10 แนวปฎิบัติเมื่อผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19 แยกกักตัวที่บ้าน

10 แนวปฎิบัติเมื่อผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19 แยกกักตัวที่บ้าน

แนะผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้สูงอายุติดเชื้อแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน Home Isolation (HI) ให้ยึด 10 แนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สปสช.ประชุมเครือข่ายจิตอาสา พร้อมหนุนเสริมการทำงานเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกัน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล แต่ให้แยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) เพื่อสังเกตอาการได้ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อ ที่มีอายุไม่เกิน 75 ปีบริบูรณ์ มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ที่กระทรวงสาธาณสุขกำหนดแล้ว ก็สามารถกักตัวที่บ้านได้

     นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้คำแนะนำ กลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อกักตัวที่บ้านให้ยึด 10 แนวทางปฏิบัติ ดังนี้

1) แยกรับประทานอาหาร และแยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่นภายในบ้าน

2) งดออกจากบ้านพักตลอดเวลา

3) ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น กรณีไม่สามารถแยกได้ ให้ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดทุกครั้ง และทำความสะอาดจุดสัมผัส เช่น ปุ่มกดชักโครก ก๊อกน้ำ และบริเวณอื่น ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที

4) ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ต้องพบหรือพูดคุยกับญาติ และผู้ดูแล รวมถึงต้องเว้นระยะห่าง อย่างน้อย 1 เมตร

5) งดให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านขณะแยกกักตัว

6) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นประจำ

7) แยกซักเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอนด้วยน้ำอุ่นและผงซักฟอก แล้วตากแดดให้แห้ง

8) แยกล้างภาชนะ บรรจุอาหารด้วยน้ำและน้ำยาล้างจาน

9) ทิ้งขยะที่สัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษชำระ ในถุงขยะสีแดง และปิดปากถุงให้แน่น แต่ในกรณีที่ไม่มีถุงขยะสีแดง ให้เขียนกำกับบนถุงให้ชัดเจนว่า “ขยะติดเชื้อ” แล้วแยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อ กรณีเป็นขยะที่ไม่สัมผัสสารคัดหลั่ง ให้เช็ดหรือราดด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วทิ้งเป็นขยะทั่วไปได้ และ

10) แยกกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย หรือตรวจพบเชื้อ

 

  • เครือข่ายจิตอาสาดูแลผู้ติดเชื้อ

สำหรับญาติของผู้สูงอายุติดเชื้อที่ต้องแยกกักตัวที่บ้าน ต้องเฝ้าติดตามอาการของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮฮล์เป็นประจำ ส่วนการจัดส่งอาหารและน้ำดื่ม อาจใช้วิธี แขวนที่ลูกบิดประตูห้องที่มีความสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร

"ทั้งนี้ ให้ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อหรือญาติ คอยสังเกตอาการผู้สูงอายุ โดยวัดอุณหภูมิ และ oxygen saturation ทุกวัน หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติ ของระดับออกซิเจนที่วัดได้อยู่ที่ 96 - 100 เปอร์เซ็นต์ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

วานนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประชุมกับเครือข่ายจิตอาสาภาคประชาชน ภาคธุรกิจ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรอาสา และมูลนิธิต่างๆ ร่วม 80 คนเพื่อร่วมมือช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้าสู่ระบบการรักษา ได้คล่องตัวมากขึ้น  

10 แนวปฎิบัติเมื่อผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19 แยกกักตัวที่บ้าน

“ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข” รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่าที่ผ่านมา สปสช.ได้ทำงานร่วมกับทีมจิตอาสา โดยรับผู้ป่วยต่อจากทีมจิตอาสาเพื่อประสานหาหน่วยบริการดูแลให้ รวมถึงการประสานหาเตียงใน รพ.กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการแย่ลง 

ปัญหาที่พบเจอในการช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นความยากลำบากในการประสานงานและติดต่อกับภาครัฐ ตั้งแต่การไม่เป็น one stop service ทำให้แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ ไม่เป็นระบบ จิตอาสาต้องประสานกับหลายหน่วยงานกว่าที่จะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยที่รอคอยมีอาการแย่ลง 

 

  • ข้อแนะนำจากเครือข่ายจิตอาสาดูแลผู้ป่วยโควิด ​             

เครือข่ายจิตอาสาต้องการให้มีการจัดทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในลักษณะของ patient journey หรือเมื่อประชาชนมีอาการสงสัยว่าป่วยโควิด จะหา ATK ที่ สปสช. สนับสนุนได้อย่างไร หรือเมื่อตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อต้องทำอย่างไรต่อ หากคนไข้อาการหนักขึ้น จะส่งต่อเข้าระบบอย่างไร ไม่ให้ล่าช้า รวมไปถึงการต้องมี one stop service หรือการติดต่อหน่วยงานรัฐให้เบ็ดเสร็จในจุดเดียว และการเชื่อมข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย

รวมไปถึงรายละเอียดการดูแลผู้ป่วย เช่น กรณีต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย สปสช.สามารถใช้งบประมาณสนับสนุนรถแท็กซี่ที่เข้ามาร่วมให้บริการได้หรือไม่ รวมไปถึงการขั้นตอนการจ่ายยา-การส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 บทบาทของร้านขายยาที่จะเข้ามาช่วยเสริมการคัดกรองและการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน

กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตกค้างไม่ได้รับการจับคู่ดูแลกับสถานพยาบาล ต้องทำอย่างไร และอื่นๆ ซึ่งข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ สปสช.รับไปดำเนินการ และจะมีการนัดประชุมอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อสรุปแนวทางทำงานร่วมกันต่อไป

  • กทม.เปิด HI-ศูนย์พักคอย3พันเตียง

สำหรับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ด้วยตนเอง สามารถโทรประสานเบื้องต้นเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา ได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โทร.1330 กด 14 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือประสานทางช่องทาง Line @nhso เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19 รวมทั้งสามารถประสานผ่านช่องทางของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศูนย์เอราวัณ โทร.1669 ตลอด 24 ชั่วโมง และLine @BKKCOVID19CONNECTในส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย สามารถทำการแยกกักรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) ได้

ทั้งนี้กทม.ได้จัดเตรียมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) สำหรับรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามาดูแลรักษาอาการเพื่อรอการส่งต่อการรักษาในสถานพยาบาลต่างๆ ตามอาการ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานครมีศูนย์พักคอยที่เตรียมพร้อมสำหรับเปิดให้บริการทั้งหมด 41 แห่ง ปัจจุบันเปิดให้บริการรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามาดูแลรักษาอาการป่วยแล้ว 25 แห่ง รวมจำนวนเตียงทั้งหมด 3,356 เตียง มีผู้ครองเตียง 205 เตียง

  • จุดฉีดวัคซีนกระตุ้น 101 แห่ง 

ประกอบด้วยโรงพยาบาลในสังกัด กทม. และโรงพยาบาลในเครือข่าย 31 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.69 แห่ง เพื่อฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ โดยประชาชนสามารถติดต่อไปยังโรงพยาบาลได้โดยตรง หรือติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่น คิวคิว (QUEQ) ได้เช่นกัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เลือกวัคซีนได้ โดยคนที่ฉีดสูตรแอสตร้าฯ – แอสตร้าฯ จะได้รับเข็มบูสเป็นไฟเซอร์ ส่วนถ้าฉีดสูตรซิโนแวค – ซิโนแวค มาแล้ว 2 เข็ม สามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นแอสตร้าฯ หรือ ไฟเซอร์ 

สำหรับจุดฉีดวัคซีนในห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ที่คาดว่าจะเปิดเร็วๆ นี้ และมีที่ โรงพยาบาลนวมินทร์ โรงพยาบาลปัญญาปาร์ค โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย ห้างสรรสินค้าเซ็นทรัลและสถานที่ต่างๆ จะเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้มากที่สุด จุดฉีดที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) จะเป็นจุดเก็บตกผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ประชาชนสามารถเดินทางไปเข้ารับวัคซีนได้ที่จุดฉีดวัคซีนนี้

  • ข้อปฏิบัติตนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ

 -สวมหน้ากากอย่างถูกวิธีตลอดเวลา ทั้งในขณะที่อยู่ในห้องเดียวกัน ใกล้ผู้ป่วยหรือเวลานำอาหารไปให้ผู้ป่วย

- ห้ามจับส่วนด้านหน้าของหน้ากากอนามัยโดยเด็ดขาด

-หากหน้ากากอนามัยเปื้อนหรือเปียกชื้นให้รีบเปลี่ยนทันที

-ทิ้งหน้ากากอนามัยลงในถุงขยะติดเชื้อทุกครั้ง

-ระมัดระวังการสัมผัสใบหน้าตัวเองและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก

-ล้างมืออย่างถูกวิธีหลังจากใกล้ชิดผู้ป่วยทุกครั้ง

-ควรแยกใช้ห้องน้ำ หากทำไม่ได้ควรให้ผู้ป่วยใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังใช้ทุกครั้ง

- สวมถุงมือเมื่อต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วยและล้างมือทุกครั้งหลังถอดถุงมือ

-ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าขนหนู เครื่องนอน

 -ผู้ที่ดูแลผู้ป่วย หรือผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวทำการ HI ที่บ้านปฏิบัติตามข้อแนะนำทั้งหมดอย่างเคร่งครัด