หยุด "ขยะ" ต้านโลกร้อน เสริมวงจร "รีไซเคิล" เป้าหมายสู่ความยั่งยืน

หยุด "ขยะ" ต้านโลกร้อน เสริมวงจร "รีไซเคิล" เป้าหมายสู่ความยั่งยืน

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้โลกร้อน คือ การที่ทั่วโลกมี "ขยะ" โดยเฉพาะพลาสติกที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี การลดปัญหาดังกล่าว จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ว่า ทำอย่างไร ให้ลดการใช้ ลดการเป็นขยะ และส่งเสริมการ "รีไซเคิล" เพื่อไม่ให้ขยะเหล่านั้นเล็ดรอดสู่ธรรมชาติ

ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวเร่งทำให้หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง สหประชาชาติ ยังมีการคาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 9,700 ล้านคนในปี 2593 ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย มีความพยายามจากภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศทั่วโลกในการเดินหน้าแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียในอนาคตอันใกล้

 

ที่ผ่านมา เกิดความตกลงครั้งประวัติศาสตร์ "ความตกลงปารีส" (Paris Agreement) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) ที่ประเทศสมาชิกภาคีกรอบอนุสัญญาฯ เห็นชอบร่วมกัน ในการประชุมภาคีประจำปี (Conference of Parties - COPS) สมัยที่ 21 หรือ COP21 ในปี พ.ศ. 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศ ฝรั่งเศส เป้าสำคัญ คือ ลดก๊าซเรือนกระจก รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

 

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี Dow ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทฯ ที่มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainability Goals โดยแต่ละเป้าหมายมีระยะเวลา 10 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเป้าหมายระยะที่ 3 หรือ เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2559-2568 มีจุดประสงค์เพื่อร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมนำพาโลกและสังคมของเราไปสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN’s Sustainable Development Goals)

 

จาก รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ.2563 กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ซึ่งรวบรวมผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา ตามเป้าการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ที่ต้องการ ต้านโลกร้อน หยุดขยะพลาสติก และส่งเสริมวงจรรีไซเคิล ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจควบคู่กับการช่วยขับเคลื่อนไปสู่โลกและสังคมที่ยั่งยืน

 

“ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย” ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยผ่านรายงานฉบับดังกล่าว โดยระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 Dow ได้ประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนและดำเนินการอย่างแข็งขันมาโดยตลอด จนวันนี้ เราอยู่ในเป้าหมายระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559-2568) ซึ่งเน้นการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อนำพาโลกและสังคมไปสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

 

“ในปี พ.ศ. 2563 Dow ได้ประกาศเป้าหมายเพิ่มเติมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ ขยะ พลาสติก ซึ่งเป็นสองปัญหาใหญ่ที่สุดในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลก โดยตั้งเป้าลดคาร์บอนลง 15% จากฐานของปี พ.ศ. 2563 และช่วยให้ขยะพลาสติกถูกเก็บกลับมารีไซเคิลขั้นต่ำ 1 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงช่วยส่งเสริม "วงจรรีไซเคิล" ให้สมบูรณ์ โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dow ที่นำไปผลิตเป็นแพคเกจจิ้ง จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2578”

 

สำหรับการประกาศเป้าการทำงานใหม่ ต่อยอดจากเป้าหมายความยั่งยืนที่มีอยู่เดิม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงานมากยิ่งขึ้นในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญซึ่งทั่วโลกกำลังเผชิญ คือ ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญหาขยะพลาสติก ดังนี้

1. ต้านโลกร้อน พัฒนาและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสินค้าที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง และผลิตภัณฑ์ของ Dow จะช่วยให้ลูกค้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ด้วย เป้าหมาย คือ ภายในปี พ.ศ. 2573 ลดการปล่อยคาร์บอนจำนวน 5 ล้านตันต่อปี หรือลดลง 15% จากปี พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ Dow ยังตั้งใจจะเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยสินค้าและโครงการต่างๆ ของ Dow จะช่วยลดการปล่อยก๊ซเรือนกระจกได้เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจาก Dow

 

2. หยุด ขยะพลาสติก โดยมีการลงทุนและร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั่วโลกในด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการรีไซเคิลได้อย่างมีนัยสำคัญ เป้าหมาย คือ ภายในปี พ.ศ. 2573 Dow จะช่วย "หยุดขยะพลาสติก" โดยการทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตัน ถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลผ่านการดำเนินงานของ Dow และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ

 

3. ส่งเสริมวงจร รีไซเคิล มุ่งมั่นในการนำเสนอโซลูชันที่ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์แพคเกจจิ้งเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ หรือ นำกลับมารีไซเคิลได้ เป้าหมาย คือ ภายในปี พ.ศ. 2578 Dow จะช่วยสร้าง "วงจรรีไซเคิล" ให้สมบูรณ์ โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dow ที่นำไปผลิตเป็นแพคเกจจิ้งจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้

 

“กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เชื่อมั่นว่านวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเป็นคำตอบที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านี้เป็นจริงได้ เราจึงมุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้คน พร้อมไปกับการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดปริมาณขยะผ่านความเชี่ยวชาญทางวัสดุศาสตร์ของเรา และการร่วมมือกับลูกค้า คู่ค้า รวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืนเช่นเดียวกัน” ฉัตรชัย กล่าว

 

  • เป้าหมาย 3 ระยะ สู่ความยั่งยืน

 

สำหรับ เป้าหมายตั้งแต่เริ่มดำเนินการเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ในการสนับสนุนให้ลูกค้าให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ พร้อมร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดีขึ้น โดยเริ่มตั้งเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนระยะละ 10 ปี ได้แก่

 

“2005 EH&S Goals” เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2538 จนถึงปี พ.ศ. 2548 เป็นเป้าหมายแบบ Footprint คือ การส่งเสริมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ในโรงงานของ Dow เน้นเรื่องการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้ทรัพยากร ลดของเสีย และลดความเสี่ยงต่างๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

 

“2015 Sustainability Goals” เป้าหมายในปี พ.ศ. 2558 ต่อยอดจากเป้าหมายชุดเดิมที่เน้นความยั่งยืนในโรงงานของ Dow เป็นเป้าหมายแบบ Handprint คือ ส่งต่อความยั่งยืนไปยังลูกค้าและคู่ค้า เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบนการผลิตเพื่อให้มีประสิทธิ์ภาพมากขึ้น รวมทั้ง นำเสนอสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมที่ล้ำหน้าให้กับลูกค้า

 

“2025 Sustainability Goals - the Blueprint Goals” เป้าหมายในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่ 3 และกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เป็นเป้าหมายแบบ Blueprint คือการสร้างพิมพ์เขียว ผลักดันให้เกิดมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนเพื่อขยายผลไปยังภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่การสรรหาวัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการจัดการหลังจากสินค้าถูกใช้งานโดยผู้บริโภค โดยร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างแม่แบบและกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ โดยเน้นไปที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขยะพลาสติกในทะเล