สธ.เผยสถานการณ์เตียงโควิด-19ล่าสุดในไทย

สธ.เผยสถานการณ์เตียงโควิด-19ล่าสุดในไทย

สธ.เผยประเทศไทยมีเตียงรองรับโควิดเกือบ 2 แสนเตียง อัตราครองเตียงน้อย 28.8% ยังมีศักยภาพรองรับอีกมาก หากมีการระบาด เน้นย้ำ 7 จังหวัดการติดเชื้อรายวันสูง ครองเตียงเหลือง-แดงมากกว่า 70% ต้องเตรียมเตียงสำรองไว้

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด 19 ว่า จาก สถานการณ์โควิด-19 ที่เกรงว่าจะมีการระบาดขึ้นมาอีกรอบจะมีเตียงรองรับหรือไม่นั้น ขณะนี้ประเทศไทยมีเตียงเกือบ 2 แสนเตียง คือ 194,883 เตียง อัตราครองเตียง 28.8% ยังมีเตียงว่างทั้งประเทศรองรับ โดยเตียงระดับ 3 หรือเตียงสีแดงสำหรับผู้ป่วยหนัก ไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้งประเทศมี 5,708 เตียง ครองเตียง 45.2% และเตียงระดับ 2 หรือสีเหลือง มี 73,427 เตียง ครองเตียง 44.5% ส่วนเตียงสีเขียวสามารถเพิ่มได้ไม่จำกัด จากการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isoation : HI) และมีฮอสปิเทล

สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดไม่รวม กทม.นั้น ในส่วนของ รพ.สนาม มีทุกเขตสุขภาพ 388 แห่ง ยังไม่ปิด แม้บางจังหวัดผู้ป่วยจะลดลง ก็ยังอยู่ในความพร้อมที่จะเปิดได้เสมอ (Standby) เช่นเดียวกับ กทม. พร้อมกลับมาเปิดได้เสมอใน 24 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง ขณะนี้มีเตียงรวม 63,348 เตียง ครองเตียง 9.8% ส่วนศูนย์พักคอย (Community Isolation : CI) ทั่วประเทศ มี 134 แห่ง 18,168 เตียง ครองเตียง 21.2% ขณะที่ฮอสปิเทลที่เป็นโรงแรมและจัดบริการทางการแทพย์ ทั่วประเทศมี 39,027 เตียง ครองเตียง 19.5% แต่บางจังหวัดอาจลดลงไปแทบไม่เหลือแล้ว เช่น เขตสุขภาพที่ 3 จ.นครสวรรค์ ไม่ได้แปลว่าจะไม่เปิดบริการ แต่อยู่ในโหมดสแตนบาย เรียกว่าภาพรวมยังว่างอยู่สำหรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก เราสามารถรับมือได้

แม้ภาพรวมจะยังมีเตียงว่าง แต่อาจมีเตียงหนาแน่นในบางจังหวัด ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะจังหวัดที่ติดเชื้อแบบ Sideway คือ มีผู้ติดเชื้อขึ้นลงไม่มาก ประมาณ 100 รายต่อวัน หากเกิดระบาดขึ้นจำเป็นต้องใช้เตียงเหลืองหรือเตียงแดง ซึ่งมี 10 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการครองเตียงเกิน 70% มี 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น เตียงแดง 72% เตียงเหลือง 76.9% , นครศรีธรรมราช เตียงแดง 72.6% เตียงเหลือ 73.9% , พัทลุง เตียงเหลือง 83.2% , กระบี่ ครองเตียงทั้งหมด 84.2% เตียงแดง 88.1% และเตียงเหลือง 89.4% และสตูล เตียงแดง 72.7%
"จริงๆ หากยังอยู่ที่ 70% ถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัย แต่หากถึงระดับ 85-90% จะต้องเพิ่มขยายเตียงทันที หรือมีระบบส่งต่อในเขต ซึ่งเราวางระบบไว้แล้ว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นย้ำ 5 จังหวัดนี้ให้ไปช่วยกันเตรียมตัว เผื่อว่ามีการเปิดประเทศ มีการเดินทางมากขึ้น หรืออาจมีการระบาดโอไมครอนที่กังวลก็ให้เตรียมเตียงเผื่อไว้ด้วย หากมีเคสเยอะขึ้นมาทันทีจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในการส่งตัวผู้ป่วยข้ามจังหวัด ซึ่งภาพรวมของเขตทุกจังหวัดสามารถช่วยเหลือกันได้"นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

ส่วนจังหวัดที่เป็นลักษณะของ Increasing คือ เคสปัจจุบันต่อวันเพิ่มขึ้นวันละ 100 รายต่อวัน ก็กังวลว่าถ้ามาทุกวันต้องอยู่อย่างน้อย 14 วัน หรือเคสหนัก 20 วันก็จะไม่พอ มี 5 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการครองเตียงเกิน 70% มี 2 จังหวัด คือ สิงห์บุรี เตียงแดง 57.1% ถือว่ายังเพียงพอ แต่เตียงเหลือง 71.2% ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ และ สุราษฎร์ธานี เตียงแดง 73.1% และเตียงเหลือง 79.6%

สำหรับ กทม.มีผู้ป่วย 600-700 รายต่อวันเป็นเวลานานพอสมควร เราเคยมีเตียง 5-6 หมื่นเตียงใน รพ. แต่วันนี้แม้เคสจะลดลงเยอะ และลดเตียงลงเล็กน้อยเหลือ 3.5 หมื่นเตียง แต่ถือว่ายังเตรียมเตียงเผื่อไว้มาก โดยเตียงอยู่ในภาคเอกชนเกือบ 3 หมื่นเตียง รับผู้ป่วยแล้วเกือบ 7 พันราย ที่เหลือเป็น รพ.รัฐ ซึ่งเรามีระบบว่า ผู้ป่วยวันนี้ไม่ว่าตรวจด้วยตนเองหรือ รพ.รัฐ ถ้ามีอาการเล็กน้อยเข้า HI ได้ ถ้ามีอาการมากขึ้น รพ.รัฐเราเตรียมเตียงหนัก ส่วนเตียงเบา รพ.เอกชนจะช่วยได้เยอะ จึงเลือกได้ว่าไป รพ.ไหนที่ใกล้บ้านได้ โดยภาพรวม กทม.ครองเตียง 23% มีพื้นที่รองรับอีกมาก หากมีการระบาดยังสามารถสบายใจได้

"วันนี้เตียงเหลืองเตียงแดงสามารถขยายและรองรับได้อีก เตียงสีเขียวที่ไม่ค่อยมีอาการ อาการเล็กน้อย เราใช้ HI เมื่อช่วงเกิดวิกฤต กทม.เตรียมระบบ HI ถึง 1 แสนเตียง วันนี้หากมีเคสขึ้นมาวันละเป็นพันหรือหมื่น ก็ใช้ระบบของเดิมได้ และยังถ่ายทอดระบบนี้ไปต่างจังหวัดด้วย ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์ที่บริจาคกัน เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนต่างๆ เมื่อ กทม.เคสน้อยลง ก็ลำเลียงส่งไปช่วยต่างจังหวัด เช่น 4 จังหวัดชายแดนใต้ หรือภาคเหนือ เมื่อ 4 จังหวัดใต้ดีขึ้น ก็ย้ายเครื่องมือไปจังหวัดอื่นได้ ถือว่าเกิดประโยชน์ได้ต่อเนื่อง" นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนคนไข้จะเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างไร โดยระบบทั้งประเทศ คือ หากไปตรวจ รพ.ผลเป็นบวก ไม่มีอาการอยู่ HI ซึ่งเราให้อุปกรณ์เหมือนเดิม ทั้งยา เครื่องวัดออกซิเจน วัดอุณหภูมิ มีถุงยังชีพส่งให้ 10-14 วัน โดย สปสช. และทุกกองทุนช่วยรับผิดชอบ หากอาการมากขึ้นเข้า รพ. ส่วนกรณีอยู่บ้านแล้วมีการไปตรวจเชิงรุกแล้วพบเชื้อหรือตรวจด้วยตนเอง ก็เอาผลเข้าระบบโดยโทรสายด่วน 1330 ต่างจังหวัดโทรหา รพ.ใกล้บ้าน ก็จะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมในการบริการ เหมาะกับจังหวัดและสถานการณ์นั้น และได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน