ทริป "ไหว้พระ" 9 วัด เสริมสิริมงคลรับ ปี 2565

ทริป "ไหว้พระ" 9 วัด เสริมสิริมงคลรับ ปี 2565

ปีใหม่ปีนี้ หลายวัดเปลี่ยนจากการสวดมนต์ข้ามปี เป็นรูปแบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน ใครที่ยังอยู่กทม. ไม่ได้กลับต่างจังหวัด และกำลังมองหาทริปในช่วงวันหยุด การไหว้พระ 9 วัด ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเสริมสิริมงคลรับสิ่งดีๆ ปีใหม่

ส่งท้ายปีเก่า "ต้อนรับปีใหม่" หลายคนกลับบ้านฉลองกับครอบครัว หลายคนเลือกที่จะสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้หลายวัดปรับมาเป็นการสวดมนต์ข้ามปีรูปแบบออนไลน์ แต่หากใครที่อยู่ กทม. หรือไม่ได้กลับต่างจังหวัดเนื่องจากติดงานหรือเพราะสถานการณ์โควิด กรุงเทพธุรกิจ รวมทริป "ไหว้พระ" 9 วัด เพื่อความเป็นสิริมงคลรับ ปี 2565 ดังนี้ 

 

1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

 

วัดแรกที่จะพลาดไม่ได้เลย คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327 อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอกทางทิศตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปปางสมาธิ ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 48.3 ซม. สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร 66 ซม. บนบุษบกทองคำ ภายในพระอุโบสถของวัด และระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมากเรื่องรามเกียรติ์

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 วัดพระแก้วได้เปิดให้เข้าชมได้ภายใต้มาตรการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณทางเข้าชมพระบรมมหาราชวัง เจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยวสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดจุดลงทะเบียนเข้า – ออก พระบรมมหาราชวัง โดยเขียนรายละเอียด ชื่อ-สกุล เบอร์โทรศัพท์ หรือสแกน QR CODE ในเว็บไซด์ www.ไทยชนะ.com

 

มีจุดบริการล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แบบเท้าเหยียบ จัดระยะห่างระหว่างบุคคลตามจุดรับบริการในพระบรมมหาราชวัง ทำความสะอาดพื้นที่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ /ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม ทุก 20 นาที มีจุดให้บริการทางการแพทย์ที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เวลาเปิดปิด : 8:30 น. - 15:30 น.

2. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

 

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดภูเขาทอง (Temple of the Golden Mount Bangkok) เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจุดเด่นคือ พระบรมบรรพต หรือที่เรียกกันว่าภูเขาทอง วัดสระเกศ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก เปลี่ยนเป็นชื่อวัดสระเกศในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ส่วนพระบรมบรรพรต หรือ เจดีย์ภูเขาทอง เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

 

13 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญวัดสระเกศที่ต้องสักการะ ได้แก่ 1.พระวิหาร 2.พระอุโบสถ 3.พระวิหารหลวงพ่อดำ 4.หอไตร 5.พระวิหารหลวงพ่อโต 6.พระประธาน พระอุโบสถ วัดสระเกศ 7.หลวงพ่อดำ 8.พระอัฏฐารส 9. หลวงพ่อโชคดี หรือ มีพระนามเต็มว่า "พระพุทธมงคลสุวรรณบรรพต” 10.หลวงพ่อดวงดี พระนามเต็มว่า “พระพุทธมงคลบรมบรรพต” 11. หลวงพ่อโต 12.ศาลาการเปรียญ และ 13. ต้นพระศรีมหาโพธิ์

 

แม้ในปีนี้ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จะมีการออกประกาศเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 64 ผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  เรื่องการ งดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค. 64 - 1 ม.ค. 65 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จึงจำเป็นต้องงดการรวมตัวของคนจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ตามหน่วยบำเพ็ญกุศลต่างๆ ภายในวัด เปิดให้นมัสการสักการะตามปกติทุกวัน

เวลาเปิดปิด : ทุกวัน 7.30 น. - 19.00 น.

3. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

 

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และอยู่มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า อยู่บริเวณหน้าวัด

 

สำหรับในปีนี้ วัดสุทัศเทพวราราม ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ประกาศ งดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สามารถกราบสักการะขอพร พระพุทธศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) , พระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ , พระพุทธเสฏฐมุนี (หลวงพ่อกลักฝิ่น) , ขอพรท้าวเวสสุวรรณ , ปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานสำคัญ และทำบุญอื่นๆ เพื่อเป็นสิริมงคลได้ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึง วันที่ 2 มกราคม 2565 โปรดปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

เวลาเปิดปิด : ทุกวัน 08.30-21.00 น.

