไหนเป็นหน้าแล้ง น้ำก็จะลดลง 

โครงการฯ ตั้งใจออกแบบให้มีพื้นที่น้ำตื้น น้ำลึก โดยพื้นที่น้ำลึกก็สามารถที่จะมีช่วงเวลาที่น้ำลดลงต่ำได้ และบริเวณที่เป็นน้ำตื้น จะมีการหล่อน้ำไว้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร เพื่อให้พืชน้ำยังสามารถเจริญเติบโต และสร้างสมดุลทางระบบนิเวศต่อไปได้

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง \"สวนเบญจกิติเฟสใหม่\" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

6. อนุรักษ์ของเดิม ลดใช้ทรัพยากรใหม่ (Zero Sum)

พื้นที่เดิมของสวนนี้เป็นโรงงานยาสูบ พอทางโรงงานย้ายออกไปหมดแล้ว และได้คืนพื้นที่มาให้เป็นสวน แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญหรือยังเป็นวัตถุที่สามารถนำมาใช้สร้างต่อได้ก็จะนำมาปรับปรุงพัฒนาต่อ 

บางอาคารมีเอกลักษณ์สำคัญ จึงได้มีการอนุรักษ์อาคารไว้ด้วย อย่างเช่น อาคารโรงผลิตยาสูบ 5 เป็นอาคารสไตล์โมเดิร์นในช่วงยุคแรกๆ ที่มีช่วงตึกกว้าง ซึ่งสำคัญกับวงการสถาปัตยกรรมไทย จึงคงรักษาเอาไว้ 

นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่นๆ เช่น อาคารเก็บโกดังใบยา ซึ่งกำลังจะปรับปรุงใหม่ให้เป็นศูนย์กีฬาในร่ม ศูนย์จักรยาน ลานสุขภาพให้เด็กเล่น

ในส่วนของการขุดถม “บึง” ได้ใช้การขุดถมในพื้นที่ เอารากฐานอาคารเดิมไปถมในจุดที่ต้องการความสูง ไม่ได้ซื้อดินจากที่อื่นเข้ามาถม เพื่อเป็นการบาลานซ์ดินในพื้นที่ของตัวสวนเอง 

ทางด้านพืชพรรณ ต้นไม้เก่าที่มีในพื้นที่ของโรงงานยาสูบเก่าทุกต้น ยังคงรักษาและเก็บไว้หมดเลยเพราะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาได้ดี แต่จะมีต้นไม้บางต้นที่หมดอายุ มีการผุพัง ก็นำออกไป 

รวมถึงเนินกลมๆ ที่เป็นเกาะตามน้ำ ตัวฐานก็ใช้วัสดุที่มาจากอาคารเก่าด้วย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ให้มีงานศิลปะที่อยู่บนผืนดิน

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง \"สวนเบญจกิติเฟสใหม่\" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

7. “ระบบนิเวศ” อยู่คู่ “คน” โดยไม่รบกวนกัน

แม้ว่าสวนเบญจกิติจะออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนใช้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเพื่อกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อการบำบัดน้ำเสีย หรือเป็นห้องเรียนธรรมชาติแก่ผู้คน แต่ภายในสวนก็ได้มีการออกแบบให้สัตว์ แมลง และต้นไม้พืชพรรณ ได้อาศัยอยู่อย่างปลอดภัย 

เช่น มีการยกทางเดินขึ้นสูงเป็นสกายวอร์คหรือพาวิลเลียน หรือแม้ทางเดินข้างล่างที่ผู้คนสามารถเดินเล่นได้ ก็ได้มีการลู่ขนาดของพื้นที่ให้เดินได้แคบลง เพื่อไม่ให้คนเข้าไปรบกวนธรรมชาติมากเกินไป 

การออกแบบสิ่งเหล่านี้เพราะมีจุดประสงค์ต้องการที่จะให้คนเที่ยวชมธรรมชาติแบบนักสังเกตการณ์ก็พอ ไม่เข้าไปยุ่งหรือใกล้ชิดระบบนิเวศมากเกินไป 

ส่อง 7 แนวคิดสร้าง \"สวนเบญจกิติเฟสใหม่\" พื้นที่ธรรมชาติกลางกรุง

หมายเหตุ : สวนเบญจกิติ เปิดให้เข้าใช้บริการตั้งแต่เวลา 05.00 - 21.00 น.