กรมควบคุมโรคกำชับทุกพื้นที่ทำตาม "ข้อกำหนด" หลังเกือบทำโอมิครอนรายแรกหลุดระบบ

กรมควบคุมโรคกำชับทุกพื้นที่ทำตาม "ข้อกำหนด" หลังเกือบทำโอมิครอนรายแรกหลุดระบบ

กรมควบคุมโรคส่งหนังสือแจ้ง โรงพยาบาลเอกชน-กทม.ให้ชี้แจง หลังเกือบทำผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรกในไทย หลุดระบบ เหตุเจอค่า CT สูง นึกว่าติดเชื้อเก่า  กำชับทุกจังหวัดเข้มมาตรการ

   

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.วิชาญ  ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า การจะพิจารณาว่าเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่นั้น ว่าอัตราการติดเชื้อจะยอมรับที่ระดับไหน ซึ่งจะประเมินหลายเรื่อง ทั้งศักยภาพการรับมือ การดูแลรักษาผู้ป่วย และหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ขณะนี้ยังไม่มีใครฟันธงว่า ต้องขีดเส้นเท่าไหร่ แต่ในเชิงการควบคุมโรคจะมีระดับที่อ้างอิงไว้ว่า เลเวลระดับนี้เราควบคุมได้ ซึ่งเราก็พยายามจะกดลงมาให้มากที่สุด เช่น  กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะขีดเส้นไว้ที่ หากอัตราการติดเชื้อไม่เกิน 5-10 ต่อแสนประชากร ถือว่าเราคอนโทรลได้ ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เตียงไม่ล้น

         

“ตอนนี้ กทม.อยู่ที่ประมาณ 9 ต่อแสนประชากร แต่จริงๆ ต้องให้ได้ 5 ต่อแสนประชากรจะควบคุมได้มากที่สุด อันนี้ คือ ระดับเป้าหมายที่เราวางไว้ตอนเปิดประเทศ เพราะดูทั้งอัตราการติดเชื้อใหม่ อัตราการครองเตียง  การครอบคลุมของวัคซีน ส่วนระดับประเทศจะสอดคล้องกัน แต่ก็ต้องพิจารณาบริบทของพื้นที่ ความหนาแน่นของประชากร แต่กรณีนี้คนละส่วนกับการนำมาพิจารณาโรคประจำถิ่น ซึ่งจริงๆ ต้องต่ำกว่านี้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครกำหนด”นพ.วิชาญ กล่าว

        

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นหรือไม่ต้องรอให้สายพันธุ์นิ่งก่อน นพ.วิชาญ กล่าวว่า  สายพันธุ์เปลี่ยนแปลงตลอดอยู่แล้ว  แต่ต้องดูภาพรวม การจะพิจารณาให้เป็นโรคประจำถิ่นต้องดูหลายๆ ประเทศ ดูสถานการณ์โลกด้วย  ก็ต้องดูไปเป็นขั้นตอนก่อน อย่างตอนนี้คือ การควบคุมสถานการณ์ แต่หากจะให้เป็นโรคประจำถิ่นตัวเลขก็จะลดลงไปอีก แต่ทั้งหมดอยู่ที่การพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ

      

ต่อข้อถามทั่วโลกมีการพิจารณาให้เป็นโรคประจำถิ่นกันอย่างไร นพ.วิชาญ กล่าวว่า มีการพิจารณา ทั้งในองค์การอนามัย และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ แต่ยังไม่มีการสรุป

      

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่า จะมีการระบาดขึ้นในช่วงปีใหม่ ยิ่งมีการอนุญาตให้เคาท์ดาวน์ได้ นพ.วิชาญ  กล่าวว่า จริงๆ ตัวที่มาช่วยได้คือ วัคซีน เพราะช่วยลดความรุนแรง และป้องกันระบาดได้ เพราะการติดต่อจะน้อยลง ส่วนเรื่องสายพันธุ์ที่กังวลโอมิครอน แต่ที่อยากให้ทำมากที่สุด ตอนนี้ คือ การเฝ้าระวังการเข้ามา โดยเฉพาะกรณีเทสต์แอนด์โก ต้องตรวจเชื้อให้รู้ผลก่อนจึงจะปล่อยได้ ต้องรัดกุมให้เต็มที่

ถามต่อว่า แสดงว่ามีปัญหาใช่หรือไม่ กรณีเทสต์แอนด์โก นพ.วิชาญ กล่าวว่า มี อย่างกรณีแรกที่เป็นชาวต่างชาติเดินทางมาจากสเปน โดยแพทย์พบว่า ค่า CT สูง เข้าใจผิดว่า เป็นการติดเชื้อเก่า จึงปล่อยไป แต่จริงๆ ผิดข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค ต้องให้ตรวจก่อนแล้วค่อยปล่อย ซึ่งตรงนี้เป็นเทสต์แอนด์โก ซึ่งจะต้องตรวจเชื้อก่อน ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือไปยังโรงพยาบาลเอกชนรายนี้ และกรุงเทพมหานคร ให้ชี้แจงรายนี้ว่า ผิดจากข้อกำหนดอย่างไร เพราะจะเสียทั้งระบบเมื่อไม่ปฏิบัติตาม

 

“เขาไปยึดว่า เคยติดเชื้อมาก่อน แต่จริงๆ ไม่ได้ เพราะในระบบเทสต์แอนด์โก ต้องตรวจเชื้อก่อน หรือเจอซากเชื้อก็ต้องเฝ้าระวัง ห้ามปล่อย โดยขณะนี้รอผลการชี้แจง ซึ่งทางกรมฯ แจ้งไปสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ผิดเรื่องรายงาน เปรียบเทียบปรับได้ แต่ต้องรอให้เขาชี้แจงก่อนว่า ผิดข้อกำหนดหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ ท่านอธิบดีกรมควบคุมโรคในฐานะเลขาฯ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำชับเรื่องนี้เช่นกัน” นพ.วิชาญ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์