น่าห่วง! แรงงานต่างด้าวทะลัก นายกฯ สั่งก.แรงงาน เร่งแก้ปัญหา 

น่าห่วง! แรงงานต่างด้าวทะลัก นายกฯ สั่งก.แรงงาน เร่งแก้ปัญหา 

รมว.แรงงานเผย นายกฯ ห่วงแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย เร่งก.แรงงานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา ย้ำสิทธิแรงงานไทยทำงานก่อน พร้อมเปิดแนวทางบริหารจัการแรงงานต่างด้าว

วันนี้ (8 พ.ย.2564) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการทะลักของแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้ผมจึงได้มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประชุมชี้แจง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) มูลนิธิ

รวมทั้งชมรมผู้ประกอบการที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว และสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

 รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกรณีแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน เนื่องจากฟื้นฟูเศรษฐกิจรองรับการเปิดประเทศ

 

 

  • ระบุแนวทางบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว

โดยได้กำชับ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้ง ตำรวจทหาร ฝ่ายปกครอง เพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวัง สกัดกั้นขบวนการขนย้าย ค้าแรงงานต่างด้าวที่แอบลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งกำชับให้กระทรวงแรงงาน เร่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย รองรับความต้องการของภาคการผลิตและบริการไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากความสำเร็จในการเดินหน้าการเปิดประเทศเพิ่มมากขึ้นของรัฐบาล 

นายสุชาติ ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา -2019 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไปนั้น ทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนการนำแรงงานเข้ามาเพิ่มเติมตาม MOU นั้น

กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จะมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อหารือแนวทางการนำเข้าแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นจะเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ และ ครม. ให้ความเห็นชอบเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานตามความต้องการของผู้ประกอบการ

 

  • เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

กระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เราได้ทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด โดยเฉพาะการให้สิทธิคนไทยได้ทำงานก่อน หากแรงงานไม่เพียงพอก็จะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา ตามขั้นตอนของมติ ครม. และเป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามที่ ศบค. กำหนด ซึ่งขณะนี้ท่าน รมว.แรงงานได้เตรียมการไว้แล้ว ในส่วนการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามแนวชายแดนนั้น กระทรวงแรงงานได้บูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและฝ่ายความมั่นคง เพื่อเข้มงวดกวดขันในการขยายผลจับกุมขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองต่อไป 

รัฐบาลและกระทรวงแรงงานเข้าใจความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและก่อสร้างรองรับนโยบายการเปิดประเทศ กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ เราทำงานเชิงรุกและเตรียมการขั้นตอนต่าง ๆ ไว้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงานให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”นายสุชาติ กล่าว

ด้าน นายสมพงค์ สระแก้ว ประธานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการที่แรงงานข้ามชาติ เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้เข้าถึงการคุ้มครองจากรัฐบาล ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ การประกันสังคมและสวัสดิการต่าง ๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนการแก้ไขปัญหาการทะลักตามแนวชายแดนนั้น ปัจจุบัน การทำงานอย่างเข้มแข็งของหน่วยงานฝ่ายความมั่งคงตามแนวชายแดนจะช่วยสกัดกั้นการลักลอบทำงานผิดกฎหมายได้