อยากไปขุดทองซาอุดีฯ เช็คที่นี่! "ศูนย์ทดสอบฝีมือ"เตรียมพร้อมก่อนไปทำงาน

อยากไปขุดทองซาอุดีฯ เช็คที่นี่! "ศูนย์ทดสอบฝีมือ"เตรียมพร้อมก่อนไปทำงาน

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมคณะได้เยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 ส่งผลให้เกิดการพิจารณาข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย คาดว่าจะลงนามได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา มีผู้แทนภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบีย ที่มีความต้องการแรงงาน เดินทางมาประเทศไทย เพื่อดูศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานของไทย ซึ่งมี “ประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมของสถานที่ทดสอบฝีมือคนหางานในต่างประเทศ ซึ่งเป็นภาคเอกชน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน  1สมุทรปราการ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

  • เตรียมพร้อมเอกชนทดสอบฝีมือแรงงาน

ประทีป กล่าวว่า ทางบริษัทจัดหางานของประเทศซาอุดิอาระเบีย 5 บริษัทได้มอบหมายให้ ดร.ฮุสเซน อัล อาวาด ประธานบริษัท Princess Joy placement and General Service เป็นตัวแทนมาดูความพร้อมของศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงาน KTC ซึ่งในเบื้องต้น ดร.ฮุสเซน มีความพอใจในความพร้อมของศูนย์ทดสอบ และได้กล่าวว่า ทางซาอุฯ ต้องการแรงงานในสาขาช่างเชื่อม โดยเฉพาะช่างเชื่อมใต้น้ำ และช่างเคาะพ่นสี รวมถึงMedical Staff ด้วย

“กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมการรองรับส่งแรงงานไทยไปประเทศซาอุดีฯ โดยเตรียมพร้อมดำเนินการอำนวยความสะดวกของสถานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ เช่น ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างสีรถยนต์ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า พ่อครัวหรือเชฟ พนักงานโรงแรม ผู้ควบคุมงานด้านโลจิสติกส์ และพนักงานขับรถบรรทุก”ประทีป กล่าว

โดยการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีการหารือพิจารณาแนวทางการใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยการปรับปรุงหลักสูตร ค่าธรรมเนียม แบบทดสอบให้สอดคล้องกับตำแหน่งงาน รวมถึงการกำหนดมาตรฐาน มาตรฐานกลาง มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และรูปแบบที่นายจ้างต้องการ

 

  • เช็คศูนย์ทดสอบพัฒนาฝีมือdjvoไปทำงานซาอุดีฯ

ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานในซาอุดีอาระเบีย 1,345 คน ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาไปทำงาน และระบบ Re-entry โดยมีตำแหน่งที่เข้าทำงานในหลายประเภท เช่น ช่างเชื่อม ช่างเทคนิค ช่างเครื่องยนต์ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป คนงานควบคุมเครื่องจักร ผู้ช่วยกุ๊ก แม่บ้าน โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการจัดหาแรงงานไทยต้องทำทันที และต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนภายใน 2 เดือน

การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ได้ขยายความร่วมมือผ่านการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ โดยด้านการค้าการลงทุน จะเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่สินค้าและธุรกิจของไทย 

ทั้งนี้ สำหรับศูนย์ทดสอบของหน่วยงานภายใน จำนวน 77 แห่ง เปิดให้บริการ จำนวน 40 สาขา จำแนกออกเป็น 6 กลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย

1. กลุ่มสาขาอาชีพช่างก่อสร้าง จำนวน 11 สาขา เช่น ช่างประปา ช่างเหล็กเสริมคอนกรีต ช่างสีอาคาร

2. กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ จำนวน 8 สาขา เช่น ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างเชื่อมเอกซ์เรย์ ช่างตัดโลหะ

3. กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล จำนวน 11 สาขา เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างไฟฟ้าในรถยนต์ ช่างซ่อมเครื่องจักรกลหนัก

4. กลุ่มสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 สาขา เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าโรงงานหรือช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ

5. กลุ่มสาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ จำนวน 3 สาขา ได้แก่ ช่างไม้เฟอร์นิเจอร์ ช่างสีเฟอร์นิเจอร์ ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม

6. กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ จำนวน 3 สาขา ได้แก่ ผู้ช่วยงานบ้าน พนักงานขับรถ และพนักงานประกอบอาหาร

นอกจากนั้นมีศูนย์ทดสอบของหน่วยงานภายนอก จำนวน 487 แห่ง สามารถรองรับได้วันละ 10,000 คน และยังมีสถานทดสอบฝีมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 13 แห่งด้วย

 

  • สายงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียต้องการ 

กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังซาอุดีอาระเบียในปี 2565 จะมีการขยายตัวกว่า 6.2%

สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ถึงร้อยละ 15 และจะมีมูลค่าการส่งออกกว่า 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการส่งออกสินค้าไปยังซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุน การทำธุรกิจและการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อต่อยอดไปยังสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักและทำการตลาดได้มากขึ้น เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของซาอุดีอาระเบียได้โดดเด่นที่สุดในอาเซียน

เป้าหมายของการส่งแรงงานไปยังซาอุดีอาระเบีย จึงขยับมาเป็น แรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือ อาทิ ช่างเหล็ก ไม้ ฉาบปูน เชฟ บริกร บริการ สปา ก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่ง 3 ระดับ ได้แก่

- แรงงานฝีมือ ทักษะสูง เช่น วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ 

