เปิดเทคนิคไทยใช้ตรวจหา “โอไมครอน” รู้ผลใน 1 วัน 

เปิดเทคนิคไทยใช้ตรวจหา “โอไมครอน” รู้ผลใน 1 วัน 

กรมวิทย์ยันวิธี RT-PCR -ATK ตรวจเจอโควิด-19แม้ติดโอไมครอน  ไทยใช้เทคนิคพิเศษผสมอัลฟา-เบตาตรวจหาโอไมครอน ศูนย์วิทย์ทั่วประเทศตรวจได้เพื่อความรวดเร็ว ยังไร้น้ำยาเฉพาะตรวจโอไมครอน อยู่ระหว่างพัฒนาใช้เวลา 2 สัปดาห์

        เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ประเด็น “โควิดสายพันธุ์โอไมครอน” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  จากการสุ่มตรวจขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน อย่างไรก็ตาม ประเด็นสงสัยสำคัญที่เกิดขึ้นคือวิธีการตรวจ RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานของประเทศไทยและทั่วโลกยังสามารถตรวจพบติดโควิด-19หรือไม่ หากติดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอนนั้น ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์(ห้องแล็ป)ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรองให้สามารถตรวจโควิด-19ได้นั้น  มีการกำหนดการรายงานผลการตรวจสารพันธุกรรม โดย 1.กรณีรายงานผลไม่พบเชื้อ จะต้องตรวจมากกว่า 1 ยีนที่ต่างกันและไม่พบทุกยีน หรือ ตรวจ 1 ยีนมากกว่า 1 ตำแหน่งโดยตรวจมาพบทุกตำแหน่ง

      2.กรณีรายงานพบเชื้อ จะต้องตรวจมากกว่า 1 ยีนที่ต่างกันโดยตรวจพบทุกยีน หรือตรวจ 1 ยีนมากกว่า 1 ตำแหน่งโดยตรวจพบยีนทุกตำแหน่ง

      และ3.กรณีสรุปไม่ได้ คือ ตรวจมากกว่า 1 ยีนที่ต่างกันหรือตรวจ 1 ยีนมากกว่า 1 ตำแหน่ง แล้วไม่พบตามเกณฑ์ของชุดตรวจ ซึ่งกรณีเช่นนี้จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมใหม่ 
     “การที่กำหนดการตรวจและรายงานผลไว้เช่นนึ้  ทำให้เวลาเกิดการกลายพันธุ์ ของไวรัส เช่นกรณีโอไมครอน ทำให้ตรวจบางยีนไม่พบ แต่บางยีนอาจจะโผล่ขึ้นมา ดังนั้น การตรวจมากกว่า 1 ยีนโอกาสหลุดรอดก็ต่ำมาก แทบไม่มี โดยสรุปการตรวจโควิด-19 แม้เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ยังสามารถวินิจฉัยการพบหรือไม่พบเชื้อด้วยวิธีRT-PCRได้”นพ.ศุภกิจกล่าว 

 น้ำยาตรวจ 2 ยี่ห้ออาจตรวจไม่เจอ

     นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า  น้ำยาตรวจหาสารพันธุกรรมโดย วิธีRT-PCR มีที่ผ่านการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้ว จำนวน 104 ยี่ห้อ ในจำนวนนี้มี 2 ยี่ห้อที่ตรวจยีนเป้าหมาย N และ S เพราะฉะนั้น หากมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งนี้ น้ำยา 2 ยี่ห้อนี้จะตรวจโควิดไม่เจอ ,มีจำนวน  15 ยี่ห้อตรวจยีนเป้าหมาย S ร่วมกับยีนอื่น  และจำนวน 87 ยี่ห้อตรวจยีนเป้าหมายN ร่วมกับยีนอื่น  ซึ่งยีนอื่นนั้นไม่มีผลกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้นโอกาสหลุดรอดตรวจไม่เจอโควิดมี 2 ใน  104  อาจตรวจไม่เจอ ถือว่ามีโอกาสน้อยมีเพียง 2 ยี่ห้อซึ่งจะมีการประสานอย. บริษัทผู้ผลิต/นำเข้า ไปดูรายละเอียดว่ามีโอกาสพลาดมากแค่ไหน

ไทยใช้เทคนิคพิเศษตรวจหาโอไมครอน
      นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า    เทคนิคการตรวจสายพันธุ์ไวรัสก่อโรคโควิด-19 จะมี 3 วิธีทดสอบ คือ 1.RT-PCR โดยใช้น้ำยาพิเศษแต่ละสายพันธุ์โดยตรง ใช้เวลา 1-2 วัน โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศดำเนินการได้  2. Target sequencing เป็นการดูรหัสพันธุกรรมว่าเหมือนชนิดใดใช้เวลา 3 วัน และ3.Whole genome sequencing เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ใช้เวลา 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะที่จะตรวจหาสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนด้วยวิธีRT-PCRซึ่งใช้เวลาเร็วที่สุด1-2วัน จะต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 2 สัปดาห์

