อังกฤษยกเลิกแผนสองคุมโอมิครอนใช้ชีวิตกับโควิดโรคประจำถิ่น

อังกฤษยกเลิกแผนสองคุมโอมิครอนใช้ชีวิตกับโควิดโรคประจำถิ่น

หลังจากต้องกลับไปใช้ชีวิตยุ่งยากจากแผนสอง (แพลนบี) ด้วยข้อจำกัดคุมโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อังกฤษกลับไปใช้แผนหนึ่ง (แพลนเอ) เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อโรคที่อาจไม่หายไปไหนแต่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

ตามที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศข้อจำกัด “แผนสอง” เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 หลังนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน เตือนว่าแนวโน้มคลื่นยักษ์โอมิครอนกำลังถาโถม แผนสองกำหนดให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากในสถานที่ปิดทุกแห่ง และข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากคือ ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนเมื่อเข้าไนท์คลับ สนามฟุตบอล และงานที่มีคนจำนวนมาก

ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วานนี้ (27 ม.ค.65) การจัดงานและสถานที่ต่างๆ ในอังกฤษไม่จำเป็นต้องแสดงใบรับรองปลอดโควิดของบริการสาธารณสุขแห่งชาติ(เอ็นเอชเอส) หากจะใช้ก็แล้วแต่สมัครใจ กฎหมายไม่บังคับการสวมหน้ากากในทุกที่ ยกเว้นการโดยสารรถสาธารณะในกรุงลอนดอนที่ยังคงบังคับ

ชาติอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ก็กำลังผ่อนคลายข้อบังคับแต่ไม่เปิดกว้างถึงระดับอังกฤษ ที่ยกเลิกคำแนะนำนักเรียน และเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากในห้องเรียนไปตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.65 ยกเลิกแนะนำให้ทำงานจากบ้านตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.65
 

ร่างเอกสารวิสัยทัศน์โควิด-19 ของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพสหราชอาณาจักร (ยูเคเอชเอสเอ) ระบุว่า ยูเคเอชเอสเอกำลังเตรียมหันไปเน้นช่วยเหลือบุคคลกลุ่มเสี่ยงแทนการออกข้อจำกัดครอบคลุมทั้งประเทศ

“เมื่อเราวิวัฒนาการไปสู่การใช้ชีวิตร่วมกับโควิด การตอบสนองโควิด-19 ของยูเคเอชเอสเอจะเคลื่อนออกจากแนวทางรวมทั้งประเทศไปสู่การตอบสนองอย่างมีเป้าหมาย เน้นปกป้องบุคคลกลุ่มเสี่ยง เรารับประกันว่าการตอบสนองในอนาคตจะคล่องตัว ยืดหยุ่น ประชาชนสะดวกสบายมากขึ้น และคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป”

แอนดรูว์ บริดเจน ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมเผยกับรอยเตอร์ว่า ข้อจำกัดโควิด-19 เพิ่มเติม “ไม่น่าจะมี ไม่จำเป็น และเป็นไปไม่ได้ทางการเมือง”

ด้านนายกฯ จอห์นสันแถลงต่อสภาเมื่อสัปดาห์ก่อน “เมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น เราจำเป็นต้องใช้คำแนะนำและคู่มือแทนใช้กฎหมายบังคับ” ส่วนกฎหมายกำหนดให้ประชาชนติดโควิด-19 ต้องกักตัวเองจะยกเลิกในเดือนมี.ค.หรืออาจยกเลิกก่อนนั้น
 

ความเชื่อมั่นของนายกฯ จอห์นสันส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติของสายพันธุ์โอมิครอน ที่ดันการติดเชื้อสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนธ.ค. แต่การเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มตาม

แกรมห์ม เมดเลย์ ประธานกลุ่มตัวแบบโควิดของรัฐบาล กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ตอนรัฐบาลประกาศใช้แผนสอง ยังไม่ทราบชัดเจนด้วยซ้ำว่าโอมิครอนรุนแรงแค่ไหน และการฉีดเข็มกระตุ้นได้ผลหรือไม่

แผนสองใช้มาตรการจำกัดการเข้าสังคมโดยไม่ได้ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ตอนที่การติดเชื้อถึงจุดสูงสุดจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันเฉลี่ย 7 วันยังคงไม่ถึง 300 คน เทียบกับช่วงล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 ผู้เสียชีวิตวันละกว่า 1,000 คน

เมดเลย์ยังกล่าวถึงภูมิคุ้มกันที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ ประชาชนอายุ 11 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนสองโดสแล้ว 83% ฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว 63% หมายความว่าการติดเชื้อในระลอกอนาคตจะท้าทายน้อยลง แต่อาจมีสะดุดบ้าง

“แม้ผมคาดว่าเดือนม.ค.ปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ และเดือนม.ค.ปีถัดไปก็จะดีกว่าปีหน้า แต่ผมไม่แปลกใจเลยถ้าเราต้องถอยหลังในบางจุด”

นอกจากนี้เป็นไปได้ว่าจะมีทรัพยากรใหม่ในรูปของยาต้านไวรัส ตั้งเป้าป้องกันประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงที่ติดโควิดเมื่อใดจะป่วยหนัก แต่ยานี้ยังไม่กระจายเป็นวงกว้าง

หรกิจัน มิสตรี วัย 58 ปี ผู้ร่วมโครงการ “พาโนรามิก” โครงการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คหลังติดโควิดเผยว่า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา เส้นทางข้างหน้าสดใสตอนนี้เขามีความหวังมาก

ความเห็นของผู้ร่วมโครงการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์รายนี้ได้รับการตอบรับจากซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ที่กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด การตรวจหาเชื้อ และยาต้านไวรัสทำให้อังกฤษมั่นใจว่าป้องกันโควิดได้แข็งแกร่งที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป ถึงขั้นค่อยๆ กลับไปสู่แผน 1 “เรียกเสรีภาพของประเทศกลับคืนมาได้มากขึ้น”

กระนั้น นักไวรัสวิทยาวิวัฒนาการอย่างแอริส คัตซูราคิส จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เตือนในวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ว่า โรคมาลาเรียและโปลิโออาจเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ใช่ว่าไม่อันตราย “โรคบางอย่างอาจเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมๆ กับแพร่กระจายเป็นวงกว้างและคร่าชีวิตประชาชนได้เช่นกัน ผมหงุดหงิดมากเมื่อผู้กำหนดนโยบายใช้คำว่า โรคประจำถิ่น เป็นข้ออ้างให้ทำงานเพียงเล็กน้อยหรือไม่ทำอะไรเลย”

นอกจากนี้การมุ่งเน้นจัดการโควิดแทนป้องกันการติดเชื้อยังให้ผลไม่พึงประสงค์ด้วย เนื่องจากทรัพยากรของบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) ถูกเปลี่ยนไปให้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ผู้ป่วยอื่นๆ หลายหมื่นคนต้องถูกเลื่อนนัด ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างในระบบ ในเวลาเดียวกันการที่คนไข้และบุคลาการทางการแพทย์มีอัตราติดเชื้อสูงสร้างภาระหนักให้กับโรงพยาบาล

“ไม่ใช่แค่อยู่ร่วมกับโควิดเฉยๆ แต่ต้องอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย เราทุกคนต่างสิ้นหวังอยากให้การระบาดใหญ่จบเร็วๆ การลดความปั่นป่วนให้น้อยที่สุดเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ ผมรู้สึกเหมือนเรากำลังอยู่บนเส้นทางไปสู่การอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย แต่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น” แมทธิว แอชตัน ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข สภาเมืองลิเวอร์พูลให้ความเห็น

ในแง่ความรู้สึกของผู้คน บนถนนหลายสายรอบโบสถ์เซนต์พอลในกรุงลอนดอน ประชาชนสนับสนุนให้ยกเลิกข้อจำกัด หลังจากประชาชนกว่า 37 ล้านคนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว

“เป็นเรื่องดีจริงๆ ค่ะ พอยกเลิกข้อจำกัดฉันก็มาที่โบสถ์เซนต์พอล ได้เห็นโปสเตอร์โฆษณาการแสดงทุกชิ้นที่สถานีรถใต้ดิน รู้สึกดีใจมากที่ชีวิตแบบเก่ากลับมา ลอนดอนกลับไปเป็นแบบที่เคยเป็น และคุณรู้ดีว่าคิดถึงการดูหนังดูละครมากแค่ไหน” เอลิซาเบธ ไฮเนส วัย 71 ปีกล่าวตัวเธอเองเป็นมะเร็งผิวหนังขั้นที่ 4 แต่ถึงตอนนี้ “โชคดี” ที่ไม่ติดโควิด

จูเลีย วัย 28 ปีจากสเปน กล่าวว่า ถึงเวลาใช้ชีวิตตามปกติ

“ผ่านมาสองปีแล้ว ถึงเวลาต้องรับผิดชอบชีวิตตนเอง ในสเปนเราจำเป็นต้องสวมหน้ากากในทุกๆ ที่ไม่เว้นแม้แต่บนถนน ทั้งๆ ที่ไม่มีคนอื่นเลย แต่คุณต้องสวมหน้ากาก บนชายหาดคุณก็ต้องสวม”

ก่อนหน้านี้อังกฤษเคยยกเลิกข้อจำกัดไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 โดยเรียกว่า “วันแห่งเสรีภาพ” แต่หลังจากนั้นก็กลับมาออกข้อจำกัดใหม่เมื่อเจอคลื่นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์