เปลี่ยน "โควิด-19" สู่ "โรคประจำถิ่น" ไทยทำได้หรือยัง ?

เปลี่ยน "โควิด-19" สู่ "โรคประจำถิ่น" ไทยทำได้หรือยัง ?

หลังจากที่ สธ. เห็นชอบแนวทางพิจารณาให้ "โควิด-19" เป็น "โรคประจำถิ่น" หลายคนเกิดคำถามว่า ก่อนที่โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร และในด้านสิทธิการรักษา จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ

จากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง ซึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

 

เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) และ เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น

 

  • โรคประจำถิ่น คือ อะไร

 

สำหรับความหมายของ “โรคประจำถิ่น” นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า โรคประจำถิ่นมีความหมายว่า มีการระบาดเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว ส่วนว่าต้องพิจารณาการกลายพันธุ์ด้วยหรือไม่ ก็ต้องดูซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะสายพันธุ์ย่อยอะไรแต่รู้ว่าเป็นโควิด-19 หากอัตราป่วยตายหรือวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันประมาณหนึ่ง

 

ถ้ามีการกลายพันธุ์แล้วอยู่ในระดับที่ดูแลได้ ไม่ได้ระบาดก็จะเหมือนโรคไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่ที่เป็นโรคประจำถิ่นตอนนี้ ที่ไม่ได้รายงานพบผู้ติดเชื้อทุกวัน เว้นกรณีป่วยหนัก แต่ไม่ใช่ไม่รู้ว่ามีการระบาด เพราะเมื่อมีคนป่วยก็ต้องไปรพ.แล้วเข้าไปดำเนินการหยุดการระบาด แต่ไม่ใช่เฝ้าระวังทุกวัน แต่เป็นการเฝ้าระวังการระบาดใหญ่

  • ​​​​​​หลักเกณฑ์สู่โรคประจำถิ่น

 

ทั้งนี้ เมื่อมาดู หลักเกณฑ์-ค่าเป้าหมาย ที่กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบแนวทางพิจารณาเตรียมพร้อมให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ดังนี้

 

1. ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน

2. อัตราป่วยตายน้อยกว่าร้อยละ 0.1

3. การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10

4. ประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80

 

  • ไทยเข้าเกณฑ์ 1 ข้อ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูทั้ง 4 ข้อจะพบว่า ประเทศไทยขณะนี้เข้าเกณฑ์เพียง 1 ข้อ คือ

  • ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย / วัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรักษาระดับอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 8,000 ราย ต่อวัน
  • ขณะที่อัตราการป่วยตายหากดูในระลอกมกราคม 2565 อยู่ที่ 0.22% และ อัตราป่วยตายสะสมอยู่ที่ 0.92%
  • สำหรับอัตราป่วยตายโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปีอยู่ที่ 0.01% ส่วน โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อยู่ที่ 0.10 % ขณะที่ สธ. บอกว่าหากจะให้โควิด เป็นโรคประจำถิ่น จะต้องป่วยตายอยู่ในอัตราน้อยกว่า 0.1%
  • การเข้าโรงพยาบาล พบว่า มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ประมาณ 33.8% ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 65
  • ขณะที่ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ รายงานสถานการณ์เตียงกรุงเทพฯและปริมณฑล วันที่ 28 มกราคม 2565 รวมทุกกลุ่ม มีเตียงทั้งหมด 67,804 เตียง ครองเตียงไปแล้ว 22,639 เตียง เตียงว่างทุกกลุ่ม 45,165 เตียง อัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 33.39

ในส่วนของการฉีดวัคซีนขณะนี้ ไทยฉีดวัคซีนไปแล้วสะสม (28 ก.พ. 2564 - 27 ม.ค. 2565) รวม 114,087,421 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น

 

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,218,270 ราย (75.1%)

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 48,437,177 ราย (69.6%)

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 13,431,974 ราย (19.3%)

 

เปลี่ยน \"โควิด-19\" สู่ \"โรคประจำถิ่น\" ไทยทำได้หรือยัง ?

 

เมื่อดูกลุ่มเสี่ยงอย่างเฉพาะในกลุ่ม 607 ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 พบว่า กลุ่มที่เกิน 80% เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค

 

  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดสะสม 7,788,699 ราย สะสม 61.3%
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ฉีดสะสม 4,729,339 ราย สะสม 100.2%

 

เปลี่ยน \"โควิด-19\" สู่ \"โรคประจำถิ่น\" ไทยทำได้หรือยัง ?

 

  • 10 จังหวัด ฉีดเข็ม 2 กลุ่ม 608 ยังต่ำ

 

ขณะเดียวกัน ยังมีในบางจังหวัดที่ยังมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 ในกลุ่ม 608 ได้แก่ สูงวัย 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ยังต่ำ ไม่ถึง 60% ได้แก่

ปัตตานี

นราธิวาส

แม่ฮ่องสอน

สระแก้ว

นครสวรรค์

ลพบุรี

ยะลา

นนทบุรี

พิษณุโลก

สมุทรสงคราม

 

เปลี่ยน \"โควิด-19\" สู่ \"โรคประจำถิ่น\" ไทยทำได้หรือยัง ?

