ลดปล่อยคาร์บอน ภารกิจของทุกคน แก้ปัญหาโลกร้อน

ลดปล่อยคาร์บอน ภารกิจของทุกคน แก้ปัญหาโลกร้อน

การแก้ปัญหาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเดินหน้าต่อ และจะมีการพูดถึงมากขึ้นเมื่อใกล้เข้าสู่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง แต่การแก้ปัญหาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเดินหน้าต่อ และจะมีการพูดถึงมากขึ้นเมื่อใกล้เข้าสู่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์

การประชุมดังกล่าวจะมีการเจรจา ลดโลกร้อน พิธีสารเกียวโตและความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงการประชุมแคมเปญระดับโลก ซึ่งจะเป็นปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมการประชุม คือ การควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ปัญหาโลกร้อน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ

สำหรับประเทศไทยได้จัดทำเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2065 เพื่อเป็นการผลักดันการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการบรรจุในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะนำมาใช้ในปี พ.ศ.2565-2570 โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงขึ้น และคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นจากระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน พ.ศ.2573-2595

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หลายภูมิภาคต้องเผชิญกับความผันผวนของภูมิอากาศในระดับความรุนแรงที่มากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น เช่น คลื่นความร้อน ภาวะฝนทิ้งช่วง ภัยแล้งและพายุ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ โดยจะสร้างความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องวางนโยบายการแก้ปัญหาดังกล่าว และจำเป็นต้องดำเนินการตามแผนให้บรรลุเป้าหมายให้ได้

การผลักดันนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะต้องไม่จำกัดความร่วมมือเฉพาะในภาคเอกชนในฐานะผู้ผลิตสินค้าและผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยต้องมีความร่วมมือไปในระดับประชาชนที่จะเป็นกลไกสำคัญในหลายส่วน เช่น การเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะสร้างกระบวนการนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด และภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมผลักดันการแก้ปัญหาโลกร้อนต้องทำเพราะเป็นแฟชั่น