ห้าม 8 ประเทศพบเชื้อสายพันธุ์ "โอไมครอน" เข้าไทย

ห้าม 8 ประเทศพบเชื้อสายพันธุ์ "โอไมครอน" เข้าไทย

สธ. ห้าม 8 ประเทศพบผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" เข้าไทย พร้อมประกาศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อ ย้ำประชาชนปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ฉีดวัคซีน สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งชื่อให้เชื้อกลายพันธุ์ชนิด B.1.1.529 ซึ่งมีการแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้เป็นที่เรียบร้อย โดยออกแถลงการณ์ เมื่อวานนี้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวล่าสุด B.1.1.529 ถือเป็น "สายพันธุ์น่าวิตกกังวล" (VOC) ใช้ชื่อเรียกจากภาษากรีกว่า "โอไมครอน" (Omicron) โดยถือเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล หลังจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้เหตุผลที่กำหนดให้ โควิดสายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน เป็นโควิดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) ว่าเป็นเพราะมีจำนวนการกลายพันธุ์ที่สูงมากจนน่าวิตก และจากหลักฐานเบื้องต้น พบความเสี่ยงที่อัตราการติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้จะสูงขึ้น มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

 

  • ห้าม 8 ประเทศติดเชื้อโอไมครอนเข้าไทย

วันนี้ (27พ.ย.2564) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสกลายพันธุ์  ชนิด B.1.1.529  หรือที่เรียกว่า โอไมครอน ว่าจากการกลายพันธุ์ของโควิด -19 สายพันธุ์โอไมครอนนั้น

ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการติดตามเฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยในส่วนของประเทศที่พบสายพันธุ์ B.1.1529

ประเทศที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าว 8 ประเทศ ได้แก่

  • Botswana
  • Eswatini
  • Lesotho
  • Malawi
  • Mozambique
  • Namibia
  • South Africa
  • Zimbabwe

ห้าม 8 ประเทศพบเชื้อสายพันธุ์ \"โอไมครอน\" เข้าไทย

ต้องปฎิบัติดังนี้ ผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว สั่งกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.2564 ไม่อนุญาตให้เข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 และไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2564  ดังนั้น ผู้ที่เดินทางที่มาจาก 8 ประเทศ จะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทย

ส่วนประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกานั้น จะไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Test and Go  ซึ่งใน 8 ประเทศไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศอนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Test and Go  อยู่แล้ว รวมถึงจะไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Sandbox  และผู้ที่เข้ามาในประเทศอยู่แล้วนั้น  จะต้องอยู่ในสถานกักตัวที่ราชการกำหนดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน ตรวจ 3 ครั้ง วันที่ 0-1, 5-6 และ12-13 

ห้าม 8 ประเทศพบเชื้อสายพันธุ์ \"โอไมครอน\" เข้าไทย

ข้อปฎิบัติดังนี้ ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27พ.ย.2564 และผู้ที่ได้รับอนุญาตทุกประเภทให้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต จนถึง 15 ธ.ค.2564 แต่หลังจากนั้นต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้มีการดำเนินการไปแล้ว

 

  • ย้ำมาตรการป้องกันตนเอง เฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่

 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ใน

เดือนพ.ย.โดยเข้ามาในรูปแบบของ เข้าSandbox  จำนวน 1,007 คน แบ่งเป็น

  • บอตสวานา 3 คน
  • นามิเบีย 16 คน
  • แองโกลา 22 คน
  • มาดากัสการ์ 7 คน
  • เมอร์ริเซียส 27 คน
  • แซมเบีย 5 คน
  • เอสวาตินี 39 คน
  • เอธิโอเปีย 45 คน
  • โมซัมยิก 12 คน
  • มาลาวี 2 คน
  • แอฟริกาใต้ 826 คน
  • ซิมบับเวย์ 3 คน

