เปิดทักษะ "แรงงานไทย" ที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ

เปิดทักษะ "แรงงานไทย" ที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ

"กระทรวงแรงงาน" เตรียมพร้อมฝึกทักษะแรงงานฝีมือ และ กึ่งฝีมือ ไป "ซาอุดีอาระเบีย" คาดอย่างเร็วที่สุดหากทำได้ตามแผน 6 เดือนแรก อาจจะเห็นการส่งคนไทยชุดแรกไป

ข้อตกลงที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และประเทศไทยบรรลุร่วมกัน หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ เดินทางไปเข้าเยี่ยมคารวะและหารือทวิภาคีกับ นายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี (Ahmad Sulaiman ALRajhi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักร และกระชับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างกัน เมื่อวันที่ 25 มกราคม คือ ซาอุดีอาระเบียต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และด้านแรงงานจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน ในโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างต่างๆ

 

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าขณะนี้ ทูตแรงงานและที่ปรึกษาด้านแรงงานกำลังพิจารณา MOU ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเรื่องที่นายกรัฐมนตรี ห่วงใยมากที่สุด คือ สวัสดิการ ความเป็นอยู่ ค่าครองชีพ

 

ซึ่งในส่วนของ ค่าอยู่ ค่ากิน ค่ารถรับส่ง มีประกัน ฟรีทั้งหมด รวมถึง ค่าใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และ กฎหมายแรงงานของซาอุดีฯ ว่าเป็นอย่างไร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนและภายใน 6 เดือนจะส่งแรงงานล็อตแรกไปทำงานได้

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาทวิภาคี ซึ่งต้องมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) และปลายเดือน ก.พ.นี้ รมช.ดูแลกิจการระหว่างประเทศ ซาอุดีฯ จะมาเยือนประเทศไทย พร้อมกับดูศูนย์ฝึกอาชีพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) รวมถึงศูนย์ฝึกอาชีพแรงงานไปต่างประเทศ สมาคมการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ จะมีการเจรจาเรื่อง MOU เรื่องสวัสดิการต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยที่ไปทำงานซาอุดีอาระเบียจำนวนมากถึง 2-3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ขณะที่ในปัจจุบัน คนไทยได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น มีทักษะฝีมือมากขึ้น ดังนั้น เป้าหมายของการส่งแรงงานไปยังซาอุดีอาระเบีย จึงขยับมาเป็น แรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือ อาทิ ช่างเหล็ก ไม้ ฉาบปูน เชฟ บริกร บริการ สปา ก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่ง 3 ระดับ ได้แก่ แรงงานฝีมือ ทักษะสูง เช่น วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ ถัดมา คือ กลุ่มกึ่งฝีมือ เช่น โฟร์แมน เชฟ บริกร คนขับรถ ช่างเชื่อม ช่างสี ฯลฯ และ สุดท้าย คือ แรงงานไร้ฝีมือ

 

รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่า แรงงานไทย เป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ เพราะมีฝีมือ ทักษะ วินัย องค์ความรู้ เป็นโอกาสที่ดีมากในการเปิดประเทศ การส่งคนงานไปต่างประเทศ พันธกิจของกระทรวงแรงงาน คือ หางานให้พี่น้องคนไทยให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นทางเลือกให้กับคนที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ให้ประชาชนคนไทยได้มีสิทธิเลือก มีสิทธิทำ

 

รวมถึง เปิดสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องแรงงานอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการท่องเที่ยว เนื่องจากซาอุดีฯ ค่าครองชีพสูง การมาเที่ยวเมืองไทยจึงใช้จ่ายสูง นี่คือสิ่งหนึ่งที่ไทยได้ประโยชน์ รวมถึงการลงทุนซึ่งมีกองทุนอันดับหนึ่งของโลก ที่พร้อมจะลงทุนที่ไทย ต้องบอกว่า การที่เจรจาความสัมพันธ์กับซาอุดีฯ ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามอง และคนไทยก็ต้องให้กำลังใจคนไทยด้วยกันในการ   พัฒนาประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้า

ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย มีแรงงานราว 11-12 ล้านคน และอัตราว่างงานอยู่ที่ราว 6% ซึ่งตามแผน “Saudi Vision 2030” ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมที่ออกแบบมาเพื่อให้ซาอุดีอาระเบียเดินหน้าโดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น แรงงาน 8 ล้านคนที่ต้องการ จึงไม่ใช่แค่คนไทย แต่ยังรวมไปถึงแรงงานจากประเทศอื่นด้วย ขณะนี้ มีแรงงานจากฟิลิปปินส์อยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย ราว 5 แสนคน อินเดียราว 1.2-1.3 ล้านคน และแรงงานอีกหลายประเทศ

 

“ระหว่างนี้รู้แล้วว่าประเทศซาอุฯต้องการทักษะอะไร ประเภทไหน ซึ่งสามารถฝึกแรงงานให้ตรงตามความต้องการและขึ้นบัญชีไว้ อย่างเร็วที่สุดหากทำได้ตามแผน 6 เดือนแรก อาจจะมีเห็นการส่งคนไทยชุดแรกไป แต่จำนวนเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการเจรจา”

 

 

สถานการณ์แรงงานไทยข้อมูลจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (ม.ค. 65) พบว่าแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานซาอุดีอาระเบีย ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาไปทำงาน และ Re-entry ซึ่งตำแหน่งงานที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน เช่น ช่างเชื่อม ช่างเทคนิค ช่างเครื่องยนต์ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป คนงานควบคุมเครื่องจักร ผู้ช่วยกุ๊ก แม่บ้าน เป็นต้น โดยในปี 2561 มีแรงงานเดินทางไปทำงาน 220 คน ปี 2562 จำนวน 199 คน ปี 2563 จำนวน 40 คน ปี 2564 จำนวน 15 คน ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย จำนวน 56 คน (ข้อมูล ณ ธ.ค. 64)

 

  • ปี 64 ส่ง "แรงงานไทย" ไปต่างประเทศ 4-5 หมื่นคน

 

ในปีงบประมาณ 2564 กระทรวงแรงงานตั้งเป้าส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 1 แสนคน แต่ด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้จัดส่งแรงงานได้ราว 4-5 หมื่นคน รมว. แรงงาน กล่าวต่อไปว่า ในปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าส่งแรงงานน้อยลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 อาทิ ไต้หวันซึ่งเข้มงวดในเรื่องโควิดมาก ส่วนอิสราเอลการส่งแรงงานเพิ่มขึ้นจากโควตาปีละ 5,000 คน ล่าสุดมีการเจรจาเพิ่มโควตาเป็น 6,800 คน เพราะคนต้องการไปเยอะ เป็นงานปลูกผัก เนื่องจากอิสราเอลส่งผักทั่วยุโรป สิ่งที่ได้นอกเหนือจากเงิน คือ องค์ความรู้ที่จะสามารถต่อยอด ทำธุรกิจเอสเอ็มอีได้ เช่น ปลูกผักสลัด โดยนำเทคโนโลยี

 

“ปีที่ผ่านมาส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศราว 4-5 หมื่นคน จากเดิมที่เคยส่งกว่า 1 แสนคน ในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากเรามีทูต จึงพยายามหาตลาดให้คนไทย ซึ่งให้เป็นทางเลือกให้กับคนไทย และมีบริษัทจัดหางานที่อยู่ในระบบหลายสิบบริษัท รวมถึงสมาคมที่ขึ้นทะเบียน ขณะเดียวกัน ปีนี้หากไม่มีโควิด-19 มองว่าจะไปเปิดตลาดที่ยุโรป แต่บางครั้งต้องยอมรับว่าการพัฒนาประเทศในแต่ละประเทศ ก็หยุดชะงักเนื่องจากต้องแก้ปัญหาโควิด” รมว.แรงงาน กล่าว

 

  • "แรงงานไทย" ในตะวันออกกลาง 22,050 คน

 

ทั้งนี้ สถิติการเดินทางของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำางานในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ประเทศที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์คูเวต บาห์เรน กาตาร์ โดยแรงงานส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานในตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง พนักงานบริการ ช่างเทคนิค พนักงานงานในร้านค้าและตลาด เป็นต้น

 

จำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ณ ธ.ค. 64 ได้แก่ อิสราเอล 20,044 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 931 คน กาตาร์ 240 คน บาห์เรน 239 คน คูเวต 194 คน โอมาน 115 คน ตุรกี 74 คน อิหร่าน 89 คน ซาอุดิอาระเบีย 56 คน ไซปรัส 50 คน เลบานอน 12 คน จอร์แดน 4 คน เยเมน 2 คน รวม 22,050 คน