นายกฯ ติดตามฟื้นสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ ดันศก.-การทูต-แรงงาน คาด 2 เดือนเห็นผล

นายกฯ ติดตามฟื้นสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ ดันศก.-การทูต-แรงงาน คาด 2 เดือนเห็นผล

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ เร่งติดตามการดำเนินงานหลังการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ ดัน เศรษฐกิจ-การทูต-แรงงาน เดินหน้าตั้งกรรมการเร่งดำเนินการ คาดเห็นผลภายใน 2 เดือน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการเยือนราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของไทยและซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 30 ปี ทำให้เกิดการหารือในระดับทวิภาคีในหลายมิติ ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การทูต และ แรงงาน ฯลฯ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการเร่งรัดให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนแรงงาน เร่งดำเนินการหลังการเจรจาหารือที่เกิดขึ้น โดยได้มอบหมายนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งกรรมการเร่งดำเนินการเพื่อติดตามการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์

นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงแรงงานประสานไปยังหน่วยงานในกำกับเพื่อเร่งเตรียมความพร้อมในการเยือนของรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อลงนาม MOU ซึ่งถือว่าเป็นการขับเคลื่อนที่เร็วกว่าที่กำหนดไว้ภายใน 2 เดือน

ทั้งนี้ ความคืบหน้าในส่วนของกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการจัดหาแรงงานมีฝีมือตามความต้องการของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความต้องการแรงงานต่างชาติจำนวนกว่า 8 ล้านคน ในสาขาภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้ได้เร่งประชุมกับหน่วยงานในกำกับ ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศเกี่ยวกับรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ

รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยที่มีฝีมือในสาขาบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ภายใต้หลักการ “รัฐจัดหา เอกชนจัดส่ง” ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศ ได้สานต่อการหารือเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ ซึ่งในระยะแรกจะมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตและการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคี

ตลอดจนการร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ อาทิ องค์การ OIC (โอไอซี) อาเซียน GCC (จีซีซี) รวมถึงการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ด้วย สำหรับด้านเศรษฐกิจ ไทยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับไทยและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะการเสริมสร้างบทบาทของอาหารฮาลาลของไทย ตลอดจนส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ซึ่งก็จะมีการเปิดเที่ยวบินจากซาอุดิอาระเบีย บินตรงมาสู่ประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้ อีกด้วย

“ท่านนายกฯ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียมีสัญญาณที่ดี ซึ่งไทยจะต้องรีบคว้าโอกาสสำคัญนี้ ในการเร่งผลักดันเศรษฐกิจ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต ตลอดจนการขยายตลาดแรงงานไทย และนโยบายเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งได้เร่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งทำงานในทุกวินาที เพื่อทำให้เกิดการสานต่อ จากการหารือที่ได้ทำให้การกรุยทางแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้น ในรอบ 30 ปีก็ว่าได้” นายธนกร กล่าว