เมื่อโลกร้อนขึ้น "ปลูกป่า 1 ล้านไร่" จะช่วยลดคาร์บอนได้ 1.2 ล้านตันต่อปี

เมื่อโลกร้อนขึ้น "ปลูกป่า 1 ล้านไร่" จะช่วยลดคาร์บอนได้ 1.2 ล้านตันต่อปี

ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน 300-400 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น หากไม่ทำอะไรจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศในหลายด้าน และการลดคาร์บอนในแต่ละปีไทยต้องเสียค่าใช้จ่าย 7-8 แสนล้านบาท

แม้ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอน เพียง 1% น้อยกว่าหลายประเทศในโลก แต่เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับที่ 9 ของโลก และจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยได้เผชิญกับเหตุการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า 140 ครั้ง ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 7,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ขณะที่รายงาน IPCC Special Report on Global Warming of 1.5°c เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ความเสี่ยง ที่จะเกิดน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้น 170% ประชากร 49 ล้านคน จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และประชากร 410 ล้านคนจะเผชิญภัยแล้ง ภายในปี 2100 รวมถึงสายพันธุ์แมลง พืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน วันนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก ดังนั้น ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอน

เมื่อโลกร้อนขึ้น \"ปลูกป่า 1 ล้านไร่\" จะช่วยลดคาร์บอนได้ 1.2 ล้านตันต่อปี

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของกฟผ. และพิธีลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยมี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ “พลังงาน นวัตกรรม สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ว่าการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาพิสูจน์ว่ามีความจำเป็นที่ประชาคมโลกต้องช่วยกันควบคุมสภาพภูมิอากาศให้อยู่ในระดับเท่าที่จำเป็นได้

 

  • ปล่อยก๊าซคาร์บอน300-400ล้านตันต่อปี

“การปลูกป่าของกฟผ.ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเป็นเรื่องที่ดี เพราะการปลูกป่า 1 ล้านไร่ จะช่วยลดคาร์บอน 1.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งถือเป็นปริมาณที่มาก และกฟผ.ได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยใช้พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่พลังไฟฟ้า ไทยมีศักยภาพในการทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น และอนาคตจะเป็นประเทศสังคมคาร์บอนต่ำ และเกิดความสมดุลคาร์บอน อย่างไรก็ตาม การปลูกป่าล้านไร่ เป็นการสร้างความตระหนักรู้ และไม่ใช่เป็นหน้าที่ของกฟผ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ แต่ต้องเป็นการปลูกฝังให้คนไทยเรียนรู้ร่วมการปลูกป่า เพื่อลดการแปรปรวนสภาพอากาศ” สุพัฒนพงษ์ กล่าว

ต้นปี 2564 ในหลายจังหวัดประสบปัญหาภัยแล้ง แต่พอมาปลายปีกลับเจอสถานการณ์น้ำท่วม ที่เกิดจากพายุ และน้ำท่วมในปีนี้เสมือนจะรุนแรงกว่าปี 2554

เมื่อโลกร้อนขึ้น \"ปลูกป่า 1 ล้านไร่\" จะช่วยลดคาร์บอนได้ 1.2 ล้านตันต่อปี

"วราวุธ ศิลปอาชา"  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาพิเศษ “สิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืน เพื่อเรา เพื่อโลก” ว่าขณะนี้การที่ในห้องแถลงข่าวมีคนอยู่น้อยมาก ต้องถ่ายทอดสดผ่านโซเซียลมีเดีย คนต้องแยกกันอยู่จากสถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติกำลังเตือนให้ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอน เพราะช่วงโควิด-19 ทำให้กิจกรรมต่างๆ ทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคท่องเที่ยว การโยกย้ายของผู้คนเกิดการชะลอตัวส่งผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลงไปถึงเกือบ 10%

 

