เปิดผลวัคซีนโควิด19หลังใช้จริง สูตรต่างๆต่อแต่ละสายพันธุ์

เปิดผลวัคซีนโควิด19หลังใช้จริง สูตรต่างๆต่อแต่ละสายพันธุ์

สธ.เผยแนวโน้มสถานการณ์โควิด19 เริ่มทรงตัว เร่งฉีดวัคซีนโควิดเข็ม3 จังหวัดแซนด์บ็อกซ์ให้ได้ 50% พร้อมเปิดประสิทธิผลวัคซีนหลังใช้จริงใน 4 พื้นที่ พบกระตุ้นด้วยไฟเซอร์-แอสตร้าฯผลไม่ต่าง ส่วนเตียงสีแดงครองเตียงลดลง

 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่จนถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยโควิดจะติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีโอมิครอนระบาดในไทย แต่เรื่องการรักษาพยาบาล ตลอดจนความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่อาการหนักต้องอยู่ไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตแต่ละวันตั้งแต่ปีใหม่ถึงขณะนี้มีจำนวนค่อนข้างขาลง อยู่ในจำนวนไม่เกิน 20 รายมาระยะหนึ่งแล้ว จึงทำให้ค่อนข้างมั่นใจ ประกอบกับข้อมูลวิชาการต่างๆ ก็ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เชื้อโอมิครอน แม้จะติดเชื้อง่ายแต่ความรุนแรงไม่เท่าเดลตา อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ที่สธ.กำหนด โดยได้มอบเป็นนโยบายว่าสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ให้สามารถwalk inไปฉีดได้เลยไม่ต้องลงทะเบียน
"ในฐานะเป็นภาครัฐบาล ภาคนโยบาย ขอยืนยันต่อประชาชนว่า ตัวผมเอง ท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรี พร้อมจะสนับสนุนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่เสนอโดยคณะแพทย์ จากสถานบันวิจัย สถาบันการศึกษาต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีมาตรการทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่สุด ส่วนมาตรการต่างๆหากทุกอย่างมีแนวโน้มดีขึ้น ทางสธ.จะทำการเสนอ ศบค.ให้ผ่อนคลายมาตรการให้มาก และเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ขณะเดียวกันหากมีเหตุใดสุ่มเสี่ยง ทางสธ.ก็พร้อมชี้แจงและเสนอมาตรการเพื่อย้ำความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก" นายอนุทิน กล่าว

   ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการระบาดสะสมเกือบ 320 ล้านคน แต่ผู้เสียชีวิตเริ่มลดลง โดยเสียชีวิตสะสมประมาณ 5.5 ล้านคน ส่วนประเทศไทยผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ 7,916 ราย จากต่างประเทศ 242 ราย มีผู้เสียชีวิต 15 คน ผู้ป่วยอาการหนัก ปอดอักเสบมี 510 ราย ต้องใส่ท่อช่วยจำนวน 105 ราย ซึ่งแนวโน้มการติดเชื้อในประเทศ 14 วัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงแรกของสัปดาห์ในเดือนม.ค. แต่ขณะนี้ค่อนข้างทรงตัว และอาจลดลงได้ ส่วนผู้ป่วยหนักมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลงมาก


จากสถานการณ์แนวโน้มการคาดการณ์โดย กรมควบคุมโรค ช่วงแรกการระบาดค่อนข้างรวดเร็ว
แต่หลังจากมีการเตือน มีมาตรการต่างๆ ได้รับความร่วมมือดีจากทุกภาคส่วน เมื่อรู้ตัวเราระมัดระวังขึ้น การแพร่ระบาดก็ค่อนข้างคงที่ ส่วนอัตราตายอยู่อันดับต่ำกว่าเส้นคาดการณ์ ถือว่าดีมาก เป็นผลมาจากตัวโรคความรุนแรงน้อยลง ภูมิต้านทานประชาชนดีขึ้น เพราะร่วมมือกันฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 บางท่านก็บูสเตอร์เข็ม 3 และกลุ่มมีความเสี่ยงก็บูสเข็ม 4 ซึ่งเมื่อภูมิฯดีโรคก็จะอ่อนแอลง และอยู่กับโรคได้ปลอดภัยขึ้น

เปิดผลวัคซีนโควิด19หลังใช้จริง สูตรต่างๆต่อแต่ละสายพันธุ์

   สำหรับการฉีดวัคซีนสะสมวันนี้อยู่ที่ 108,594,507 โดส ถือว่าฉีดได้มาก โดยต้นปีได้ปรับฐานประชากรใหม่จากกระทรวงมหาดไทย โดยเข็มที่ 1 ครอบคลุมประชากร 76.92% ส่วนเข็ม 2 ครอบคลุม 70.32% เข็ม 3 ครอบคลุม 13.63% ซึ่งเข็มสามขึ้นเร็วมาก เมื่อวานฉีดมากถึง 337,033 โดส โดยเข็มที่ 3 ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวหรือแซนด์บ็อกซ์ อยากให้ถึง 50% โดยเร็วใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งพยายามเร่งฉีดวัคซีน หากทำได้ถือว่าประเทศปลอดภัยอีกระดับหนึ่ง
"ขอประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันทำ VUCA ประกอบด้วย V- Vaccine, U-Universal Prevention, C- Covid-19 free setting และ A- ATK สำหรับชุดตรวจ ATK ที่มีการขาดแคลน ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม ได้จัดหาและเตรียมไว้สัปดาห์ละ 1 ล้านเทส ราคา 35 บาท" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
เปิดผลวัคซีนโควิด19หลังใช้จริง สูตรต่างๆต่อแต่ละสายพันธุ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ฉีดวัคซีนโควิด19สะสมแล้วกว่า 108 ล้านโดส และในเดือน ม.ค.2565 ตามแผนที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ศบค. จะฉีดอย่างน้อย 9 ล้านโดส ซึ่งผ่านไปครึ่งทางเป็นไปตามเป้า อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคใหม่ วัคซีนก็ชนิดใหม่ การติดตามประเมินผลติดตามวัคซีนเป็นระยะจึงมีความสำคัญมาก
จากการประมวลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิด19 ในโลกจริง ตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค.2564 ใน 4 พื้นที่ ตามวัคซีนสูตรต่างๆ พบผลดังนี้
1.ภูเก็ต ช่วงส.ค. 2564 ที่มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อัลฟา
- ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 27% ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 90%
-ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 ป้องกันการติดเชื้อ 94.2% ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 100%

2.กรุงเทพฯ ช่วงก.ย.-ต.ค.2564 ที่มีการระบาดของอัลฟาและเดลตา
-ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 66%
-แอสตร้าฯ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 75%
-ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ป้องกันการติดเชื้อ 75%
-ซิโนแวค2เข็ม+แอสตร้าฯ ป้องกันการติดเชื้อ 86%
-ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ ป้องกันการติดเชื้อ 82%
เปิดผลวัคซีนโควิด19หลังใช้จริง สูตรต่างๆต่อแต่ละสายพันธุ์
3.เชียงใหม่ ช่วงธ.ค.2564 ที่มีเชื้อเดลตาระบาด
-ซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 28% ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 97 %
-แอสตร้าฯ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ93 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 97%
-ไฟเซอร์ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ92 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 97%
-ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ป้องกันการติดเชื้อ93 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 97 %
-ซิโนแวค2เข็ม+แอสตร้าฯ ป้องกันการติดเชื้อ 96 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 99 %
-ซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ และซิโนฟาร์ม 2 เข็ม+ไฟเซอร์ ป้องกันการติดเชื้อ 98 % ป้องกันป่วยหนัก/เสียชีวิต 99%

4.กาฬสินธุ์ ช่วงธ.ค.2564 ที่มีการระบาดของโอมิครอน ซิโนแวค 2 เข็ม ,แอสตร้าฯ 2 เข็ม,ไฟเซอร์ 2 เข็ม และซิโนแวค+แอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อได้ 13%
- ซิโนแวค2เข็ม+แอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อได้ 89%
- ซิโนแวค2 เข็ม+ไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ 79%

นพ.โอภาส กล่าวว่า หากสังเกตการสำรวจข้อมูลติดตาม ในเดือน ส.ค. มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา ที่กรุงเทพฯ เดือน ก.ย.-ต.ค.มีการระบาดของอัลฟา และเดลตาอย่างมาก ส่วนเชียงใหม่ มีการระบาดสายพันธุ์เดลตาเดือน ธ.ค. และล่าสุด สายพันธุ์โอมิครอน มีการระบาดในคลัสเตอร์ร้านอาหารที่กาฬสินธุ์ จะพบว่าแต่ละช่วงเวลา เชื้อจะแตกต่างกัน อย่างกรณีภูเก็ต พบว่า วัคซีนเชื้อตายป้องกันการติดเชื้อ 27% ป้องกันป่วยหนักเสียชีวิตได้ 90% ส่วนกรุงเทพฯ ป้องกันการติดเชื้อได้ 66%

สังเกตจากข้อมูลจะเห็นว่าประสิทธิผลการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต ทุกสายพันธุ์ได้คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะฉีดสูตรปกติ ฉีดสูตรไขว้ หรือบูสเตอร์ได้ประมาณ 90-100% ด้วยซ้ำไป
ประการที่สองประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ จะเห็นว่าแต่ละสูตรมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอสมควร แต่บางสูตรเห็นว่าน้อย ต้องนำเรียนว่าปัจจัยหนึ่งคือ ระยะเวลาการฉีด โดยการฉีดใหม่ๆ ช่วง 2-3 เดือนแรกค่อนข้างสูง แต่ผ่าน 3 เดือนไปจะลดลง แต่ เมื่อมีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อจะสูงขึ้น
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นระยะ พบว่า การฉีดวัคซีนทุกประเภท ทุกสูตรมีประสิทธิผลสูงมาก 90-100% การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มประเภทเดียวกันหรือสูตรไขว้ มีประสิทธิผลสูงพอสมควร ในการป้องกันติดเชื้อ โดยประสิทธิผลจะลดลง ส่วนการฉีดเข็มสาม ในผู้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือสูตรไขว้เพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้นและช่วยควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
" การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม การกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ มีประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้สูงไม่แตกต่างกัน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้น ทั้งสูตรแอสตร้าหรือไฟเซอร์ ป้องกันโอมิครอนได้ถึง 80-90%"นพ.โอภาสกล่าว
เปิดผลวัคซีนโควิด19หลังใช้จริง สูตรต่างๆต่อแต่ละสายพันธุ์
การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญ โดย