      อย่างไรก็ตาม กรมวิทย์ฯ ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจหาโอไมครอนให้ได้โดยเร็วในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะ เพื่อให้ศูนย์วิทย์ทั่วประเทศสามารถตรวจสายพันธุ์โอไมครอนได้รวดเร็ว โดยจากการวิเคราะห์ พบว่า โอไมครอน มีจุดกลายพันธุ์ HV69-70deletion ที่เหมือนกับอัลฟา และจุดK417Nที่เหมือนกับเบตา กรมจึงเอาคุณสมบัตินี้มาพัฒนาเทคนิคในการตรวจสายพันธุ์โอไมครอน  โดยนำตัวอย่างที่ได้จากผู้เดินทางเข้าประเทศไทยและตรวจพบติดโควิดทุกรายมาตรวจด้วยน้ำยา2 ตัว คือ น้ำยาเฉพาะตรวจหาสายพันธุ์อัลฟา และ น้ำยาเฉพาะตรวจหาสายพันธุ์เบตา หากตรวจพบจากน้ำยาของอัลฟาและเบตาทั้ง 2 น้ำยาให้รายงานเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ศูนย์วิทย์รายงานการตรวจสายพันธุ์โอไมครอนได้เร็วใน 1-2 วันในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะตรวจโอไมครอน แทนที่จะต้องใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรมที่ใช้เวลา 3 วันหรือถอดรหัสทั้งตัวที่ใช้เวลา 1สัปดาห์
   ATKยังตรวจเจอโควิดแม้ติดโอไมครอน
     นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกด้วยว่า  เบื้องต้นการตรวจหาโควิด-19ด้วยชุด ATK ยังสามารถตรวจได้ โดยข้อมูลเบื้องต้นโปรตีนที่ใช้ตรวจยังไม่มีผลกระทบเรื่องการกลายพันธุ์ แต่ก็ต้องมีการติดตามพิจารณาด้วย เพราะเดิมก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการจดแจ้งว่า โปรตีนที่ใช้ตรวจไม่ได้มีผลต่อการกลายพันธุ์ ซึ่งตรงนี้จะมีการหารือกับอย.  เพื่อให้ทางบริษัทได้ดำเนินการต่อไป  อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจ ATK หากผ่านการรับรองจาก อย. สามารถตรวจได้ เพียงแต่เมื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องติดตามว่า ในวันหนึ่งอาจมีโปรตีนบางชนิดหายไป ก็อาจมีผลต้อการตรวจได้ ซึ่งก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ยังไม่รู้แพร่เร็วกี่เท่า-หลบภูมิคุ้มกันหรือไม่
   “มาตรการที่จะสู้กับโอไมครอนยังต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด มีภูมิต้านทานดีกว่าไม่มีภูมิแน่นอน ข้อมูลต่างๆยังมีจำกัด การติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับ 100 เพราะฉะนั้นการจะบอกว่ามันรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน หลบภูมิได้แค่ไหน แพร่เชื้อเร็วขึ้นกี่เท่ายังต้องรอข้อมูล ทั้งนี้ มาตรการป้องกันโรคอื่นๆที่เราดำเนินการอยู่ ทั้งการเว้นระยะห่าง การล้างมือบ่อยๆ การใส่หน้ากากอนามัย ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น สถานบริการมีCovid free setting ถ้าทำแบบนี้ได้ครบถ้วน โอไมครอนก็จะไม่มีปัญหาอะไรมากนักสำหรับประเทศไทย”นพ.ศุภกิจกล่าว  

เจอแล้วใน 18 ประเทศ
    นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า  ประเทศที่มีรายงานพบสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว คือ ทวีปแอฟริกา บอสวาน่า เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว ทวีปยุโรป อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ บริเทน เบลเยี่ยม เช็ค เดนมาร์ก  ทวีปเอเชีย ฮ่องกง อิสราเอล ทวีปออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย 

โอไมครอนอาการไม่หนัก

       พญ. แองเจลิก โคทซี แพทย์ประจำตัว และประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้ บอกเมื่อวันอาทิตย์ (28 พ.ย.) ว่าอาการของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน " ไม่รุนแรงมากและสามารถรักษาได้ที่บ้าน โดยจะมีอาการ "เหนื่อยมาก" อาการปวดเมื่อยตามร่างกายและปวดหัว จนถึงตอนนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไม่ได้รายงานเรื่องการสูญเสียการรับรู้เรื่องกลิ่นหรือการรับรส และไม่มีระดับออกซิเจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

      “เมื่อพิจารณาจากอาการอ่อน ๆ ที่เราพบเห็น ในปัจจุบันก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตระหนก เพราะเราไม่เห็นผู้ป่วยที่ป่วยหนัก จนถึงตอนนี้ เราเพิ่งเห็นการติดเชื้อที่ลุกลาม ไม่ใช่การติดเชื้อรุนแรง” แต่ก็เสริมว่าสถานการณ์อาจเปลี่ยนไปได้ในอนาคต