 

 

  • 3 ปัจจัยสำคัญสู่ "โรคประจำถิ่น"

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 64 โดยระบุว่า โรคก็จะกลายเป็นโรคที่อยู่กับเราคือโรคประจำถิ่น ซึ่งการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นได้ มี 3 ปัจจัย คือ

 

1. ตัวเชื้อโรคเอง

2. ตัวคนที่เป็นผู้ติดเชื้อ

3. สิ่งแวดล้อมเอื้อให้เกิดการสมดุลระหว่างเชื้อกับคน หากพูดง่ายๆ คือ เชื้ออยู่ได้คนอยู่ได้

 

การที่เชื้ออยู่กับคนได้ในสิ่งแวดล้อม คือ เชื้อมีความรุนแรงค่อยๆ ลดลง เพราะหากรุนแรงมากคนก็อยู่กับมันไม่ได้ต้องกำจัดมันให้หมด หรือคนก็ต้องถูกกำจัด หากจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เชื้อโรคจะต้องอยู่กับคนได้ ความรุนแรงจะต้องค่อยๆ ลดลง เช่น โอมิครอน ที่ความรุนแรงค่อยๆ ลดลง

 

  • 2 ปัจจัย คนอยู่กับเชื้อ

 

ขณะเดียวกัน คนต้องอยู่กับเชื้อโรคได้ คือ ติดเชื้อแล้วไม่ตาย แต่สามารถแพร่เชื้อได้ในระดับหนึ่ง การที่คนจะอยู่กับเชื้อโรคได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่

 

1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน พอเชื้อโรคมา ก็ไม่ป่วยหนัก เสียชีวิต อยู่กับเชื้อโรคได้

2. ติดเชื้อแล้วสร้างภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ เป็นต้น

 

  • ผลต่อเนื่องจะเป็นอย่างไร

 

ขณะเดียวกัน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ทางการสั่งให้โควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" แล้ว ผลต่อเนื่องจากนี้หมายความว่า

 

- โควิดไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย?

- ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองแยกกักตัว?

- ไม่ต้องมีการรายงาน?

- ถ้าเป็นการรักษา ต่อไปนี้ใช้สิทธิ์ของแต่ละคน เช่น ใช้บัตรทอง?

- ไม่ต้องมีการชดเชยการประกอบธุรกิจค่าเสียหาย?

- การตรวจใดๆ เป็นการตรวจที่ต้องเสียเงินเอง?

- วัคซีนที่ใช้อยู่เป็นวัคซีนที่ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น

- และปัจจุบันในประเทศไทยยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้ จาก สปสช แล้วต่อจากนี้ยังสามารถรับค่าชดเชยได้หรือไม่?

 

  • ยันไม่กระทบสิทธิการรักษา 

 

นพ.เกียรติภูมิ อธิบายว่า ตอนนี้โควิด19 ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น แต่ สธ.มีการวางหลักเกณฑ์ เพื่อทำแผนดำเนินการที่จะทำให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นภายในปี 2565 โดยมีแผน 2 ระยะ คือ  6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลัง หากไม่มีเชื้อกลายพันธุ์เข้ามา ประมาณ 6 เดือนก็จะพยายามทำให้ได้

 

โดยการฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การประกาศกฎหมาย การรักษาพยาบาลก็สอดคล้องกัน ส่วนเรื่องการรักษา ก็เป็นไปตามสิทธิ ซึ่งประเทศไทยมีทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ

 

สำหรับคนที่ได้หลักประกัน เช่น แรงงานต่างด้าว ก็ต้องดูแลกันต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมาใช้งบประมาณในการดูแลไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท ดังนั้น การเป็นโรคประจะจำถิ่นไม่ได้กระทบสิทธิการรักษา 

 

“กระทรวงสาธารณสุขตอบโต้สถานการณ์โควิด-19 มา 2 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะประกาศอะไรออกมา แต่ผ่านการประชุมหารือร่วมกันแล้ว โดยดูเรื่องความรุนแรงของโรค การมีภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษา เวชภัณฑ์ การรับรู้ของประชาชน และอื่นๆ 2 ปีที่ผ่านมาเราจึงต้องพยายามทำให้ไม่เกินปีนี้โควิดจะต้องเป็นโรคประจำถิ่น เพราะถ้าปล่อยไปเฉยๆ ก็จะใช้เวลามาก"

 

"อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการระบาดเป็นครั้งคราว แต่ก็ใช้การบริหารจัดการ ซึ่งก็ทำมาตลอด และทำได้ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงได้กำหนดเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นและกำหนดมาตรการวิธีต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกัน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว