SSM Program ฝึกกล้ามเนื้อ "ผู้สูงอายุ" ป้องกันหกล้ม สมองเสื่อม

SSM Program ฝึกกล้ามเนื้อ "ผู้สูงอายุ" ป้องกันหกล้ม สมองเสื่อม

เขตสุขภาพที่ 8 เผยผลดำเนินโครงการ SSM Program โปรแกรมออกกำลังกาย "ผู้สูงอายุ" ฝึกกล้ามเนื้อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ปีงบประมาณ 2564 ได้ผลดี ผู้สูงอายุที่เข้ารับการฝึกกว่า 61% มีพัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้น "สปสช." เตรียมปรับใช้พื้นที่อื่น

นางสาวรัชชดา สุขผึ้ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 ในฐานะผู้จัดการโครงการ SSM Program (Self -Sustained Movement Program) ซึ่งเป็นโปรแกรมการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อขา หน้าท้อง และกล้ามเนื้อแขน ช่วยให้ผู้สูงอายุมีร่างกายแข็งแรง ป้องกันการพลัดตกหกล้มและสมองเสื่อม ตลอดจนสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง

 

โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ 7 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 8 ประกอบด้วย อุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองคาย เลย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2564 ว่ามีผู้สูงอายุเข้ารับการฝึกในโปรแกรมนี้มีสมรรถภาพของกล้ามเนื้อดีขึ้นถึง 61% จากจำนวนผู้ที่เข้ารับการฝึกทั้งหมด 2,064 คน

 

SSM Program ฝึกกล้ามเนื้อ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันหกล้ม สมองเสื่อม

 

  • สูงวัย พัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้น

 

นางสาวรัชชดา กล่าวว่า หากพิจารณาผลลัพธ์ พบว่า โปรแกรมนี้ช่วยเพิ่มสมรรถภาพกล้ามเนื้อของ "ผู้สูงอายุ" ในทุกช่วงอายุ แบ่งเป็น

 

อายุ 60-64 ปี มีพัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้น 475 คน จากทั้งหมด 799 คน

อายุ 65-69 ปี มีพัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้น 433 คน จากทั้งหมด 661 คน

อายุ 70-74 ปี มีพัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้น 233 คน จากทั้งหมด 338 คน

อายุ 75-79 ปี มีพัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้น 91 คน จากทั้งหมด 143 คน

อายุ 80 ปีขึ้นไป มีพัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้น 27 คน จากทั้งหมด 36 คน

 

โดยสรุปพบว่ายิ่งอายุมาก ยิ่งได้รับผลลัพธ์ที่ดีจากการออกกำลังกายตามโปรแกรมนี้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง

 

SSM Program ฝึกกล้ามเนื้อ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันหกล้ม สมองเสื่อม

  • เดินดีขึ้น 65% 

 

ขณะเดียวกัน หากแยกพัฒนาในด้านต่างๆ พบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าฝึกตามโปรแกรมนี้มีความสามารถในการเดินดีขึ้น 65% ความสามารถในการปรับเปลี่ยนอิริยาบทดีขึ้น 65% ความสามารถในการใช้มือดีขึ้น 59% และความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้น 55% 

 

"ข้อสรุปจากการดำเนินงานโครงการนี้คือ SSM Program มีประสิทธิผลต่อการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อผู้สูงอายุได้จริง ในทุกช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีจนถึงอายุมากกว่า 80 ปี ช่วยให้ผู้สูงอายุมีอิสระ ใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ Quality of Motion (QOM) Quality of Life (QOL)"  นางสาวรัชชดา กล่าว

 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวภายหลังเข้ารับฟังการสรุปผลโครงการและลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อเยี่ยมผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่า สิ่งสำคัญที่ สปสช. สนใจคือโปรแกรมนี้ได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งจากการเยี่ยมผู้สูงอายุที่ผ่านการฝึกก็พบว่าได้ผลจริง จากคนที่ปวดเข่า ลุกนั่งไม่ค่อยได้ต้องให้คนช่วย ต้องทานยา พอฝึกแล้วก็มีสมรรถภาพที่ดีขึ้น ไม่ต้องทานยาอีก

 

สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถออกไปเกี่ยวข้าวได้ ซึ่งเดิม สปสช.สนับสนุนโครงการนี้จากงบส่งเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่ แต่ในระยะต่อไป สปสช. จะนำโครงการนี้เผยแพร่ไปให้กลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ (กปท.) ของแต่ละพื้นที่รับทราบมากขึ้น

 

SSM Program ฝึกกล้ามเนื้อ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันหกล้ม สมองเสื่อม

"SSM Program ไม่ได้ใช้เงินเยอะ หัวใจสำคัญคือการชักชวนให้ผู้สูงอายุมาออกกำลังกายตามรูปแบบที่โปรแกรมกำหนด ดังนั้น สปสช.จะนำตัวอย่างนี้เผยแพร่ไปยัง กปท.ต่างๆ ว่ามีโครงการที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะและได้ผลจริง สามารถติดต่อนำไปดำเนินการได้"ทพ.อรรถพร กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ทพ.อรรถพร  ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการจะดำเนินโครงการนี้ ท้องถิ่นและหน่วยบริการในพื้นที่ต้องพร้อม ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เขตสุขภาพที่ 8 ดำเนินการได้สำเร็จเนื่องจากโครงการนี้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 8 ให้ความสำคัญ และทีมงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาครู ก เข้าไปชักชวนผู้สูงอายุเข้ามาร่วมโครงการ ดังนั้น ถ้า 3 ทีมนี้พร้อมก็สามารถดำเนินการได้

 

SSM Program ฝึกกล้ามเนื้อ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันหกล้ม สมองเสื่อม