- แรงงานกลุ่มกึ่งฝีมือ เช่น โฟร์แมน เชฟ บริกร คนขับรถ ช่างเชื่อม ช่างสี ฯลฯ 

- แรงงานไร้ฝีมือ

ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลจากกรมการจัดหางานระบุว่าตำแหน่งที่ประเทศซาอุดีฯต้องการมี ดังนี้

  1. วิศวกร
  2. พนักงานคอมพิวเตอร์
  3. ช่างไฟฟ้า
  4. ช่างก่อสร้าง
  5. พนักงานบัญชี
  6. พนักงานในโรงแรม
  7. พ่อครัว (อาหารไทย และอาหารเอเชีย)
  8. ช่างเสริมสวย
  9. ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตามแฟชั่น
  10. ช่างตัดเย็บผ้าโต๊บ
  11. ช่างออกแบบเครื่องประดับ
  12. ช่างเจียระไนเพชรพลอย
  13. ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ
  14. ช่างซ่อมเครื่องยนต์
  15. พนักงานขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถตักดิน รถเกรเดอร์

 

  • แรงงานพัฒนาฝีมือ การทดสอบการันตีทักษะ

ประทีป กล่าวต่อว่าการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นการการันตีความรู้ความสามารถ ช่วยสร้างความมั่นใจ และเป็นใบเบิกทางให้แก่แรงงานที่ต้องการจะไปทำงานต่างประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสการมีงานทำและเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งผู้ที่ผ่านการทดสอบฝีมือจะมีผลดีต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยนายจ้างได้ทราบและมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะฝีมือตรงตามตำแหน่งงานที่ต้องการ  ขณะที่ลูกจ้างผ่านการทดสอบต่างๆทำให้สามารถอัพเงินเดือนเพิ่มขึ้นได้

“สถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี เป็นเครือข่ายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นสถานทดสอบฝีมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ และเป็น 1 ใน5 แห่งของภาคเอกชนที่จะทำหน้าที่ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ตรวจสอบความพร้อมและความเหมาะสมของสถานที่ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ความปลอดภัย”ประทีป กล่าว

สถานทดสอบเคทีซีมีคุณสมบัติของผู้ควบคุมการทดสอบ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการทดสอบฝีมือแรงงาน จำนวน 4 กลุ่มอาชีพ (24 สาขา) ประกอบด้วย กลุ่มช่างเชื่อมและโลหะแผ่น 8 สาขา กลุ่มช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3 สาขา กลุ่มช่างยนต์ 4 สาขา และกลุ่มช่างก่อสร้าง 9 สาขา  

ประเทศไทยมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ทั่วประเทศรวมประมาณ 500 แห่ง เป็นศูนย์ทดสอบเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐานฝีมือ เพื่อให้แรงงานได้รับค่าแรงที่สูงขึ้น

  • เร่งอัพทักษะ เพิ่มตำแหน่งงาน-รายได้

อรัญญา สกุลโกศล นายกสมาคมการจัดหางานไปต่างประเทศ กล่าวว่าหลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ต้องยอมรับว่าการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศนั้นดำเนินการได้ยาก เนื่องจากหลายๆ ประเทศไม่ได้มีการรับแรงงานเข้าไปทำงาน

ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีฯ ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีแก่แรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งประเทศซาอุดีฯ ต้องการแรงงานช่างฝีมือจำนวนมาก และแรงงานมีศักยภาพ หากได้มีการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม จะช่วยอัพความรู้ความสามารถ และทำให้เพิ่มเงินเดือนได้มากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยอมรับว่าการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ซึ่งทำให้แรงงานส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ ดังนั้น เมื่อทางซาอุดีฯ ได้เปิดโอกาสให้แรงงานไทยและแรงงานต่างๆ ทั่วโลกได้เข้าไปทำงาน ถือเป็นโอกาสที่ดีแก่แรงงานไทย 

"การไปทำงานต่างประเทศนั้น ย่อมมีขั้นตอน และต้องดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐาน กฎหมายที่หน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศกำหนด รวมถึงแรงงานไทยต้องเพิ่มทักษะให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสายช่างที่ประเทศซาอุดีฯ ต้องการอย่างมาก จำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพ ทักษะเพื่ออัพทั้งตำแหน่งงาน และรายได้ที่จะได้รับ"อรัญญา กล่าว

  • แนะลงทะเบียนแรงงานไปทำงานต่างประเทศ

ดร.ฮุสเซน อัล อาวาด ประธานบริษัท ปริ้นเซส จอย เพลสเม้น แอนด์ เจนเนอรัล เซอร์วิส กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมาเยี่ยมชมสถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี ช่างเคาะสีตัวถังรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า และสถานที่ทดสอบฝีมือต่างๆ มีความพึงพอใจมาก และหวังว่าจะได้ร่วมงานกันในอนาคต ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ มีความต้องการช่างซ่อมสีรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างเชื่อมใต้น้ำ รวมถึงช่างก่อสร้าง เนื่องจากขณะนี้ประเทศซาอุดีอาระเบียมีแผนจะก่อสร้างโรงแรม

สำหรับท่านที่สนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย สามารถลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ http://toea.doe.go.th  เลือก “ลงทะเบียน” เลือก “คนหางาน”

ทั้งนี้ สามารถศึกษาคู่มือวิธีการลงทะเบียนคนหางานได้ที่หน้าเว็บไซต์ระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และสามารถคิดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas. หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานได้ทุกจังหวัด ในวันเวลาราชการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน