เช็ค! ระบบสาธารณสุขพร้อมแค่ไหน รับมือ "โอไมครอน"

เช็ค! ระบบสาธารณสุขพร้อมแค่ไหน รับมือ "โอไมครอน"

สธ.ระบุไทยฉีดวัคซีนโควิด-19เข็ม 1 ครอบคลุมแล้ว 72 %  เกิน 50 %แล้ว 76 จังหวัด เร่งตามกลุ่ม 3+1 มาฉีดวัคซีน เผยแผนรองรับหากโอไมครอนแรง อัตราครองเตียงอยู่ที่ 30 % สำรองยาฟาร์วิพิราเวียร์ 45 วัน วัตถุดิบผลิตได้เองอีก 60 ล้านเม็ด วัคซีนเหลือ 40 ล้านโดส พร้อมบูสต์

     เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมทางสาธารณสุขรับมือโอไมครอน ว่า  โอไมครอน ข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดทุกชั่วโมง เบื้องต้น องค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า ลักษณะการระบาดใกล้เคียงกับเดลต้า ซึ่งยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่า อาการสำคัญ เช่น เพลีย  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ประมาณ 2 – 3 วัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ที่สำคัญขณะนี้ระบาดในประเทศแถบแอฟริกาใต้  ขณะเดียวกัน นักวิชาการก็ระบุว่าวัคซีนยังสามารถใช้ได้อยู่
          กระทรวง มีการเฝ้าระวังอยู่อย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของชาวต่างชาติที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาได้มีการห้ามเข้าประเทศ ส่วนที่อยู่ระหว่างประกาศออกเมื่อมาถึงให้มีการกักตัว 14 วันรวมถึงคนไทยจาก 8 ประเทศด้วย  นอกจากนี้  จากเดิมที่จะมีการใช้ATKตรวจผู้เดินทางในโครงการเทสต์แอนด์โกเมื่อเดินทางมาถึงวันแรกแทนวิธี RT-PCR โดยจะเริ่ม 16ธ.ค.นั้น แม้ว่าการตรวจ ATK ยังตรวจเจอ แต่ให้กลับไปใช้วิธีRT-PCR เหมือนเดิมจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.2564 แต่หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก่อนก็จะมีการประเมินอีกครั้ง ซึ่งก่อนวันที่ 15 ธ.ค.จะมีประชุม ส่วนการเปิดด่านทางบกเฉพาะที่ จ.หนองคาย ยังสามารถดำเนินการได้ตามกำหนดหลัง 16 ธ.ค.2564  ทั้งนี้ มีการป้องกันผู้เดินทางเข้าประเทศทางอากาศ ส่วนทางบกก็มีการปิดด่านทั้งหมดอยู่ การจะเข้ามาได้ก็คือต้องลักลอบเข้ามา

       “ประเทศไทยค่อนข้างไวในการตอบสนองสถานการณ์ ช่วงแรกที่มีวัคซีนไม่มากชนิด ได้มีการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพวัคซีนภายใต้ข้อมูลวิชาการรองรับ   รวมถึง การให้ฉีดเข็ม 3 ประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลกที่เริ่มให้มีการฉีดเข็ม3ตามลำดับกลุ่มที่ควรต้องบูสเตอร์โดส  ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าคาดว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะให้ข้อมูลผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันของไทยหลังมีการฉีดไปแล้วกว่า 70 %ของประชากร”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ครองเตียงอยู่ 30 %
        ผู้สื่อข่าวถามถึงความพร้อมระบบสาธารณสุข หากสถานการณ์โอไมครอนน่ากังวลมากขึ้น นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์เตียง ทั่วประเทศทั้งระดับเขียว เหลือง แดงมีประมาณ 2 แสนเตียง ขณะนี้มีการครองเตียงอยู่ประมาณ 30 %  

สำรองฟาร์วิพิราเวียร์ 45 วัน
      ส่วนการสำรองยาฟาร์วิพิราเวียร์ ขณะนี้มีการสำรองไว้ใช้ได้ 45 วัน  หากมีการใช้วันละ 5 แสนเม็ด และองค์การเภสัชกรรม(อภ.)มีการสำรองวัตถุดิบไว้สำหรับการผลิตยาฟาร์วิพิราเวียร์ได้เองรองรับ 60 ล้านเม็ด  รวมถึง มีการลงนามสัญญาจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ที่จะเข้ามาในเดือนม.ค.2565 อีก 5 หมื่นคอร์ส และเตรียมจัดหายาแพกซ์โลวิดอีก 5 หมื่นคอร์ส เพื่อเตรียมไว้เป็นทางเลือกในการรักษา
วัคซีนเพียงพอเหลือกว่า 40 ล้านโดส

             นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า  ประเทศไทยมีวัคซีนมากพอ โดยเป็นวัคซีนที่จัดหาโดยรัฐ 130 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือกอีก  20-30 ล้านโดส ซึ่งหากสถานการณ์ของโอไมครอนมีความรุนแรงต่อการระบาด ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและจำเป็นต้องบูสเตอร์โดส ก็มีวัคซีนมากเพียงพอที่จะฉีดให้ โดยวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้อ  30 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดไปแล้วประมาณ 10 ล้านโดส เหลืออีก 20 ล้านโดส  แอสตร้าเซนเนเก้าเหลืออีก 20 ล้านโดส และโมเดอร์นาที่รับบริจาค 1 ล้านโดสก็ยังฉีดไปได้ไม่มาก โดยในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ก็จะฉีดบูสเตอร์โดสหลังเข็ม 2 แล้ว 6 เดือนแต่อยู่ระหว่างหารือว่าจะเหลือ 4 เดือนได้หรือไม่ ส่วนสูตรฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ให้ฉีดเข็ม 3 หลัง 4 เดือนครึ่ง
     “วัคซีนมีเพียงพอหากจำเป็นต้องมีการบูสเตอร์โดส แต่ไม่อยากให้เข้าใจว่าวัคซีนเป็นปัจจัยเดียวในการป้องกันโรค มาตรการอื่นๆยังจำเป็นต้องคงไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง  ล้างมือบ่อนๆ หรือมาตรการสังคมเข้มขึ้น เมื่อมีการระบาดมากขึ้น เหล่านี้จะช่วยให้ไม่มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ๆเกิดขึ้น”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ไทยฉีดวัคซีนเข็ม1แล้ว 72 % 
       นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนให้คนไทย เข็มที่ 1 แล้ว  72 %  เข็ม 2 กว่า 60 % เป็นไปตามแผน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอยากให้ได้ถึง 75 %ของประชากร ถ้านับคนไทยสิ้นปีนี้ก็น่าจะถึง 75 % ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนที่มีระยะห่างเข็ม1และ2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 70 %แล้ว 22 จังหวัด 60-69 %  25 จังหวัด 50-59 % 29 จังหวัด มีเพียงจ.แม่ฮ่องสอนที่ยังไม่ถึง 50 % ฉีดได้ 45.24 % ทั้งนี้ ในบางจังหวัดที่มียอดฉีดวัคซีนน้อย อาจเพราะคนที่มีทะเบียนราษฎร์อยู่ในจังหวัดนั้น แต่ไปฉีดวัคซีนในจังหวัดอื่นแล้ว  ส่วนเป้าหมาย 100 ล้านโดสในวันที่ 5 ธ.ค.นั้นก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่หากไม่ถึงแล้วได้ 95 % ถ้าตัดเกรดก็เกรด เอ
เร่งตามกลุ่ม3+1มาฉีด
        สำหรับคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนพิจารณาเป็นกลุ่ม 3+1 คือ  1.กลุ่มที่ยังรีรอ กลัวเรื่องผลข้างเคียง จากการที่รับข่าวสารต่างๆ กลุ่มนี้ได้มอบหมายให้ทีมสุขภาพจิตชุมชนลงพื้นที่พูดคุยให้ข้อมูล 2.กลุ่มที่รอวัคซีนที่ตัวเองจองไว้  ได้มีการประชาสัมพันธ์หากต้องการฉีดวัคซีนสูตรที่ต้องการให้มาฉีดในวันที่กำหนดได้  และ 3.กลุ่มที่อยู่ห่างไกล เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ค้นหาและฉีดวัคซีนให้ถึงพื้นที่ เจ้าหน้าที่บางคนต้องขี่จักรยานยนต์ หรือเดินเท้าเข้าไป และอีกกลุ่มเป็นผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนแน่ๆ สาเหตุจากความเชื่อส่วนตัวและพยายามชักชวนให้คนอื่นไม่ฉีดด้วย ซึ่งจะมีการพยายามทำความเข้าใจและติดตามกลุ่ม 3+1 มาฉีดวัคซีนมากขึ้น