"ไข้หวัดนก" จ่อระบาดซ้ำโควิด รู้วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ

"ไข้หวัดนก" จ่อระบาดซ้ำโควิด รู้วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ

หลังองค์การอนามัยสัตว์โลก (OIE) รายงานพบ "ไข้หวัดนก" ระบาดในหลายประเทศแถบเอเชีย และยุโรป ชวนรู้ทันโรคไข้หวัดนกให้มากขึ้น พร้อมเช็ควิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเชื้อหวัดนก

"โควิด-19" ยังไม่หายไปแต่ "ไข้หวัดนก" ก็ส่อแววระบาดซ้ำอีก ยืนยันจากรายงานขององค์การอนามัยสัตว์โลก (OIE) ที่ระบุว่า โรคไข้หวัดนกเริ่มระบาดแล้วในหลายประเทศทั้งแถบยุโรป และแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เบลเยียม ฝรั่งเศส เป็นต้น

อีกทั้ง กรมปศุสัตว์ ยังมีรายงานด้วยว่า พบการระบาดหวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว แต่ในประเทศไทยยังไม่พบรายงานการระบาดของไข้หวัด (ไม่พบระบาดมา 12 ปีแล้ว) ซึ่งปีนี้ทางกรมฯ ได้เตรียมความพร้อมป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่เข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่อง

จากกรณีดังกล่าว คงจะดีถ้าเรารู้เท่าทัน "ไข้หวัดนก" และรู้วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. เชื้อไข้หวัดนก เป็นสายพันธุ์หนึ่งของไข้หวัดใหญ่

เชื้อก่อโรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A virus) พบได้ในสัตว์ปีก ปัจจุบันค้นพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมากกว่า 100 สายพันธุ์

ส่วนสายพันธุ์ที่พบการแพร่ระบาดในคน ได้แก่ H5N1, H7N2, H7N3, H9N2, H10N7 และ H7N9 เป็นต้น อนึ่งสายพันธุ์ย่อย A(H5N1) และ A(H7N9) เป็นสายพันธุ์ที่พบว่าสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนได้

 

2. "ไข้หวัดนก" เกิดจากอะไร? แพร่สู่คนได้อย่างไร?

โรคไข้หวัดนก มีนกน้ำในธรรมชาติเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค (นกน้ำป่า นกเป็ดน้ำ ห่าน นกตามป่าชายเลน) และทำให้เกิดโรคในสัตว์ปีกที่เกษตรกรเลี้ยงตามฟาร์มต่างๆ เมื่อสัตว์ปีกในฟาร์มติดเชื้อ จะเกิดอาการค่อนข้างน้อยหรือไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่โรคให้ฝูงได้รวดเร็ว

ส่วนการแพร่กระจายเชื้อจากสัตว์ปีกสู่คนนั้น มักเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วย แล้วเชื้อโรคติดมากับมือ และสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุจมูก และตาได้ หรือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ เมื่อสัตว์มีการกระพือปีกก็มีโอกาสสูดหายใจเอาละอองเชื้อไวรัสเข้าปอดได้เช่นกัน 

เนื่องจากคนไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว ส่วนใหญ่จึงเกิดอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ทั้งนี้ การแพร่เชื้อไข้หวัดนกจากคนสู่คน มีโอกาสเกิดได้น้อย

3. หากป่วยโรคไข้หวัดนก มีอาการอย่างไร?

ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการ "ปอดบวมรุนแรง" มากกว่า สำหรับอาการที่พบบ่อยในระยะเริ่มต้นของการป่วย ได้แก่

  • ไข้สูง (สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส)
  • ไอ เจ็บคอ น้ำมูก
  • ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว
  • หายใจลำบาก และมักพบปอดบวมที่ไม่แสดงอาการ แต่พบได้จากเอกซเรย์ปอด

หากมีอาการเหล่านี้ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย ควรรีบพบแพทย์และต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์จะรักษาด้วยยาต้านไวรัสเหมือนยาไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และเฝ้าระวังการติดเชื้อแทรกซ้อน หากติดเชื้อแทรกซ้อนอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนเสียชีวิตได้ในที่สุด (หลังมีอาการป่วยรุนแรงเพียง 9 - 10 วัน)

 

4. ไข้หวัดนกยัง "ไม่มีวัคซีน" ป้องกัน

แม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีการผลิตวัคซีนสำหรับใช้ป้องกันโรคไข้หวัดนก A(H5N1) (ในระดับห้องปฏิบัติการ) สำเร็จแล้ว แต่การนำวัคซีนมาศึกษาต่อในมนุษย์ยังมีค่อนข้างจำกัด แปลว่าตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกสำหรับฉีดให้บุคคลทั่วไปได้

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในบุคคลทั่วไป ที่จะช่วยไม่ให้เกิดการผสมสายพันธุ์กันของโรคไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่ในคน ซึ่งอาจจะทำให้ป่วยรุนแรงได้

5. วิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดนก

  • สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก : ควรสวมชุดป้องกันร่างกายอย่างมิดชิด เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ แว่นตา หมวก รองเท้าบูท รวมถึงล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ หากพบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องทราบทันที
  • สำหรับคนทั่วไป : อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าในไทยเองยังไม่มีรายงานการระบาดไข้หวัดนก แต่ถ้าใครเดินทางไปต่างประเทศในประเทศที่พบการระบาดของโรคนี้ ก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหาร ที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด (ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ปีก) หลังกลับจากการเดินทาง หากมีอาการที่ผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก หอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมกับแจ้งประวัติการเดินทางอย่างละเอียด

 

อ้างอิง : กรมปศุสัตว์, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, The Center for Food Security & Public Health

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์