1. ผู้ที่ถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะประกอบดังนี้
-ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าฯ ครบในเดือน ส.ค.-ต.ค.64 ให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก
-ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้า ครบ 2 เข็มในเดือน ส.ค.- ต.ค.64 ให้ฉีดกระตุ้นด้วยไฟเซอร์
-ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็มตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เป็นหลัก

2.การให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อ ให้ฉีดแอสตร้าฯ กระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ หรือครบตามเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ
ทั้งนี้ คนที่ฉีดวัคซีนครบเข็ม 2 ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. 64 ที่ผ่านมา ให้ไปฉีดกระตุ้นในเดือน ธ.ค.64 ส่วนคนที่ฉีดก.ย.-ต.ค.64 ให้กระตุ้นเดือน ม.ค. 65 และคนที่ฉีดครบเดือนต.ค.-พ.ย. 64 ที่ผ่านมาให้ฉีดกระตุ้นในเดือน ก.พ. 65 ส่วนคนฉีดครบเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 ให้ฉีดเดือน มี.ค.65 ตรงนี้จะทำให้สามารถควบคุมการระบาด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนได้
เปิดผลวัคซีนโควิด19หลังใช้จริง สูตรต่างๆต่อแต่ละสายพันธุ์
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ครองเตียงเมื่อเทียบช่วง 9 ม.ค. และ 13 ม.ค.2565 ภาพรวม ทั้งประเทศ เพิ่มจาก 35,829 เป็น 46,873 เตียง กทม.จาก7,488 เป็น 11,742 เตียง
- เตียงระดับสีแดง ทั้งประเทศ ลดลง จาก 213 เป็น 182 เตียง กทม.คงที่ที่ 25 เตียง
- ระดับสีเหลือง ทั้งประเทศ เพิ่มจาก 1,681 เป็น 3,095 เตียง กทม.เพิ่มจาก 513 เป็ร 1,246 เตียง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เมื่อติดเชื้อแพทย์ไม่วางใจจึงให้รักษาในเตียงระดับสีเหลืองไว้ก่อน แม้จะไม่ต้องใช้ออกซิเจนก็ตาม
- ระดับสีเขียวรวมฮอสพิเทล ทั้งประเทศ เพิ่มจาก 33,935 เป็น 43,506 เตียง กทม.เพิ่มจาก 8,950 เป็น 10,471 เตียง 

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส.ขยายศักยภาพ รพ.เอกชนไปสู่โรงแรม ให้ผู้ติดเชื้อที่อาการรุนแรงขึ้นได้รับการดูแลใกล้หมอ พยาบาล และเครื่องมือ ซึ่งข้อมูลถึงวันที่ 13 ม.ค. มีการอนุมัติฮอสปิเทล 162 แห่ง รวม 49,137 เตียง เปิดดำเนินการ 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง โดยเตียงระดับ 1 สีเขียว จำนวน 28,645 เตียง ใช้เตียงแล้ว 14,979 เตียง ยังเหลือ 13,666 เตียง หรือว่างอีกเกือบ 50% เตียงสีเหลืองระดับ 2.1 มี 1,187 เตียง ใช้แล้ว 472 เตียง ว่างอีก 715 เตียง ระดับ 2.2 มี 352 เตียง ใช้แล้ว 55 เตียง เหลืออีก 297 เตียง และเตียงสีแดงระดับ 3 มีทั้งหมด 56 เตียง ใช้แล้ว 4 เตียง ว่างอีก 52 เตียง 

นอกจากนี้ สบส.ได้ออกประกาศประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 7)   ลดอัตราค่าตรวจ RT-PCR จากฉบับแรก 3,125 บาท ฉบับที่ 5 ลดลงเหลือ 2,250 บาท และล่าสุดฉบับที่ 7 เหลือ 1,300-1,500 บาท และลดค่าห้องฮอสปิเทล 1,500 บาท เหลือ 1,000 บาท โดยมีการหารือฝั่ง รพ.เอกชนซึ่งก็ให้ความร่วมมืออย่างดีในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เราบริหารจัดการเตียงให้รองรับประชาชนสอดรับกับงบประมาณให้เข้าถึงเป็นธรรม และศักยภาพเตียงยังพอรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้น HI ก่อน 

เมื่อถามถึงการหารือกับ คปภ.กรณีประกันสุขภาพผู้ป่วยคนไทยหากเข้า HI ประกันจ่ายหรือไม่ ทพ.อาคมกล่าวว่า อธิบดี สบส.หารือปัญหานี้กับรองเลขาธิการ คปภ.แล้ว ซึ่งเลขาธิการ คปภ.รับเรื่อง และจะหารือกับบริษัทประกันภัย เรื่องกรมธรรม์ หากมีความคืบหน้าจะแจ้งต่อไป