  • ปลูกป่าเป็นหน้าที่ของทุกคน

 “ตอนนี้สถานการณ์กำลังจะกลับมาเช่นเดิม การคมนาคม การขนส่ง การปล่อยของเสียต่างๆ เริ่มกลับมาปกติ ดังนั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ สามารถดูดซับปีละ 1.2ล้านตัน แต่ภาคการผลิตของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปีละ 350 ล้านตัน ซึ่งอาจจะต้องมีการปลูกป่าอีกจำนวนมาก และการปลูกป่าขอฝากว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของทุกคน” วราวุธ กล่าว

ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. เป้าหมายก่อนปี ค.ศ. 2020 เป็นการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) (ระยะการดำเนินงานถึง พ.ศ.2563) บนพื้นฐานการดำเนินการโดยสมัครใจ ซึ่งประเทศไทย ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ7-20 เทียบกับกรณีปกติ ในสาขาพลังงานและขนส่ง   ซึ่งจากการดำเนินการในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่าไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 17 

ขณะที่ 2.เป้าหมายหลังปี ค.ศ.2020 เป็นเป้าหมายตามกลไกการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC ฉบับที่ 1 (ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2564-2573) ภายใต้ความตกลงปารีส โดยประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ (BAU) ในปี พ.ศ.2573 โดยดำเนินการในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ (Economy-wide) ได้แก่ พลังงานและขนส่ง กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย

เมื่อโลกร้อนขึ้น \"ปลูกป่า 1 ล้านไร่\" จะช่วยลดคาร์บอนได้ 1.2 ล้านตันต่อปี

  • ไทยปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ 2065

      วราวุธ กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26)  เดือนพ.ย.นี้ ประเทศไทยจะประกาศให้สังคมโลกรับทราบว่าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 และมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยกำหนดการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และการปลูกป่าธรรมชาติ โดยจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว 55% แบ่งเป็นพื้นที่ป่า 35% พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่ป่าสีเขียวป่าชายเลน 5% เพื่อช่วยดูดก๊าซเรือนกระจก

  • Kick off ปลูกป่าชายเลน“ชุมพร”

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประกาศนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ว่ากฟผ. ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งช่วยลดคาร์บอน และลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตามที่ประเทศไทยได้มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์อยู่ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 2065 – 2070 

ทั้งในส่วนการผลิตไฟฟ้า ระบบส่ง พลังงานหมุนเวียน นวัตกรรม และภารกิจต่างของกฟผ.จะช่วยลด ดูดซับคาร์บอนผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิด “ EGAT Carbon Neutrality” ตามเป้าหมายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งมีแผนในการปลูกป่าปีละหนึ่งแสนไร่ รวมจำนวนหนึ่งล้านไร่ ระหว่างปี ค.ศ. 2022-2031 ประกอบไปด้วยป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ โดยจะ Kick off โครงการฯ ปลูกป่าชายเลนที่จังหวัดชุมพร

เมื่อโลกร้อนขึ้น \"ปลูกป่า 1 ล้านไร่\" จะช่วยลดคาร์บอนได้ 1.2 ล้านตันต่อปี

“บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่ากฟผ. ได้วางแผนการดำเนินงานปลูกป่าเพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน พ.ศ.2565-2574 โดยจะปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ เพื่อดูดซับเก็บคาร์บอน ให้ได้ 23.6 MtCo2 แบ่งเป็นป่าเศรษฐกิจ 20% ป่าชุมชน 5% ป่าชายเลน/ป่าทะเล 20% และป่าอนุรักษ์ หรือป่าต้นน้ำ 55% 

"รวมถึงดำเนินการระหว่างกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชย และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น ฉลาดประหยัดไฟเบอร์ 5 โครงการห้องเรียนสีเขียวมากกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ บ้านและอาคารเบอร์ 5 ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน และวางการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวสีเขียว”บุญญนิต กล่าว

“ปลูกป่าล้านไร่” ลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ผ่านโครงการ “ชวนยูปลูกป่า” โหลดApplication ECOLIFE ที่จะชวนมาร่วมกันปลูกต้นไม้ด้วยความสนุก หนุนนำประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไปด้วยกัน