ซึ่งผลการตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด “การกลายพันธุ์ของเชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยที่ทำให้ทางแอฟริกาใต้ติดเชื้อค่อนข้างมาก นอกจากการป้องกันแล้ว การฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็สำคัญ ซึ่งประเทศแถบทวีปแอฟริกามีการฉีดวัคซีนน้อยที่สุด ดังนั้น สิ่งที่พี่น้องประชาชนสามารถกระทำได้ เพื่อให้ตนเองและประเทศปลอดภัยมากที่สุด คือ ผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนถ้าไม่มีข้อห้ามขอให้มาฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนหลายท่านที่ฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วหลายเข็ม มีความกังวลว่าภูมิจะตกหรือไม่ ซึ่งจากการติดตามข้อมูล พบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ระดับดีกว่า 5-6 เดือน ขอให้ทุกคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มติดตามสธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร และขณะนี้ได้มีการเตรียมวัคซีนบูสเตอร์โดสไว้เรียบร้อยแล้ว” นพ.โอภาส กล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนประเทศฮ่องกงที่มีการตรวจพบเชื้อ หรือประเทศอื่นๆ จะเป็นการติดเชื้อประปรายได้ จะมีการจับตาอย่างใกล้ชิด ถ้ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงจะเพิ่มมาตรการ  ทั้งนี้ วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่วิธีการที่ทุกคนช่วยกันได้ นั่นคือ  การป้องกันครอบจักรวาล การสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย และมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ยังเป็นมาตรการที่ต้องขอความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วน  ส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอนอย่างต่อเนื่อง

  • ไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ด้วยระบบเฝ้าระวังที่มีอยู่ และการตรวจสายพันธุ์ต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งมีการตรวจไป 7,000 กว่าเคส ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย  

ทั้งนี้ สำหรับการเส้นทางไวรัสโควิด-19 ในแอฟริกาใต้ พบทั้งเบตา  เดลตา และมาตอนนี้ พบโอไมครอนจำนวนมาก

  • โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง ติดเชื้อได้ง่าย

"โอไมครอน" ถูกยกขึ้นมาเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เนื่องจากมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ปกติโควิด-19 มีตำแหน่งกว่า 30,000 ตำแหน่ง แต่มีการกลายพันธุ์ไม่กี่ตำแหน่ง อย่าง เดลตา มีการกลายพันธุ์ 9 ตำแหน่ง แต่ในส่วนของ โอไมครอนนั้น มีการกลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง และตำแหน่งที่กลายพันธุ์มีหลายประเภท เช่น สามารถพบได้ในตำแหน่งเดียวกับเดลตา และมาพบในตำแหน่งใหม่ๆ ซึ่งทำให้ โอไมครอน และมีฤทธิในการหลบภูมิ หรือดื้อต่อวัควีน และมีการกลายพันธุ์ขึ้นใหม่

ฉะนั้น ตอนนี้แม้จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย แต่ต้องมีการเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากสันนิษฐาน "โอไมครอน" สามารถเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อได้มากขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้ และการตรวจเจอได้ง่ายและเร็ว เนื่องจากมีเชื้อค่อนข้างเข้มข้น 

ขณะนี้ไทยมีเปิดประเทศ มี Test&Go ซึ่งกำลังประสานกับผู้ตรวจเชื้อ ให้ส่งตัวอย่างของผู้ติดเชื้อมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ครั้งนี้  ไม่ใช่ลูกหลานของเดลตา หรือเอลฟา แต่เป็นการกลายพันธุ์ตัวใหม่ และหลายตำแหน่ง แต่ข้อมูลยังมีไม่มากพอ ต้องมีการติดตาม และระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

"ข้อได้เปรียบของไทย คือ ประชาชนค่อนข้างเคร่งครัดในการปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนปฎิบัติในการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดต่อไป การ์ดอย่าตก เพราะไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนเกิดขึ้นก็สามารถจัดการได้ และการดื้อต่อวัคซีนไม่ใช่ข้อมูล 100% ขอให้ทุกคนตั้งสติและรับมือ มั่นใจในภาครัฐว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้พี่น้องประชาชนปลอดภัย และการตรวจหาพันธุกรรมไวรัสมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการทำงานเรื่องนี้  รวมถึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในการเข้าประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะทางอากาศเท่านั้น แต่ตามชายแดนต่างๆ ก็ต้องกวดขันอย่างจริงจัง และขอพี่น้องประชาชนการห้ามไปประเทศชายแดน หรือการหลบเลี่ยง" นพ.ศุภกิจ กล่าว