 

4. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

 

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (เดิมชื่อว่า วัดใหม่) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พระประธานในพระอารามนี้มีความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ โดยทั่วไป คือ มีพระประธาน 2 องค์ และล้วนมีความสำคัญเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ได้แก่ พระพุทธชินสีห์ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก โดยอัญเชิญมาทั้งองค์ราวปี พ.ศ. 2373 และพระสุวรรณเขต หรือ "พระโต" หรือ หลวงพ่อเพชร พระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานไว้เบื้องหลังพระพุทธชินสีห์ เป็นพระประธานองค์แรกของอุโบสถวัดนี้ ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี

เวลาเปิดปิด : ทุกวัน 08.00 – 17.00 น.

 

5. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

 

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือวัดระฆัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรมหาวิหาร อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกายภาค 1 เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และยกเป็นพระอารามหลวง เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังเป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชอีกด้วย

 

ปัจจุบันเปิดให้เข้าไปเยี่ยมชมและสักการะได้ทุกวันโดย มีการทำความสะอาดสถานที่อย่างสม่ำเสมอ มีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์หรือจุดล้างมือ มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ นักท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากากอนามัย และ พนักงานต้องสวมหน้ากากอนามัย

เวลาเปิดปิด : ทุกวัน 8.00-17.00 น.

 

6. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ราชวิมหาวิหาร

 

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ราชวรมหาวิหาร อยู่ริมสนามหลวง ถนนหน้าพระธาตุ (ใกล้มหาวิทยาลัยศิลปากร ) เป็นพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกายชั้นเอก เดิมชื่อ วัดสลัก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่พร้อมพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า วัดนิพพานาราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระศรีสรรเพชญ์ เคยใช้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฏก หลังจากกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงเปลี่ยนนามพระอารามใหม่ว่า วัดมหาธาตุ ส่วนคำว่า ยุวราชรังสฤษดิ์ มาเพิ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังจากที่ทรงปฏิสังขรณ์

 

ภายในวัดมีสิ่งสำคัญ คือ พระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑป วิหารโพธิ์ลังกา หรือวิหารน้อย ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ชื่อ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เวลาเปิดปิด : ทุกวัน 07.30-18.00 น.

 

7. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 ตัวพระอุโบสถภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ประกอบด้วยลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ รูปเทพพนม ภายในเป็นสถาปัตยกรรมโกธิค ศิลปกรรมที่สำคัญ ได้แก่ บานประตูหลังและหน้าต่างของพระอุโบสถ ที่มีลายไทยลงรักประดับมุกเป็นรูปดวงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ

 

สำหรับใครที่จะเดินทางไป วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร อย่าลืมปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย โดยทางวัด มีการทำความสะอาดสถานที่อย่างสม่ำเสมอ มีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์หรือจุดล้างมือ มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ มีการเช็คอินไทยชนะ นักท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากากอนามัย พนักงานต้องสวมหน้ากากอนามัย

เวลาเปิดปิด : 06.00 – 18.00 น.

 

8. วัดราชบุรณราชวรวิหาร

 

วัดราชบุรณราชวรวิหาร วัดเก่าแก่ที่คนรู้จักในชื่อว่า "วัดเลียบ" ตั้งอยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ระหว่างถนนจักรเพชรกับถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายโดยพ่อค้าชาวจีน เป็นวัดหนึ่งตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่าในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำเมือง คือ วัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐ์ และวัดราชบุรณะ

 

พระอุโบสถสร้างใหม่ทรงจตุรมุขสูงใหญ่ ยกพื้นสูง มีซุ้มเสมา ซึ่งเป็นศิลปะในรัชกาลที่ 9 ถือเป็นจุดเด่นและงดงาม สำหรับลวดลายปูนปั้นออกแบบและทำการปั้นเองโดย สง่า มยุระ จิตรกรคนสำคัญผู้เขียนภาพฝาผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัชกาลที่ 7

เวลาเปิดปิด : ตั้งแต่ 05.00-20.00 น. / อุโบสถเปิดทุกวันตั้งแต่ 17.30-18.00

 

9. ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

 

สถานที่สุดท้าย ได้แก่ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

จุดสำคัญของศาลหลักเมืองคือ เสาหลักเมือง ซึ่งได้กระทำพิธียกเสาขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เดิมทีเสาหลักเมือง มีเพียงศาลาปลูกไว้กลางแดดกันฝนเท่านั้น จนชำรุดลงอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครมีเสาหลักเมือง 2 ต้น นับจากนั้นเป็นต้นมา

 

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง ว่า เทศกาลส่งท้ายปีเก่าปี2564และต้อนรับปีใหม่ 2565 นี้ สามารถเข้ามาสักการะที่ศาลหลักเมืองได้ตามปกติ ดังนั้น ใครที่ต้องการเข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ก็สามารถไปกันได้เลย

เวลาเปิดปิด : ทุกวัน 06.00 – 18.00 น.

 

อ้างอิง : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , วิกิพีเดีย , เว็บไซต์พระบรมหาราชวัง