เอ็กซเรย์เปิดประเทศ 1 เดือนครึ่ง ศบค.จ่อปรับมาตรการ  13 ธ.ค.

เอ็กซเรย์เปิดประเทศ 1 เดือนครึ่ง ศบค.จ่อปรับมาตรการ  13 ธ.ค.

ผ่านมา  1 เดือนครึ่ง นับตั้งแต่  1 พ.ย.2564 ที่ไทยเปิดประเทศ เปิดรับผู้เดินทางเข้าใน 3 รูปแบบ  ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก่อความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19ระดับไหน พร้อมกับการเผชิญ “โอมิครอน” ส่งผลให้ศบค.เตรียมประชุม 13 ธ.ค. เพื่อปรับมาตรการ

อัตราติดโควิด-19ของผู้เดินทาง

    เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 ศบค.รายงาน  ผลการดำเนินงานรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานทั้งสุวรรณภูมิ ภูเก็ต สมุยและอื่นๆ  ในช่วง 1 เดือนแรกตั้งแต่ 1-30 พ.ย.2564 มีผู้เดินทางเข้ารวม 133,061 คน ติดเชื้อ 171 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.13 % แยกตามประเภทผู้เดินทาง

 เทสต์แอนด์โก  106,211 คน ติดเชื้อ  83 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.08 %

แซนด์บ็อกซ์  21,438 คน ติดเชื้อ  44 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.21 %
กักตัว  5,412 คน ติดเชื้อ 44  ราย อัตราการติดเชื้อ 0.81 %
        ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 -11 ธ.ค. 2564  ผู้เดินทางเข้ารวม 78,169 คน ติดเชื้อ 135 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.17 % แยกตามประเภทการเดินทาง 

เทสต์แอนด์โก 67,700 คน ติดเชื้อ 74 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.11 %
แซนด์บ็อกซ์  8,296 คน ติดเชื้อ 16 ราย อัตราการติดเชื้อ  0.19 %
กักตัว  2,173 คน ติดเชื้อ 45 ราย อัตราการติดเชื้อ 2.07  %

เอ็กซเรย์เปิดประเทศ 1 เดือนครึ่ง ศบค.จ่อปรับมาตรการ  13 ธ.ค.

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยผ่านการเปิดประเทศ 1 พ.ย. มาจนถึงขณะนี้ ตอนนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ จากที่มีการประเมินว่าเปิดประเทศแนวโน้มการติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้น แต่คนที่เข้ามาผ่านทั้ง 3 ระบบก็ไม่ได้ทำให้การติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น โดย1 เดือนที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่ามาตรการต่างๆ ได้ผล เกิดจากความร่วมมือของทุกคน ส่วนที่ 2 เรื่องการติดเชื้อในประเทศ เช่น ลอยกระทงที่มีคนไปเที่ยวกันจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ ดังนั้นต้องผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ เพื่อไปสู่เทศกาลสงกรานต์ที่ทุกคนรอคอย

" ความร่วมมือของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ ไปเที่ยวที่ไหนก็ให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเปิดหน้ากาก รับประทานอาหาร พูดคุยกันขอให้สวมหน้ากากอนามัยให้มากที่สุด และต้องย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนตามกำหนด รวมถึงหากที่ไหนให้ตรวจ ATK ก็ให้ตรวจ เพราะ 3 มาตรการนี้พิสูจน์แล้วว่าช่วยให้ผ่านโควิดได้อย่างปลอดภัย"นพ.โอภาสกล่าว

     

 ยกระดับมาตรการรับมือโอมิครอน

          จะเห็นได้ว่าผลของการเปิดประเทศในช่วงเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มีอัตราการติดเชื้อของผู้เดินทางเข้าค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 ศบค.มีการประชุมเพื่อเดินหน้าสู่การเปิดประเทศระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 16 ธ.ค. 2564

       แต่ทว่าไม่เพียงข้ามคืน ในช่วงค่ำของวันที่ 26  พ.ย. 2564 องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO) ประกาศให้โควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน”ที่ตรวจพบที่แอฟริกา เป็นสายพันธุ์น่าห่วงกังวลเป็นสายพันธุ์ที่ 5 ต่อจากอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา 

      ท่ามกลางข้อมูลที่ยังไม่มากและไม่ชัดเจนเกี่ยวกับ “โอมิครอน” ในช่วงต้น ทั้งความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน การแพร่กระจายเชื้อ หรือความรุนแรงในการก่อโรค ส่งผลให้นานาประเทศ “ยกการ์ดสูง” เพื่อสกัดโอมิครอน รวมถึงประเทศไทยด้วย 

     มาตรการที่ประเทศไทยประกาศยกระดับในวันที่ 27 พ.ย. 2564 มีอย่างน้อย 10 มาตรการ ประกอบด้วย

1.ห้าม 8 ประเทศเข้าประเทศไทยตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2564

2.ประเทศอื่นนอกเหนือจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาให้เข้าประเทศในรูปแบบกักตัว

3.เพิ่มวันกักตัวจาก 10 วันเป็น 14 วัน 
4.ใช้การตรวจRT-PCR ในผู้เดินทางเข้าประเทศแบบเทสต์แอนด์โก

5.ส่งตัวอย่างจากผู้เดินทางเข้าประเทศตรวจสายพันธุ์ทุกราย 

6.เพิ่มเทคนิคตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนให้ได้รวดเร็ว

7.ติดตามตัวผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกามาตรวจโควิด-19รอบที่ 4 ด้วยวิธีRT-PCR

8.มท.สั่งเข้มชายแดน
9.เตรียมพร้อมระบบสาธารณสุข    
10.กำชับ 7 จังหวัดสำรองเตียงเพิ่ม

สกรีนไทยยังไม่มีโอมิครอนในประเทศ

      จากมาตรการที่ยกระดับ ส่งผลให้ ณ วันที่ 9 ธ.ค.2564 ประเทศไทยมีรายงานตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน 4 ราย โดยเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น  รายแรกเป็นชายชาวอเมริกันเดินทางมาจากประเทศสเปน รายที่ 2-3 เป็นหญิงไทยกลับจากประเทศไนจีเรีย และรายที่ 4 เป็นชายไทย กลับจากประเทศดีอาคองโก 
     นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ว่า สำหรับการตรวจสะสมตั้งแต่ 1 พ.ย.-  8 ธ.ค.2564 ผู้เดินทางจากต่างประเทศ และสุ่มคนที่อยู่ในประเทศ รวม 1,645 ตัวอย่าง เจอเดลตา เกือบทั้งหมด ยกเว้น 4 รายเป็นโอมิครอน เท่ากับมีเดลตาราว 99%กว่าๆ ส่วนโอมิครอน ไม่ถึง 1% ดังนั้น ศัตรูที่อยู่รอบบ้านตอนนี้ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา โดยตัวอย่างตรวจโอมิครอนในประเทศนั้น มีการสุ่มจากคนที่มีอาการหนัก ตามแนวชายแดน คลัสเตอร์ที่น่าสงสัย ผู้ที่รับวัคซีนครบโดสแล้วแต่ยังติดเชื้อ  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง  และผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ  กลุ่มเหล่านี้หากตรวจพบติดโควิด-19ก็จะมีการสุ่มมาตรวจหาสายพันธุ์ เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศ ซึ่งการตรวจ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งสามารถตรวจสายพันธุ์ได้ 

แนวโน้มโอมิครอนไม่รุนแรง
       เมื่อเวลาผ่านไป  2 สัปดาห์ ข้อมูลเกี่ยวกับโอมิครอนจากหลากหลายประเทศเริ่มมีออกมามากขึ้น 
     ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ระบุว่า  ในอดีตที่ผ่านมาเห็นได้ชัด เมื่อมีสายพันธุ์หนึ่งแพร่กระจายได้เร็วกว่า ก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม เราเห็นได้ตั้งแต่สายพันธุ์แอลฟา และสายพันธุ์เดลต้า ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า ทั่วโลกพบถึงถึง 99 เปอร์เซ็นต์

บทเรียนดังกล่าวเห็นได้ชัด จากไข้หวัดใหญ่ ก่อนที่จะมีไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 ระบาด เรามีไข้หวัดใหญ่ H1N1 ตามฤดูกาลอยู่แล้ว คนละสายพันธุ์กันเลย หลังจากการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 ไข้หวัดใหญ่ H1N1 สายพันธุ์เดิม ที่ระบาดก่อนหน้านั้น ก็ถูกแทนที่โดยไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 และไม่พบตัวเดิมอีกเลย จนถึงปัจจุบัน และก็เป็นไปไม่ได้ที่สายพันธุ์ H1N1 จะไปแทนที่ H3N2 หรือ Flu B เพราะเป็นคนละตัวกัน เช่นเดียวกันเชื้อ covid19 ก็ไม่สามารถไปแทนที่ ไวรัสโคโรนาที่เกิดโรคในเด็ก เช่น OC43 229E เพราะเป็นคนละตัวกัน

ทำนองเดียวกัน โอมิครอน ถ้าระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม ก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ

ในอดีต เราพัฒนาวัคซีนเชื้อเป็นจากไวรัส เราก็ใช้ไวรัสก่อโรค ให้มีการติดเชื้อซ้ำ แล้วซ้ำอีก ในเซลล์ทดลอง หรือสัตว์ทดลอง เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำนานๆ ไวรัสตัวนั้นก็จะอ่อนฤทธิ์ลง แล้วเอามาทำวัคซีน ชนิดเชื้อเป็น เพราะการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก ไวรัสเองก็พยายามปรับตัว ลดการทำร้ายเจ้าถิ่น หรืออ่อนฤทธิ์นั่นเอง

ขณะนี้ จากการพบผู้ป่วยทั่วโลก มีแนวโน้มที่ดี จะเห็นว่าการพบนอกทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแบบไม่มีอาการ อีกเกือบครึ่งหนึ่งมีอาการน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า และก็เช่นเดียวกันในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ผู้ป่วยสายพันธุ์ โอมิครอน ก็มีแนวโน้มที่จะรับไว้ในโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธุ์เดิมเดลต้า ถ้าทั้งหมดนี้เป็นความจริง (ที่ต้องรอพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง) ก็นับว่าเป็นข่าวดี เราก็อยากให้เป็นเช่นนั้น

ถ้าโรคไม่มีรุนแรง และมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อก็เหมือนเป็นการสร้างภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ ถึงเวลานั้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนก็จะลดลง วัคซีนจะใช้ในกลุ่มเสียง ที่มีโอกาสเป็นแล้วรุนแรง ตลาดของวัคซีน จะได้อยู่ในมือของผู้ซื้อเสียที
    เอ็กซเรย์เปิดประเทศ 1 เดือนครึ่ง ศบค.จ่อปรับมาตรการ  13 ธ.ค.
อัตราการฉีดวัคซีนไทย 69 %
      ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยแม้ระยะปลายปีจะมีอัตราการฉีดที่เพิ่มขึ้นแบบช้าๆ แต่มีการฉีดสะสมแล้ว ณ วันที่  11 ธ.ค. 2564  ฉีดสะสมแล้ว  97,321,750 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 49,901,591 ราย คิดเป็น 69.3 % เข็มที่ 2 จำนวน 43,297,863 ราย คิดเป็น 60.1 % และเข็มที่ 3 จำนวน  4,122,296 ราย คิดเป็น 5.7 %

       ในกลุ่มผู้สูงอายุมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุม 2 เข็ม แล้ว  64.1 % ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง  68.7 % และหญิงตั้งครรภ์   15.9 % ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง 

ศบค.จ่อปรับมาตรการ 13 ธ.ค.
         แม้ว่าประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงจากการพบโอมิครอนที่แพร่และระบาดในประเทศได้ยาก เหมือนกับที่ 20 ประเทศ( ณ 12 ธ.ค.2564 )เจอการติดเชื้อภายในประเทศแล้ว และโอมิครอนจะมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ และมีอัตราการแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดลตา 2-5 เท่า
         แต่ด้วยแนวโน้มที่ไม่น่าจะทำให้ป่วยรุนแรง มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ ปวดหัว เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ และทั่วโลกยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากโอมิครอน(12 ธ.ค. 2564) บวกกับ การหลบภูมิฯนั้นเป็นการส่งผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ ในส่วนของประสิทธิภาพป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตยังมีอยู่    

        เมื่อเป็นเช่นนี้  ในวันที่ประเทศไทยมีความครอบคลุมของวัคซีนโควิด-19เข็มที่ 1 แล้ว 69.3 % ประกอบกับมาตรการเฝ้าระวังการเดินทางทางอากาศ อัตราการติดเชื้อของผู้เดินทางเข้าที่ยังไม่ได้ส่งผลต่อการแพร่ระบาดในประเทศ เทศกาลรื่นเริงมีการรวมกลุ่มที่ผ่านมาอย่างเทศกาลลอยกระทง ไม่ได้เป็นจุดที่ก่อการแพร่ระบาดในประเทศที่มากขึ้น  โดยสถานการณ์โควิด-19ของไทยมีแนวโน้มลดลงทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้มีอาการหนักและผู้เสียชีวิต 

     จึงเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่าในการประชุมศบค.วันที่ 13 ธ.ค.2564 นี้จะมีการพิจารณาถึงการเดินหน้าเปิดประเทศระยะที่ 2 ภายใต้การปรับมาตรการเฝ้าระวัง รวมถึง แผนการรับมือกับโควิด-19ในปี 2565ด้วย  โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนโควิด-19เป็นบูสเตอร์โดสให้กับประชาชน  

เอ็กซเรย์เปิดประเทศ 1 เดือนครึ่ง ศบค.จ่อปรับมาตรการ  13 ธ.ค.